หากพูดถึงการชำระเงินในปัจจุบันของประเทศไทย คงมีคนจำนวนไม่มากที่จะไม่รู้จักพร้อมเพย์ ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกการชำระเงินที่แพร่หลายของคนไทยไปแล้ว เนื่องจากความสะดวก รวดเร็ว และปราศจากค่าธรรมเนียม แต่รู้หรือไม่ว่าพร้อมเพย์ยังถูกยกเป็นกรณีศึกษาให้กับประเทศอื่นโดยองค์กรระดับโลกอย่างเช่น World Economic Forum ที่กล่าวถึงพร้อมเพย์ในฐานะผู้นำโครงสร้างพื้นฐานด้านฟินเทคในการขับเคลื่อนการชำระเงินแบบไร้พรมแดน ให้สามารถประหยัดต้นทุนและมีความรวดเร็วขึ้น
รายงานจาก World Economic Forum เผยว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลของ 6 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีมูลค่ารวมกันกว่า 806,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และมีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นอีกไปสู่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025
ปริวรรต กนิษฐะเสน รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการชำระเงินและฟินเทค ธนาคารแห่งประเทศไทย เดินทางไปที่งาน Digital Economy Summit 2024 ณ ฮ่องกง ที่ร่วมจัดขึ้นโดย Cyberport องค์กรผู้บ่มเพาะบริษัทเทคสตาร์ทอัพของฮ่องกง โดยงานมาภายใต้ธีม ‘Forging a Sustainable Future’ ระหว่างวันที่ 12-13 เมษายน 2567 ได้กล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทยที่จะใช้พร้อมเพย์เป็นตัวเชื่อมต่อการชำระเงินแบบไร้เงินสด ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติสามารถเข้าใช้งานได้
อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้รูปแบบการทำธุรกรรมออนไลน์แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า คนไทยมียอดการทำธุรกรรมออนไลน์ (ผ่านพร้อมเพย์) บ่อยที่สุดในโลก ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 538 ครั้งต่อคนต่อปี โดยในแต่ละวันจะมียอดจำนวนครั้งของการทำธุรกรรมที่มากถึง 54 ล้านครั้งต่อวันทั่วประเทศ ทำให้ส่วนแบ่งของการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดขยับขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของการทำธุรกรรมในประเทศ จากที่เคยอยู่ในระดับ 6% ในปี 2019 ก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด
นอกจากนี้ การใช้งานของอีวอลเล็ตในอาเซียนถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีการใช้งานเติบโตมากที่สุด โดยการจัดอันดับของ World Economic Forum ณ ปี 2022 พบว่า 10 ประเทศแรกที่มีอัตราการใช้อีวอลเล็ตสูงสุดประกอบไปด้วยประเทศในอาเซียนแล้ว 5 ประเทศ ซึ่งไทยเป็นที่ที่ประชาชนเข้าถึงอีวอลเล็ตมากที่สุดในโลกที่ 92% เฉือนชนะเวียดนามที่ 91% ในอันดับสอง
ในฐานะความร่วมมือรายแรกของโลกสำหรับการใช้จ่ายข้ามพรมแดนระหว่างไทย (พร้อมเพย์) และสิงคโปร์ (PayNow) ที่เปิดตัวในปี 2021 สิ่งที่อุตสาหกรรมและผู้บริโภคได้จากการจับมือครั้งนั้นคือความสามารถในการส่งมูลค่าระหว่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า โดยในช่วงก่อนหน้านั้นผู้ส่งเงินจะต้องเสียค่าธรรมเนียมมากถึง 10% ของจำนวนเงิน แต่พร้อมเพย์และ PayNow เข้ามาลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้เหลือประมาณ 150 บาทต่อธุรกรรม และตอนนี้พร้อมเพย์ได้เชื่อมต่อระบบชำระเงินแล้วกับ 8 ประเทศในเอเชีย
ทั้งนี้ เทรนด์การเคลื่อนตัวไปสู่สังคมไร้เงินสดก็ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้แต่กับประเทศญี่ปุ่นเองที่หลายคนรู้จักเพราะคำว่า ‘Cash is King’ เนื่องจากเงินสดเป็นเครื่องมือการใช้จ่ายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เมื่อยอดการใช้จ่ายไร้เงินสดที่เคยอยู่ราว 20% ณ ปี 2019 พุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจนมาอยู่ที่ 40% ตามข้อมูลที่รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานในปีนี้
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลก็นำมาซึ่งความเสี่ยงเช่นเดียวกันในสายตาของปริวรรตที่กล่าวว่า “แต่ละปีจะมีกรณีที่ผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อย (กว่า 25%) ถูกโจรกรรมข้อมูลหรือเป็นเหยื่อที่ถูกมิจฉาชีพแอบอ้างให้โอนเงิน โดยเฉพาะเมื่อการโอนเงินปรับไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล” ซึ่งเป็นประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเป็นความท้าทายและเป็นกังวล แต่ปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้กลโกงเหล่านี้คือ การให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยในโลกยุคดิจิทัล
อ้างอิง: