วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. เริ่มศึกษาและพัฒนา ทดสอบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ตั้งแต่ปี 2556 โดยเริ่มต้นที่ชื่อโครงการอินทนนท์ผ่านการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินและองค์กรเอกชน
ทั้งนี้ปี 2564 ธปท. จึงขยายสู่การนำร่องโครงการสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้กับรายย่อย หรือ Retail CBDC เพื่อใช้งานกับประชาชนโดยทั่วไป
ข้อดีของ Retail CBDC คือไม่มีความเสี่ยง เพราะเป็นการเปลี่ยนเงินในระบบของธนาคารกลางปัจจุบันเป็นรูปแบบรายย่อย สะดวกต่อการพกพาและปลอดภัย รวมถึงเปิดกว้างในการรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ขณะเดียวกันจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเงินบาทได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการใช้ CBDC คือ
– หากสกุลเงินดิจิทัลนี้มีลักษณะเดียวกับ ‘ธนบัตร’ ที่ทำธุรกรรมโดยไม่ผ่านตัวกลาง อาจส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร
– รูปแบบการดูแลเสถียรภาพทางการเงินจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันที่ ธปท. จะส่งผ่านนโยบายผ่านธนาคาร แต่หากมี CBDC อาจลดประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางการเงิน
– CBDC ต้องไม่เป็นช่องทางการใช้ทำสิ่งผิดกฎหมาย
โดยรูปแบบของการทำระบบ Retail CBDC จะแบ่งเป็น Two-Tier คือ ธนาคารกลางออก CBDC Digital Back Note ให้สถาบันการเงิน (สถาบันการเงินอาจเป็นตัวกลางตัวอื่นได้) และส่งผ่านสู่ภาคธุรกิจและประชาชน
ดังนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการนี้ถึง 15 มิถุนายน 2564 ในเดือนกรกฎาคม จะมีการพัฒนาในระดับ Pilot และไตรมาส 2/65 จะเริ่มทดสอบในวงจำกัด
“การทำ CBDC มีกระทบเยอะมาก ไม่ใช่แค่ระบบการเงิน แต่เป็นพวกเราทุกคนทั้ง พฤติกรรมการใช้จ่าย ฯลฯ ซึ่งเวลาเราเดิน เราจะไม่เดินคนเดียว เราต้องเดินไปด้วยกัน ผ่านการเตรียมความพร้อมทั้งภาครัฐและเอกชนไปด้วยกัน”
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ ธปท. คาดว่า Retail CBDC จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเงินสด อาจมีการจำกัดปริมาณการถือครองหรือการไถ่ถอน เพื่อป้องกันการไถ่ถอนเงินอย่างรวดเร็ว เช่น ยามวิกฤตจนกระทบต่อเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงิน ที่สำคัญคือผู้ใช้ CBDC ไม่ควรมีต้นทุนค่าธรรมเนียม และทุกภาคส่วนต้องเข้าถึงระบบและต่อยอดได้
ทั้งนี้การพัฒนา Retail CBDC จะรวมจุดเด่นของเทคโนโลยี ทั้งแบบการรวมศูนย์ (Centralized) และการกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่ช่วยให้ประมวลผลได้รวดเร็ว มีความเสถียรในระบบ และความปลอดภัยในระบบ
พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม
อ้างอิง: