เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Bangkok FinTech Fair 2021 หัวข้อ ‘A New Decade of Opportunities’ โดยระบุว่า ขณะนี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในภาคการเงินไทยขึ้นอย่างน้อย 2 ด้าน เรื่องแรกคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางการเงินอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น ด้านบริการชำระเงิน โครงสร้างพื้นฐาน PromptPay ทำให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมฝาก ถอน โอนเงิน หรือชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว ทุกที่ ทุกเวลา
โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน PromptPay แล้วมากกว่า 60 ล้านหมายเลข และมีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Blockchain มาใช้ในการออกหนังสือค้ำประกันให้กับองค์กรต่างๆ ช่วยลดเวลาในการออกหนังสือค้ำประกันจากเดิม 3-5 วัน ปัจจุบันเหลือเพียง 10 นาที ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับธุรกิจและภาครัฐได้มาก
เรื่องที่ 2 คือ การเพิ่มขึ้นของบทบาทของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบที่เป็น Non-Bank เดี่ยว หรือ Non-Bank ร่วมมือกับธนาคาร ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย และมีส่วนสำคัญในการเข้ามาเติมเต็มให้กับกลุ่มประชาชนหรือ SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินบางประเภท โดยเฉพาะเรื่องของสินเชื่อ
ตัวอย่างเช่น การทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดข้อมูลทางเลือก หรือที่เรียกกันว่า Alternative Data ที่ช่วยให้ประชาชนที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีข้อมูลกับสถาบันการเงิน สามารถใช้ข้อมูลพฤติกรรมในการขอสินเชื่อและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ ธปท. ได้อนุญาตให้มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับดี โดยปัจจุบันการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนี้ช่วยให้ประชาชนกว่า 2 แสนรายเข้าถึงสินเชื่อกว่า 2 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นใหม่ๆ จากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่พยายามเข้ามาปิดช่องว่างในการให้บริการทางการเงินหรือสนับสนุนการทำธุรกิจให้กับกลุ่ม เช่น กลุ่ม FinTech Startup ที่เข้ามาให้บริการในส่วนที่ยังเป็นช่องว่างของการให้บริการโดยกลุ่มธนาคาร อย่างผู้ให้บริการ Peer-to-Peer Lending Platform ที่เชื่อมโยงผู้กู้กับผู้ให้กู้โดยตรง หรือ BigTech Platform ที่มีการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ให้บริการซื้อขายสินค้า ส่งของ ลงทุน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงิน และล่าสุดมีการให้บริการในลักษณะเป็น Decentralized Finance หรือ DeFi ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินทุกอย่างด้วย Smart Contract ซึ่งเป็นการตัดบทบาทของตัวกลางออกไปแม้ปัจจุบันจะยังมีจำนวนไม่มาก แต่แนวโน้มเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้
เศรษฐพุฒิระบุว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ ธปท. ต้องปรับตัวโดยการเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำกับดูแลและรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินที่จะคำนึงถึงต้นทุนจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายขนาดและประเภทมากขึ้น
ในเรื่องเสถียรภาพนั้นจะให้น้ำหนักของเรื่อง Resiliency มากขึ้น คือความสามารถในการรับมือกับผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงและแรงกดดันต่างๆ รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวหลังจากถูกแรงกระทบ เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ธปท. จะดำเนินการใน 3 แนวทางสำหรับสร้างภูมิทัศน์หรือ Landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป หรือที่เรียกกันภายในว่า 3 Open
แนวทางที่ 1 หรือ Open แรก คือเรื่องของ Open, Shared and Interoperable Infrastructure ได้แก่ การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม โดยต้องเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่สามารถเข้ามาต่อยอดบริการทางการเงินได้และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน ประเด็นนี้เป็นเรื่อง Open Infrastructure นอกจากนี้ต้องมีการ Share Infrastructure เพื่อลดต้นทุน และทำให้ Infrastructure ที่สร้างขึ้นมา Interoperable หรือสามารถเชื่อมโยงกันได้ ตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน หรือที่เรียกว่า ‘Smart Financial and Payment Infrastructure for Business’ ที่จะเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจ การรับส่งใบแจ้งหนี้ การชำระเงินและการชำระภาษี พร้อมใบเสร็จรับเงิน ให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการตรวจสอบข้อมูล การจ่ายและรับเงินได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ลดความผิดพลาดและโอกาสเกิดการทุจริต รวมทั้งนำไปต่อยอดได้ เช่น ใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อขอสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจและ SMEs
ขณะเดียวกัน การพัฒนาเงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC ก็จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบการเงินของเราในอนาคต เพิ่มทางเลือกสำหรับประชาชนและธุรกิจให้สามารถเข้าถึงเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยได้ ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการหลากหลายประเภทนำไปพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติมได้ และยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ ธปท. ร่วมผลักดัน เช่น Digital ID ภายใต้ NDID Platform เพื่อใช้ยืนยันตัวตนสำหรับธุรกรรมในภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และภาครัฐ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่ามีลูกค้าลงทะเบียนใช้งาน NDID แล้วเกือบ 2 ล้านราย ในอนาคต ธปท. จะร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในการผลักดันให้มีการใช้งาน Digital ID อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนา Digital ID สำหรับนิติบุคคลในระยะต่อไป
แนวทางที่ 2 หรือ Open ที่ 2 คือเรื่องของ Open Environment ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเท่าเทียมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมจากผู้เล่นทุกประเภท โดยจะปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อทั้งการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิมและการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ กำกับดูแลเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ หรือ Risk Proportionality รวมถึงการปรับปรุง Regulatory Sandbox ของ ธปท. ให้ยืดหยุ่น เปิดรับนวัตกรรมของผู้เล่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมสามารถเข้าทดสอบได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระที่ผู้ประกอบการต้องติดต่อกับผู้กำกับดูแลหลายราย
แนวทางที่ 3 หรือ Open ที่ 3 คือเรื่อง Open Data คือการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นทิศทางที่ทุกประเทศกำลังเดินหน้าไป สำหรับในภาคการเงินไทย การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำถูกต้องในการวางนโยบาย การบริหารความเสี่ยง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้การเปิดให้เข้าถึงข้อมูลสะดวกขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยี APIs ที่มีมาตรฐานร่วมกัน จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมของการมีข้อมูล และเพิ่มประโยชน์จากการใช้ Digital Footprint ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันที่บริการอย่างแท้จริง โดยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ ซึ่งในการเชื่อมโยงข้อมูลทางการเงินเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรฐานและแนวทางในการใช้งานร่วมกัน
โดยปัจจุบัน ธปท. ได้ร่วมกับภาคธนาคารกำลังดำเนินการเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล Bank Statement เพื่อให้ลูกค้านำข้อมูลการเงินของตนเองไปขอใช้บริการอื่นๆ เช่น การขอสินเชื่อหรือการยืนยันฐานะกับหน่วยงานอื่นได้สะดวกมากขึ้น และจะขยายไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลอื่นๆ ในระยะต่อไป โดย ธปท. จะร่วมกับผู้ประกอบการภาคการเงินกำหนดมาตรฐานและทิศทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการเงินเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรข้อมูลร่วมกันอย่างชัดเจน