×

‘แบงก์ชาติ’ มั่นใจปีนี้เริ่มมีบริษัท P2P Lending ออกจากแซนด์บ็อกซ์ทำธุรกิจได้จริง

31.03.2021
  • LOADING...
แบงก์ชาติ

เมื่อปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ผู้ต้องการทำธุรกิจ P2P Lending Platform หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล ซึ่งก็คือการเปิดแพลตฟอร์มจับคู่ให้กับผู้ที่ให้เงินกู้และผู้กู้ โดยบริษัทสามารถสมัครเข้า Regulatory Sandbox เพื่อทดสอบในวงจำกัด ก่อน ธปท. อนุญาตให้ทำธุรกิจจริง 

 

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า P2P Lending หรือ Peer to Peer Lending น่าจะช่วยให้คนเข้าถึงสินเชื่อในวงกว้างได้มากขึ้น เพราะเป็นสินเชื่อขนาดเล็กที่มีหรือไม่มีหลักประกัน โดยคาดว่าจะเข้าถึงระดับประชาชนรายย่อย หรือเป็นภาคธุรกิจที่ให้สินเชื่อแก่พนักงานของบริษัทตนเอง รวมถึง SMEs ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อต่อยอดธุรกิจ เช่น อาจใช้หลักทรัพย์เป็นหุ้น ฯลฯ 

 

ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม P2P Lending ในอีกด้านจะจับคู่ผู้ลงทุนหรือผู้ที่ต้องการปล่อยกู้ ตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ขณะนี้มีหลายบริษัทที่อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ของ ธปท. แล้ว ซึ่งเมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 ปีที่ผ่านมา ก็มีการปรับปรุงรูปแบบ วิธีการ หรือรายละเอียดให้เข้ากับสถานการณ์ และยังต้องใช้เวลาในการทดสอบกันต่อ แต่คาดว่าปี 2564 จะมีบางรายที่สามารถออกจากแซนด์บ็อกซ์ (และเปิดให้บริการได้)

 

อย่างไรก็ตาม ธปท. มีการพูดคุยกับบริษัทอีก 4-5 รายที่ต้องการเข้าทดสอบบริการในแซนด์บ็อกซ์ 

 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัท P2P Lending Platform ที่อยู่ในแซนด์บ็อกซ์แล้ว 3 ราย และอยู่ระหว่างการทดสอบทั้งหมด ได้แก่ 

  • บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด 
  • บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด​ 
  • บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด

 

ปณิดา ถกลวิโรจน์ ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ P2P Lending Platform ทาง ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์ให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของแพลตฟอร์มต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถ ไม่เคยมีการทำงานที่แสดงถึงการขาดมาตรฐานวิชาชีพ และไม่มีปัญหาด้านสถานะทางการเงิน กล่าวคือ ไม่เป็น NPL

 

นอกจากนี้แพลตฟอร์มต้องมีระบบงานที่มั่นคง น่าเชื่อถือ สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรฐานในการให้บริการโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงปลอดภัย มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการและข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) มีการเปิดเผยข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วน และมีคำเตือนให้ผู้ใช้บริการตระหนักถึงความเสี่ยงของตน 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising