×

ธปท. เปิดรับฟังความเห็นเพื่อยกระดับภาคการเงินไทย เล็งอนุญาตให้เปิด Virtual Bank ได้ พร้อมยกเลิกข้อจำกัดแบงก์ลงทุนในฟินเทค

01.02.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในภาคการเงินโลกและไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. ด้านดิจิทัล เห็นได้จากจำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตและโมบายล์แบงกิ้งในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 36 ล้านบัญชีเป็น 121 ล้านบัญชี และปริมาณการโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตและโมบายล์แบงกิ้งที่เพิ่มขึ้นจาก 800 ล้านรายการเป็น 1.44 หมื่นล้านรายการ ในขณะที่สาขาธนาคารทั่วประเทศมีจำนวนลดลง 1,400 สาขา

 

  1. ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เห็นได้จากมูลค่า AUM ของ ESG Funds ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยกว่า 50% ของ Global AUM อยู่ในกองทุนที่มุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050 โดยกระแสสิ่งแวดล้อมความยั่งยืนที่เกิดขึ้นทำให้ 60% ของสินค้าไทยที่ส่งออกมีความเสี่ยงจะถูกมาตรการกีดกันด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism ของกลุ่ม EU

 

  1. การเพิ่มขึ้นของผู้เล่นใหม่ๆ ในภาคการเงิน เห็นได้จากการเติบโตสินเชื่อรายย่อยของกลุ่ม Non-Bank ในไทยที่สูงถึง 40% เมื่อเทียบกับ 24% ของกลุ่มธนาคารดั้งเดิม ขณะที่สินเชื่อทั่วโลกที่ปล่อยโดยกลุ่มฟินเทคและบิ๊กเทคเติบโตขึ้นถึง 500% และ 4,000% ตามลำดับ

 

เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ธปท. ได้จัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Consultation Paper) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารหลักการและทิศทางที่ ธปท. อยากเห็นบนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงเร็ว 

 

โดยภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว ธปท. มีการกำหนดทิศทางสำคัญเอาไว้ 3 ด้าน ดังนี้ 

 

  1. การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open ได้แก่ 

 

1.1 เปิดให้แข่งขัน (Open Competition) โดยเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (Virtual Bank) และขยายขอบเขตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เล่นเดิม 

 

1.2 เปิดให้ผู้เล่นต่างๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Open Infrastructure) ได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น เช่น ระบบการชำระเงิน การใช้สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารกลาง (Retail CBDC) และกลไกการค้ำประกันความเสี่ยงที่รองรับความต้องการเงินทุนหลากหลายรูปแบบ

 

1.3 เปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) โดยจะผลักดันให้มีกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการแต่ละแห่งไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกมากขึ้นเป็นลำดับภายใต้นโยบาย Open Banking และการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของภาคการเงินกับแหล่งอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และพัฒนาบริการทางการเงิน  

 

  1. การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืนโดย

 

2.1 ให้ภาคการเงินประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง และสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง 

 

2.2 ช่วยให้ภาคครัวเรือนสามารถอยู่รอดและปรับตัวในโลกใหม่ได้ ด้วยการยกระดับการส่งเสริมทักษะด้านการเงินดิจิทัล ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สิน เช่น กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว และผลักดันกลไกแก้หนี้อย่างครบวงจรสำหรับคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว 

 

  1. การปรับเปลี่ยนตัวของ ธปท. เพิ่มความยืดหยุ่นและเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ โดยคำนึงถึงสมดุลระหว่างบทบาทของ ธปท. ในการส่งเสริมนวัตกรรมและการกำกับดูแลความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินผ่าน 

 

3.1 การกำกับดูแลผู้ให้บริการตามลักษณะความเสี่ยงและความซับซ้อนของบริการทางการเงิน 

 

3.2 การทบทวนเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรคและสร้างภาระต้นทุนที่เกินจำเป็นแก่ผู้ให้บริการ

 

3.3 การกำกับดูแลผู้ให้บริการให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเงิน และการกำกับดูแล Non-Bank ที่มีบทบาทมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ทิศทางและแนวนโยบายตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม ธปท. จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชน ตั้งแต่วันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านทางเว็บไซต์ www.bot.or.th/landscape หรืออีเมล [email protected] โดย ธปท. จะสรุปประเด็นความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยต่อไป

 

รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ใน Consultation Paper ของ ธปท. จะมีการสอบถามความเห็นเรื่องการอนุญาตให้เปิด Virtual Bank หรือธนาคารที่ทำธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขารวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน ธปท. ยังมีแผนทบทวนกฎระเบียบบางอย่างที่อาจไม่ตอบโจทย์ในโลกปัจจุบันแล้วให้ทันสมัยขึ้น เช่น กฎเรื่องข้อจำกัดการลงทุนในฟินเทคของธนาคารพาณิชย์

 

“เรื่อง Virtual Bank เรามองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในแง่บริการ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าธนาคารดั้งเดิมถึง 3 เท่า แต่เราก็ต้องดูแลให้ธนาคารดั้งเดิมแข่งขันได้ด้วย ถ้าธนาคารในปัจจุบันสนใจเปิดเอง ธปท. อาจผ่อนเกณฑ์เรื่อง One Present ให้ โดยเราจะรับฟังความเห็นเรื่องนี้จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจะไปออกแบบร่างหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จในครึ่งปีแรก และจะมีการรับฟังความเห็นอีกครั้งก่อนออกเป็นหลักเกณฑ์จริง” รุ่งกล่าว

 

สำหรับเรื่องการปรับเกณฑ์ข้อจำกัดการลงทุนในฟินเทคของธนาคารพาณิชย์ รุ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลงทุนในฟินเทคได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน เพราะเรากังวลว่าถ้าขาดทุนจะส่งผลกระทบ แต่จากการติดตามดูของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา เห็นว่าการลงทุนในฟินเทคเป็นประโยชน์กับธนาคารพาณิชย์ทั้งในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และ KYC ลูกค้า ธปท. จึงมีแนวคิดจะยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว

 

“ภายใต้แนวนโยบายที่ออกมา ธปท. จะยังยึดหลักการเรื่องรักษาสมดุลระหว่างส่งเสริมนวัตกรรมกับดูแลความเสี่ยง โดยในการดูแลความเสี่ยงจะใช้หลักเสี่ยงมาก กำกับมาก เสี่ยงน้อยกำกับน้อย และถ้ายังไม่รู้ความเสี่ยงก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันเป็นราวกั้นเอาไว้ก่อน เช่น เรื่องเงินฝากเรายังคุมเข้ม เรื่องการลงทุนในฟินเทคเราผ่อนคลายให้ ส่วนเรื่องใหม่ที่ยังไม่รู้ความเสี่ยงเราก็ยังต้องมีมาตรการป้องกันไว้ก่อน” รุ่งกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X