×

ธปท. คาด โลกชะลอกระทบไทยจำกัด ย้ำนโยบายดอกเบี้ยจะปรับตามพัฒนาการเศรษฐกิจ จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงกดดันเงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมาย

19.12.2022
  • LOADING...

ธปท. คาด เศรษฐกิจโลกชะลอกระทบไทยจำกัด ย้ำนโยบายการเงินจะปรับเปลี่ยนตามพัฒนาการเศรษฐกิจ จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงกดดันเงินเฟ้อไม่กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความเห็นภายในงาน Analyst Meeting ครั้งที่ 4/2565 ในช่วงเช้าวันนี้ (19 ธันวาคม) ว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีหน้าคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นในปีนี้จากการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อโดยพร้อมเพรียงกันของธนาคารกลางหลายแห่ง ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อในหลายประเทศจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะค้างอยู่ในระดับสูงต่อไป ทำให้การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอาจยังต้องดำเนินต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ในกรณีฐานของ ธปท. ยังคงมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยแต่จะชะลอตัวลง ส่วน GDP สหรัฐฯ จะขยายตัวได้ลดลงจาก 1.7% ในปีนี้ เหลือ 0.4-0.5% ขณะที่ยุโรปจะโดนแรงกดดันจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว

 

เมื่อถามว่าแนวนโยบายการเงินไทยจะตอบสนองอย่างไรต่อแนวโน้มดังกล่าว ปิติระบุว่า ปัจจุบันไทยมีการทำนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับบริบทของตัวเองซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยหากมองไปในระยะครึ่งปีแรกของปี 2566 คาดว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย และเป็นปัจจัยที่ช่วยลดผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจโลก

 

“เรามองตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าไว้ที่ 22 ล้านคน โดยหากประเมินจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 2 ใน 3 มาจากเอเชียและครึ่งหนึ่งมาจากอาเซียน ประกอบกับทิศทางในปีหน้าที่เศรษฐกิจเอเชียและอาเซียนจะขยายตัวได้สูงกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ทำให้ความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจโลกของไทยน่าจะมีจำกัด โดยยังมองว่า GDP ไทยในปีหน้าจะขยายตัวที่ 3.7%” ปิติกล่าว

 

ปิติกล่าวอีกว่า ธปท. ไม่ได้กำหนดจุดสูงสุดของดอกเบี้ย (Terminal Rate) เอาไว้ แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายจะพิจารณาจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจะดูว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพหรือยัง และเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาหรือไม่ หากทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้คือ Smooth Takeoff นโยบายดอกเบี้ยก็จะถึงจุดที่ไม่จำเป็นต้องกระชากไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

 

“เรามองว่าเงินเฟ้อไทยจะกลับสู่กรอบเป้าหมายในปีหน้า แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่องสำคัญที่อาจทำให้เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าระดับ 3% คือ การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่สะสมมาจากในปีนี้หรือการปรับขึ้นราคาสินค้ามีมากกว่าที่คาด และการอุดหนุนต้นทุนด้านพลังงานของภาครัฐที่ยังต้องรอความชัดเจน” ปิติกล่าว

 

เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายของ ธปท. ไปสู่ธนาคารพาณิชย์ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ปิติระบุว่า การส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยมีความใกล้เคียงกับคาดการณ์ของ ธปท. และสอดคล้องกับในอดีต คือธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามประมาณครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ยนโยบาย

 

ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าการสิ้นสุดลงของมาตรการลด FIDF Fee และการเดินหน้าทำ Policy Normalization ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยต่อของ ธปท. จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงินของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ต้องส่งผ่านต่อไปยังลูกหนี้ ปิติกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานของ ธปท. อยู่แล้ว ทำให้ที่ผ่านมาการปรับดอกเบี้ยของไทยจึงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X