×

ธปท. ห่วง ‘ล็อกดาวน์’ คุมการระบาดไม่อยู่ กระทบ GDP ปีนี้เพิ่มอีก 2% กังวล ‘วัคซีน’ ล่าช้า สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ทันปีหน้า

22.07.2021
  • LOADING...
ธปท.

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้จัดทำแบบจำลองแนวโน้มการระบาดของไวรัสโควิดระลอกล่าสุดและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยพบว่า ในกรณีเลวร้าย (Lower Case) คือ มาตรการล็อกดาวน์ลดการแพร่ระบาดได้ไม่มากนักหรือประเทศมีอัตราการแพร่เชื้อลดลงเพียง 20% ทำให้การระบาดยืดเยื้อไปตลอดปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายราว 2% ของจีดีพี

 

ส่วนในกรณีที่มาตรการล็อกดาวน์สามารถลดการระบาดลงได้ 40% จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงรวดเร็วทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมได้ในเดือนสิงหาคม (Upper Case) ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะลดลงมาอยู่ที่ 0.8% ของจีดีพี

 

“ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าคือประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์และความเร็วในการกระจายวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สำหรับการคาดหวังปัจจัยเรื่องวัคซีนในปีนี้อาจจะไม่ทันแล้ว ในระยะสั้นเราคงต้องจับตาดูเรื่องประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการทางการคลังที่จะเข้ามาช่วยพยุงการบริโภคภายในประเทศ ซึ่ง ธปท. จะนำเสนอข้อมูลเข้าที่ประชุม กนง. เพื่อปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์” ชญาวดีกล่าว

 

สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจในปี 2565 ธปท. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบจากการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า โดยในกรณีเลวร้ายคือการจัดส่งวัคซีน AstraZeneca และ mRNA ล่าช้า ภูมิคุ้มกันหมู่จะยังไม่เกิดในไทยภายในปี 2565 เช่นเดียวกับการเปิดบริการการบินเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวในประเทศที่จะกลับไปสู่ระดับ Pre-Covid ช้ากว่าปี 2565

 

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าในกรณี Upper Case ซึ่งการจัดส่งวัคซีน AstraZeneca ล่าช้า แต่ mRNA เป็นไปตามคาด การเปิดบริการการบินเชิงพาณิชย์จะกลับมาในช่วงไตรมาส 3 ของปีหน้า ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศที่จะกลับไปสู่ระดับ Pre-Covid ในไตรมาส 4 ของปีหน้า

 

โดยปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 ยังประกอบด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดในระยะยาว นโยบายการเปิดประเทศของต่างชาติ นโยบายการคลังและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ฐานะการเงินและสภาพคล่องของธุรกิจและปัญหา Supply Disruption จากการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์

 

ชญาวดีกล่าวอีกว่า ในภาวะที่การแพร่ระบาดมีแนวโน้มจะยืดเยื้อและกระทบเป็นวงกว้างกว่าระลอกก่อนๆ เช่นนี้ ธปท. มีข้อเสนอเชิงนโยบายว่า ภาครัฐจำเป็นจะต้องเตรียมเครื่องมือและมาตรการให้เพียงพอและยาวนาน ซึ่งต้องทำเต็มที่ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เนื่องจากมาตรการแต่ละด้านมีข้อจำกัด รวมถึงต้องคำนึงถึงการใช้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ เตรียมช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising