×

ฟันธง กนง. คงดอกเบี้ย กูรูแนะจับตามาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่ม ย้ำที่ออกมายังไม่เพียงพอ

03.08.2021
  • LOADING...
Bank of Thailand

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญมรสุมที่หนักขึ้นหลังการระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่เกิดจากสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจขยายช่วงเวลาล็อกดาวน์อีกอย่างน้อย 14 วัน และเพิ่มจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด ในขณะที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมอาจอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนล้านบาท

 

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ต่างจับตาดูว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันพรุ่งนี้ (4 สิงหาคม) จะมีมาตรการใดๆ หรือมีการส่งสัญญาณใดๆ ออกมาเพิ่มเติมจากทาง กนง. หรือไม่

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เครื่องมือการเงินของ กนง. ในเวลานี้มีจำกัดมากขึ้น และยังมองไม่ออกว่า ธปท. หรือ กนง. จะใช้เครื่องมือใดเข้ามาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งในการประชุม กนง. ครั้งนี้ ยังเชื่อว่า กนง. จะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม แม้โดยส่วนตัวคิดว่ายังพอมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมได้ก็ตาม

 

“รอบที่แล้ว ธปท. ตอบสนองในการลดดอกเบี้ยและออกมาตรการดูแลความผันผวนของตลาดได้ค่อนข้างรวดเร็ว จนทำให้ตลาดที่กำลังสูญเสียความเชื่อมั่นในขณะนั้นเรียกคืนกลับมาได้เร็ว แต่รอบนี้ยังมองไม่ออกว่า ธปท. เหลือเครื่องมืออะไรบ้างที่พอจะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ”

 

อมรเทพกล่าวว่า โดยความเห็นส่วนตัวนอกจากเครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายที่ยังพอมีช่องว่างให้ลดลงได้อีก ก็จะมีเครื่องมือในส่วนของค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งปัจจุบันยังเรียกเก็บอยู่ที่ประมาณ 0.23% หรือไม่ก็นโยบายเรื่องการพักชำระหนี้ที่ยังพอจะนำมาใช้ประคับประคองเศรษฐกิจได้ในภาวะเช่นนี้ แต่ในเรื่องของการพักหนี้ควรต้องดูรวมไปถึงนอนแบงก์ด้วย

 

ส่วนมาตรการที่ ธปท. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้ วงเงินที่ออกมายังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่ง ธปท. ชี้แจงว่า การแก้ปัญหารอบนี้ต้องทำอย่างตรงจุดผ่านโครงการดังกล่าว แต่ดูเหมือนตอนนี้จะมีปัญหาคอขวดที่เม็ดเงินจากโครงการดังกล่าวยังออกมาได้ไม่เต็มที่นัก

 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ยอดอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูมีจำนวน 8.27 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับการช่วยเหลือ 2.72 หมื่นราย และมีวงเงินที่ได้รับการช่วยเหลือเฉลี่ยต่อราย 3 ล้านบาท ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนแล้วราว 1 พันล้านบาท จากจำนวนผู้ที่ขอรับการช่วยเหลือ 18 ราย

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายยังมีช่องว่างให้ลดลงได้อีก แต่เชื่อว่า กนง. จะเลือกเก็บเอาไว้โดยคงอัตราไว้ที่เดิม และใช้วิธีการมุ่งส่งผ่านนโยบายการเงินให้ตรงจุดมากขึ้น เพียงแต่จะใช้วิธีใดเท่านั้น

 

สมประวิณกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญกับโครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้เป็นหลัก แต่โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ซึ่งขณะนั้นเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปจากในช่วงที่ ธปท. ออกโครงการเหล่านี้ค่อนข้างมาก จึงคิดว่า ธปท. ควรต้องมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม หรืออย่างน้อยก็ต้องทำให้สถาบันการเงินกล้าที่จะรับเงินจาก ธปท. มาปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

 

“ถ้าดูยอดสินเชื่อฟื้นฟูเวลานี้ออกไปยังไม่ถึง 1 แสนล้านบาท เทียบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เราได้รับถือว่าน้อยมาก จึงต้องมาช่วยกันคิดว่าจะมีกลไกอะไรที่จะทำให้เกิดการส่งผ่านของเม็ดเงินเหล่านี้ไปยังผู้เดือดร้อนได้ตรงจุดมากขึ้น”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising