แบงก์ชาติเผยอยู่ระหว่างศึกษาการนำเทคโนโลยี NFC มาใช้กับระบบพร้อมเพย์ หวังช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรม หนุนปริมาณการโอนชำระเงินของคนไทยผ่านระบบดิจิทัลโตเพิ่มเป็น 800 ครั้งต่อคนต่อปีตามเป้า
ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้มีการนำเทคโนโลยีการชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่าย หรือ NFC (Near Field Communication) ซึ่งสามารถใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์มือถือเข้ามาอยู่ในระบบพร้อมเพย์ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงินในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น
“NFC จะทำให้การชำระเงินสะดวกขึ้น เพราะผู้ใช้งานไม่ต้องเปิดแอปเพื่อสแกนจ่าย เพียงแค่ใช้มือถือแตะไปที่เครื่องรับชำระ แต่ความสะดวกที่เพิ่มขึ้นก็อาจมาพร้อมกับความเสี่ยง ดังนั้นเราต้องทำให้คนมีความรู้และเข้าใจเทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบที่จะนำมาใช้ เช่น ร้านค้าขนาดเล็กอาจยังไม่จำเป็นในช่วงแรก และคงต้องพูดคุยกับค่ายมือถือที่มีเทคโนโลยีนี้ด้วย” ดารณีกล่าว
ดารณีระบุว่า การนำเทคโนโลยี NFC มาต่อยอดในระบบพร้อมเพย์ถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาระบบชำระเงินดิจิทัลฉบับปี 2565-2567 ของ ธปท. ที่มีเป้าหมายจะขยายการชำระเงินดิจิทัลให้เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า หรือคิดเป็น 800 ครั้งต่อคนต่อปี อย่างไรก็ดี ธปท. ก็มีแผนในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การขยายร้านค้ารับชำระเงินผ่าน QR ที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 8.7 ล้านจุด, การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้ QR ในการชำระเงิน และการพัฒนาการชำระเงินดิจิทัลให้รวดเร็ว สะดวก และปลอดภัยยิ่งขึ้น
“สถิติการชำระเงินดิจิทัลของคนไทยล่าสุดอยู่ที่ 500 ครั้งต่อคนต่อปี เติบโตขึ้นมาจาก 300 กว่าครั้งต่อคนต่อปีในช่วงเริ่มแผน การจะไปให้ถึงเป้าหมายที่ 800 ครั้งต่อคนต่อปี การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลของคนไทยจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 300 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งถือเป็นความท้าทาย” ดารณีกล่าว
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเงินสดที่หมุนเวียนอยู่ในระบบราว 2.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นต้นทุนการผลิต การกระจาย และทำลาย รวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากคนไทยหันมาทำใช้ธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัลกันมากขึ้น ต้นทุนส่วนนี้ก็จะลดลง
ทั้งนี้ ผลสำรวจการใช้จ่ายรายวัน (Daily Payment Survey) ของ ธปท. ที่เก็บข้อมูลจาก 6,000 ตัวอย่างทั่วประเทศแบบปีเว้นปี พบว่าเทรนด์การใช้เงินสดของคนไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2560 ที่สัดส่วนการใช้เงินสดอยู่ที่ 96% ขณะที่ช่องทางดิจิทัลมีเพียง 4% แต่ปัจจุบันสัดส่วนการใช้เงินสดลดลงไปเหลือ 66% ขณะที่ดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาเป็น 34% ซึ่งปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือการฟรีค่าธรรมเนียมต่างๆ และสถานการณ์โควิดที่เป็นตัวเร่ง
“เราอยากเห็นดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักในการทำธุรกรรมของคนไทย ไม่เฉพาะประชาชน แต่รวมถึงภาคธุรกิจและภาครัฐด้วย ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจปัจจุบันก็มีการพัฒนาระบบพร้อมบิซขึ้นมารองรับแล้ว อย่างไรก็ดี แนวทางของเราไม่ใช่คำว่า Cashless แต่เป็น Less Cash ไปเรื่อยๆ เพราะแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้ว เช่น ในสแกนดิเนเวียก็พบว่าเงินสดยังมีความจำเป็นต้องมีอยู่เช่นกัน” ดารณีกล่าว
เทคโนโลยี NFC คืออะไร?
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ระบุว่า NFC เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายระยะสั้น (Short-Range Wireless Technology) ใช้คลื่นความถี่ 13.56 เมกะเฮิรตซ์ บนพื้นฐานมาตรฐาน ISO 14443 (Philips MIFARE and Sony’s FeliCa) ใช้ส่งข้อมูลได้ระยะประมาณ 4-10 เซนติเมตร มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลได้สูงสุด 424 กิโลบิตต่อวินาที และมีความเร็วในการติดต่อเริ่มต้นต่ำกว่า 0.1 วินาที ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงทำให้เทคโนโลยี NFC ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานเพื่อการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะใกล้ๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมากและมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในรูปแบบการใช้งานของ NFC คือ Card Emulation Mode ซึ่งเป็นโหมดที่จะทำให้อุปกรณ์ที่รองรับ NFC อย่างสมาร์ทโฟน ทำงานเสมือนเป็นบัตรที่ผู้ใช้งานแค่แตะกับอุปกรณ์อ่านข้อมูลหรือตัวรับสัญญาณ โดยไม่ต้องสัมผัสกับเครื่องโดยตรง (Contactless) ก็สามารถชำระค่าสินค้าและบริการได้
ข้อควรระวังของ NFC
อย่างไรก็ดี การใช้งานเทคโนโลยี NFC ก็มีข้อควรระวัง เนื่องจากระบบการทำงานของ NFC ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ได้มีการตรวจสอบหรือยืนยันตัวบุคคลที่ซับซ้อนมาก ผู้ใช้งานควรตระหนักอยู่เสมอว่าระบบที่ใช้งานอยู่อาจไม่มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่ดีพอ จึงควรใช้งานด้วยความระมัดระวัง ดังนี้
- ก่อนการใช้งานควรตรวจสอบอุปกรณ์อ่านข้อมูลหรือตัวรับสัญญาณ NFC ว่ามีอุปกรณ์แปลกปลอมติดตั้งอยู่หรือไม่
- ไม่ควรนำสมาร์ทโฟนไปแตะเข้ากับอุปกรณ์อ่านข้อมูลหรือตัวรับสัญญาณที่น่าสงสัย
- เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ควรปิดการเชื่อมต่อ NFC เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูล
- ระมัดระวังในการเก็บข้อมูลสำคัญไว้ในสมาร์ทโฟน
- ควรกำหนดรหัสผ่านสำหรับการใช้งานสมาร์ทโฟน เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลไปใช้ในกรณีที่ทำสมาร์ทโฟนสูญหาย