×

กนง. มองเงินเฟ้อหลุดกรอบ 3% แค่ชั่วคราว ห่วงครัวเรือนรายได้น้อยหนี้พุ่ง หลังรายจ่ายเพิ่มแต่รายรับยังฟื้นช้า

09.02.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยในการแถลงผลการประชุม กนง. ว่าขณะนี้ กนง. ยังคงให้น้ำหนักว่าอัตราเงินเฟ้อไทยที่มีโอกาสหลุดกรอบบนที่ 3% ในช่วงแรกของปีนี้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านราคาพลังงานและอาหารสด ซึ่งการที่เงินเฟ้อขยับเกินกรอบออกไปบ้างในบางครั้งถือเป็นเรื่องปกติ ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อฉุดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น

 

“คณะกรรมการฯ ได้คลี่ดูสินค้ากว่าร้อยรายการในตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งเรายังไม่พบสัญญาณของการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง มีรายการที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อหมู แต่ก็มีหลายรายการที่ราคาปรับลดลง เมื่อเทียบกับในสหรัฐฯ ที่ราคาสินค้าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีปรับเพิ่มขึ้นถึง 35% จะพบว่าของไทยเรายังไม่น่ากังวลขนาดนั้น” ปิติกล่าว

 

ปิติระบุว่า กนง. จะให้ความสำคัญมากกว่ากับแนวโน้มในระยะยาวของเงินเฟ้อ โดยสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการหยั่งรากของเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ หรือ Second Round Effect ที่การปรับขึ้นราคาของสินค้าชนิดหนึ่งนำไปสู่การคาดการณ์ว่าราคาสินค้าอื่นๆ จะเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การขึ้นค่าจ้างและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นเป็นวงจร แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณในลักษณะนี้

 

ปิติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กนง. เคยประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี และจะลดลงมาอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงที่เหลือของปี แต่ปัจจุบันราคาขึ้นมาอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปแล้ว และยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป 

 

ขณะที่ปัญหาเรื่องราคาเนื้อหมูคาดว่าจะต้องใช้เวลา 7-8 เดือน เพื่อเพิ่มอุปทาน แต่มองว่าเรื่องนี้ยังมีน้ำหนักต่อเงินเฟ้อน้อยกว่าน้ำมัน เพราะคนสามารถปรับพฤติกรรมไปบริโภคเนื้ออย่างอื่นแทนได้ หรือในกรณีจำเป็นก็สามารถนำเข้าเนื้อหมูได้

 

ปิติกล่าวว่า อีกหนึ่งเรื่องที่ กนง. กำลังจับตาดูคือปัญหาหนี้สินของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 22,665 บาทต่อเดือน เนื่องจากครัวเรือนเหล่านี้มีการใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหารคิดเป็นสัดส่วนถึง 45% ของรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงหนึ่งเท่าตัว ทำให้ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของคนกลุ่มนี้

 

“นอกจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าแล้ว เรายังพบว่ารายได้ของกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในภาคบริการหรืออาชีพอิสระก็ยังฟื้นตัวได้ช้า และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด เรายังพบด้วยว่ากลุ่มคนที่มีความยากลำบากด้านหนี้สินในตอนนี้คือคนที่อายุยังไม่เยอะและมีรายได้ไม่มาก ซึ่ง ธปท. ก็มีมาตรการที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ เช่น มาตรการรวมหนี้ และเราก็พร้อมจะใช้เครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติมถ้าจำเป็น” ปิติกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising