×

กนง. เล็งปรับเพิ่ม GDP ปีนี้จาก 3.3% ในการประชุมรอบหน้า คาดแบงก์พาณิชย์ทยอยส่งผ่านดอกเบี้ยลดผลกระทบกลุ่มเปราะบาง

10.08.2022
  • LOADING...
ปิติ ดิษยทัต

กนง. เตรียมปรับเพิ่มประมาณการ GDP ไทยในปีนี้เพิ่มจาก 3.3% ในการประชุมรอบหน้าหลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น คาดแบงก์พาณิชย์ทยอยส่งผ่านดอกเบี้ยลดผลกระทบลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังจาก กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป ทำให้ กนง. อาจพิจารณาปรับประมาณการ GDP ไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.3% ในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 28 กันยายน

 

ปิติระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ตามการผ่อนคลายนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศและความกังวลในการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว แต่ผลกระทบต่อแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีจำกัด 

 

“นับจากนี้ไปจนถึงกลางปีหน้าแรงขับเคลื่อนส่วนใหญ่ของไทยจะมาจากปัจจัยภายในทั้งการบริโภคในประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง แต่จากสถิติที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยไม่ค่อยอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจโลก นักท่องเที่ยวในปัจจุบันก็ปรับเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศใกล้ๆ มากขึ้น” ปิติกล่าว

 

สำหรับประเด็นการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ธนาคารพาณิชย์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ ปิติระบุว่า จากการประเมินของ กนง. ผ่านการหารือกับธนาคารพาณิชย์ คาดว่าการส่งผ่านจะไม่เป็นไปแบบ 1 ต่อ 1 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เองก็ยังมีความเป็นห่วงกลุ่มลูกค้าเปราะบาง เช่น กลุ่มธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีรายได้น้อย ทำให้แบงก์เองจะพยายามลดผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยกับกลุ่มนี้โดยไม่ส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดแต่จะทยอยส่งผ่านแทน

 

“หากดูจากสถิติในอดีต ดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ถูกส่งผ่านทั้ง 100% ธนาคารพาณิชย์เองก็มีความกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ สำหรับกลุ่มนอนแบงก์ก็จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมีต้นทุนที่เชื่อมโยงกับแบงก์พาณิชย์ ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินภาครัฐก็มีการพูดคุยในเรื่องการส่งผ่านเช่นกัน” ปิติกล่าว    

 

ปิติยังกล่าวถึงประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าคาดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กนง. ติดตามดูอยู่ อย่างไรก็ดี หากการปรับขึ้นเป็นไปในอัตราที่ กนง. คาดไว้ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มาก เพราะค่าจ้างไม่ได้เป็นต้นทุนที่มีน้ำหนักเยอะสำหรับภาคธุรกิจ

 

สำหรับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปี ปิติกล่าวว่า ในภาพรวม กนง. ยังประเมินว่าการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหากไม่มีเหตุการณ์ที่แปลกหรือช็อกทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising