×

ธปท. ชี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงก่อนโควิด-19 ย้ำตัว ‘ผู้กู้’ คือความเปราะบาง

22.10.2020
  • LOADING...

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ้นปี 2562 ที่อยู่ราว 80% ต่อ GDP พุ่งขึ้นสู่ 83.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือ เช่น คลินิกแก้หนี้

 

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปัญหา ‘หนี้’ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากรายได้ที่ลดลง และการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าตัวเลขการว่างงานในช่วงที่ผ่านมาไม่สูงมาก ส่วนหนึ่งเพราะการย้ายแรงงานจากนอกภาคการเกษตรในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น การท่องเที่ยวสู่ภาคการเกษตรกรรม

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องหนี้ครัวเรือนขึ้นอยู่กับความเปราะบางของ ‘ตัวผู้กู้’ เพราะรอบนี้โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเซกเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่น การท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานค่อนข้างสูง

 

ขณะที่ภาคการส่งออกแม้ว่าจะได้รับผลกระทบและมีส่วนต่อเศรษฐกิจไทยสูงมาก แต่เมื่อดู 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 50% ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สัดส่วนส่งออกมากกว่า 50% แต่การจ้างงานอยู่ที่ 4% เท่านั้น จึงเป็นข้อมูลที่สะท้อนว่าการท่องเที่ยวที่ลดลงส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนไทยมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ

 

ดังนั้นหลังการออกมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การพักชำระหนี้และดอกเบี้ย จึงต้องปรับมามุ่งเน้นที่มาตรการระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะเดียวกันจะไม่เลื่อนผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไปในช่วงเวลาข้างหน้า โดยทาง ธปท. ติดตามและอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อออกมาตรการด้านอื่นๆ

 

หนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของคนไทยในปัจจุบัน มีภาระหนี้สูงจนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่มั่นคง

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising