×

แบงก์ชาติลุยแก้หนี้ครัวเรือน เปิดรับฟังความเห็นร่างเกณฑ์ Responsible Lending ครอบคลุม 8 กระบวนการ ตลอดวงจรหนี้ ถึง 20 ก.ย. นี้

05.09.2023
  • LOADING...
แก้ หนี้ครัวเรือน

ผู้ว่าฯ ธปท. มองท่องเที่ยว-บริโภคในประเทศช่วยประคองเศรษฐกิจไทยฟื้นต่อ แม้ครึ่งปีแรกขยายตัวได้เพียง 2.2% แต่ห่วงเอกชนลงทุนน้อยกระทบการเติบโต GDP ในระยะยาว เริ่มเปิดรับฟังความเห็นร่างเกณฑ์ Responsible Lending แก้หนี้ครัวเรือน

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มุมมองถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ของ ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยระบุถึง GDP ไทยในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.8% ว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ทำให้ภาพรวมในครึ่งปีแรก GDP ไทยจึงขยายตัวได้เพียง 2.2% 

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอยู่ โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังเป็นภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีและต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ถึง 7.8% ซึ่งหากนำไปรวมกับตัวเลขในไตรมาสแรกจะพบว่าการบริโภคภาคเอกชนของไทยเติบโตได้สูงสุดในรอบ 20 ปี

 

“การบริโภคดีเพราะการจ้างงานกลับมาจากช่วงโควิด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีน้ำหนักถึง 12% ของ GDP และคิดเป็นการจ้างงานราว 1 ใน 5 ของทั้งหมด ในปีนี้เรายังเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 29 ล้านคน แต่การใช้จ่ายอาจต่ำกว่าที่เคยคาดไว้เพราะนักท่องเที่ยวจีนลดลง ส่วนการส่งออกในช่วงที่เหลือคงต้องลุ้นว่าจะกลับมาได้ตามคาดหรือไม่” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงอีกหนึ่งเครื่องยนต์ หรือ Growth Engine ของเศรษฐกิจไทยอย่างการลงทุนเอกชน โดยระบุว่า การลงทุนภาคเอกชนถือเป็นเครื่องยนต์ที่มีแรงขับเคลื่อนน้อยของไทยมานานแล้ว โดยหากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคจะพบว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่ระดับการลงทุนเพิ่งจะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 ขณะที่ประเทศอื่นเติบโตกันไปไกลแล้ว

 

“เรื่องนี้มองในแง่หนึ่งก็น่ากังวล เพราะ GDP มาจากจำนวนแรงงานคูณด้วยผลผลิตที่ผลิตได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าแรงงานไทยกำลังหดตัวจากสังคมสูงวัย ฉะนั้นการจะทำให้ GDP โตก็ต้องผลิตให้ได้มากขึ้น ซึ่งผลิตให้มากขึ้นได้ต้องมีการลงทุน แต่ไทยยังขาดในเรื่องนี้”  

 

เศรษฐพุฒิระบุว่า หากดูจากงบดุลของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ จะพบว่าบริษัทส่วนใหญ่มีงบที่แข็งแรง แต่เลือกที่จะเน้นออกไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ เพราะมองว่าอุปสงค์ในประเทศไม่โตเท่าที่ควร โดยมีบางปีที่เม็ดเงินของธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนนอกประเทศสูงกว่า FDI ที่เข้ามาเสียอีก 

 

ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่อัตราประชากรที่อยู่ในเมืองของไทยไม่ค่อยเพิ่ม เศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่แค่ใน กทม. มากเกินไป เมื่ออุปสงค์ใน กทม. เริ่มเต็มแล้วไม่มีเมืองรองที่มีขนาดลดหลั่นกันมารองรับเหมือนในต่างประเทศ ทางออกคือต้องไปพึ่งอุปสงค์จากต่างประเทศ เช่น การส่งออกและท่องเที่ยวแทน

 

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังเปิดเผยด้วยว่า ภายในเดือนนี้ ธปท. จะมีการปรับลดตัวเลขประมาณการ GDP และเงินเฟ้อไทยลงจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินก็จะปรับให้เหมาะสมกับบริบทใหม่ของเศรษฐกิจเช่นกัน โดยจะปรับจากโหมด Smooth Takeoff ซึ่งเอื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องมาเป็น Landing แทน เพราะมองว่าดอกเบี้ยไทยได้เข้าใกล้จุดสมดุลหรือ Neutral Rate แล้ว

 

โดย 3 เรื่องสำคัญที่จะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. คือ

 

  1. ต้องเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับศักยภาพในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันการเติบโตที่ระดับ 3-4% ถือว่าเหมาะสมและเป็นไปตามศักยภาพแล้ว 
  2. ต้องดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้อย่างยั่งยืน
  3. ดอกเบี้ยจะต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างหรือก่อให้เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน 

 

เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบันที่มียอดคงค้างอยู่ราว 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่ ธปท. ตระหนักและให้ความสำคัญ โดยในปี 2567 ธปท. จะเริ่มบังคับใช้มาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่รวมถึงการดูแลปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ไม่สามารถปิดจบได้

 

หลังจากนั้นจะทยอยบังคับใช้มาตรการอื่นๆ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) เพื่อแก้ปัญหาหนี้ต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม โดยได้เริ่มเปิดรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2566

 

สำหรับแนวทางและหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของร่างดังกล่าวจะครอบคลุม 8 กระบวนการ ตลอดวงจรหนี้ ดังนี้

 

ช่วงก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้

 

  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องมีความเหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบการผ่อนชำระที่สอดคล้องกับรายได้ ตลอดจนมีเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรมและชัดเจน
  2. การโฆษณา ต้องมีเนื้อหาถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน เปรียบเทียบได้ และต้องไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร เช่น แสดงเงื่อนไขสำคัญของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ แจ้งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดและต่ำสุด ยอดผ่อนต่องวด และระยะเวลาผ่อนชำระ
  3. การเสนอขาย ต้องไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้า เสนอทางเลือกและให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วน ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพียงพอต่อการตัดสินใจในการใช้บริการ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตนเองได้
  4. การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) ให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกค้า

 

ช่วงระหว่างเป็นหนี้

 

  1. ส่งเสริมวินัยและการจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้ด้วยการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (Nudge) ผ่านการให้ข้อมูลเงื่อนไข คำเตือนสำคัญที่ควรรู้ หรือเครื่องมือที่สนับสนุนวินัยทางการเงิน เช่น แจ้งเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงเวลา แสดงผลของการจ่ายขั้นต่ำต่อเนื่อง

 

  1. ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) โดยเริ่มจากกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (Revolving Personal Loan) ที่มีรายได้น้อย โดยเสนอทางเลือก (Opt-in) ให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี

 

ช่วงลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้

 

  1. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ โดยเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ทั้งในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive) สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพอย่างน้อย 1 ครั้ง และกรณีหนี้ที่มีปัญหา (Troubled Debt Restructuring) สำหรับลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะก่อนดำเนินคดีและการโอนขายหนี้

 

ช่วงจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้

 

  1. การดำเนินคดีและการโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่นต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยหนี้และโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่นด้วย

 

ทั้งนี้ ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมไปจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2566 เพื่อนำไปประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์ โดยคาดว่าหลักเกณฑ์จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เว้นแต่หลักเกณฑ์ เรื่อง การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X