รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยต่ออายุมาตรการลูกหนี้รายย่อยให้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือทางการเงินต่อไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จากเดิมที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยเป็นรูปแบบมาตรการขั้นต่ำ เช่น บัตรเครดิต หากเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือการขยายเวลาชำระหนี้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 12%
สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ให้ลดอัตราผ่อนขั้นต่ำตามความสามารถในการชำระหนี้ หรือเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือขยายเวลาชำระหนี้ดอกเบี้ยไม่เกิน 22%
ด้านสินเชื่อจำนำทะเบียน เป็นมาตรการลดค่างวดอย่างน้อย 30% โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22%
ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อ เปลี่ยนเงื่อนไขเป็นไม่จำกัดวงเงินและพิจารณาเลื่อนชำระค่างวด (เงินต้น-ดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้ ส่วนสินเชื่อบ้าน เปลี่ยนเงื่อนไขเป็นไม่จำกัดวงเงิน สามารถเลื่อนชำระค่างวดหรือการพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ยังขยายให้ลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างเพื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น
ขณะที่ช่องทางช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยสนับสนุนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม และพิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน
ทั้งนี้ ตัวเลขลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือในมาตรการ (ณ เดือนพฤศจิกายน 2563) มีลูกหนี้ราว 11 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้รวม 5.6 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยราว 3.22 ล้านล้านบาท หรือราว 4 ล้านราย
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการหารือกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารที่ออกมาตรการดูแลลูกหนี้แล้ว เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan) ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ 99 งวด ขณะที่ธนาคารของรัฐมีมาตรการเจาะพื้นที่และดูแลตามความรุนแรงของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ระยะเวลามาตรการราว 3-6 เดือน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารของสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถบริหารกระแสเงินสดและบริหารหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์