ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า ธปท. จะมีการหารือและประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตการกึ่งล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัดเป็นเวลา 30 วันของรัฐบาลในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ที่กำลังจะมาถึง
“เราประเมินว่ามาตรการกึ่งล็อกดาวน์จะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ในตัวเลขประมาณการล่าสุดซึ่งเปิดเผยไปหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มองเรื่องความไม่แน่นอนและความเสี่ยงนี้เผื่อเอาไว้แล้วบางส่วน ทั้งนี้ คงต้องติดตามดูว่าถ้าผลกระทบมีมากขึ้นหรือยืดเยื้อขึ้นก็อาจต้องดูแลให้ตัวเลขประมาณการมีความเหมาะสมต่อไป” ชญาวดี กล่าว
ชญาวดีกล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องความเปราะบางของการจ้างงานเป็นปัจจัยที่ ธปท. ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก โดยสิ่งที่กังวลคืออาจมีแรงงานบางส่วนซึ่งอยู่ในสถานะว่างงานชั่วคราวหรือระยะสั้นไหลไปสู่การว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ การบริโภค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมจนกลายเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่แก้ไขได้ยาก
“แรงงานที่ไม่ได้ทำงานบางส่วนจะสูญเสียทักษะไป เราคงต้องคิดว่าเมื่อเศรษฐกิจกลับมาจะทำอย่างไรให้พวกเขากลับมาเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจได้อีกครั้งให้เท่าทันกับการฟื้นตัว ซึ่งหากเป็นภาคการท่องเที่ยวการกลับมาคงทำได้เร็ว แต่ในภาคอื่นๆ เช่น ภาคการผลิตคงต้องจับตาดูว่าจะมีการนำระบบ Automation เข้ามาทดแทนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป” ชญาวดีกล่าว
สำหรับภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ เมื่อดูในรายละเอียดพบว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคมปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน
ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอกสามเช่นกัน ส่งผลให้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างปรับลดลง
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้ายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์จากต่างประเทศ หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
โดยการส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวปีก่อนที่มีมาตรการลดค่าน้ำประปาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสาม โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ ธปท. ระบุตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 14.12 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ 90.5% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่มีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ 89.4%
ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบสุทธิด้านมูลค่าธุรกิจก่อสร้างและยอดขายร้านอาหารและเครื่องดื่มใน 6 จังหวัด จากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ 1 เดือน จะคิดเป็นเม็ดเงินราว 40,000 ล้านบาท หรือ 0.25% ของ GDP
ขณะเดียวกันยังมองว่ามาตรการเยียวยาผลกระทบต่อลูกจ้างและนายจ้างของภาครัฐภายใต้วงเงินเบื้องต้น 7,500 ล้านบาท แม้จะครอบคลุมกลุ่มแรงงานและธุรกิจที่เป็นปลายทางของงานก่อสร้าง และบริการร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก แต่ยังคงมีกลุ่มอื่นในห่วงโซ่ธุรกิจหรือซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบตามมาเป็นทอดๆ จากการหยุดกิจกรรมที่ควรได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเหตุการณ์คลี่คลายลงได้ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า ผลกระทบคงเป็นเพียงชั่วคราว แต่ถ้าเหตุการณ์ลากยาวออกไปหรือจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่ลดลงตามคาด มูลค่าความเสียหายจะมากขึ้น และครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์