×

กนง. หั่น GDP ปีนี้โตเหลือ 1.8% พร้อมมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ยอมรับความเสี่ยงด้านต่ำมีมากขึ้น

23.06.2021
  • LOADING...
ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% โดยประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้น เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิม

 

นอกจากนี้ยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ​ ดังนั้นการเร่งดำเนินมาตรการการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟูและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ตรงจุดมากกว่าการลดดอกเบี้ย ที่ประชุมจึงมีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม และพร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด

 

ทิตนันทิ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าลงเหลือ 3.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.7% 

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลด้านตลาดแรงงานพบว่า ในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและข้อจำกัดด้านอุปทานมีผลจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อไทย

 

สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางเชื่อว่าจะยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

ขณะที่สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกที่ 3 ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยเคลื่อนไหวทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

 

กนง. เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง 

 

ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้คณะกรรมการจะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising