×

ผู้ว่าฯ ธปท. คาดโควิดกดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคและไม่เท่าเทียมกัน แต่เสถียรภาพโดยรวมยังแข็งแกร่งรองรับวิกฤตได้

25.08.2021
  • LOADING...
Governor of the Bank of Thailand

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal หัวข้อ ‘จากตั้งรับ สู่ฟื้นฟูและก้าวไปข้างหน้า: นโยบายธนาคารกลางเพื่อรับมือยุคแห่งความไม่แน่นอน’ โดยระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า ผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิดอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยใช้เวลานาน (Slow) กว่าชาติอื่นๆ ในภูมิภาค และฟื้นตัวไม่เท่ากัน (Uneven) ในลักษณะ K-Shaped เห็นได้จากกิจกรรมในภาคการส่งออกสินค้าที่ฟื้นกลับมาเหนือระดับก่อนการระบาดของโควิดแล้ว ขณะที่ภาคบริการยังถูกกระทบรุนแรงต่อเนื่อง

 

โดยสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ เพราะพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุดมาก นอกจากนี้การกระจายวัคซีนของไทยยังทำได้ล่าช้าและต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะครอบคลุมประชากรส่วนมาก 

 

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก แต่เสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยยังมีความมั่นคง ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมีจำกัด (Limited Downside Risks) โดยความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย สะท้อนใน 3 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไทยมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ ประกอบกับระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงต่อเนื่อง 

 

  1. เสถียรภาพด้านสถาบันการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ยังมีงบการเงินที่เข็มแข็ง ช่วยให้ภาคธนาคารยังสามารถรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ (Shock Absorber) 

 

  1. เสถียรภาพด้านการคลังของประเทศ ไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยรัฐบาลไทยยังสามารถกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

สำหรับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในวิกฤตครั้งนี้ เศรษฐพุฒิ ระบุว่า ธปท. พร้อมที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยตั้งแต่การระบาดของโควิดเริ่มต้นขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อเอื้อให้ภาวะการเงินช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ที่ผ่านมาแม้สินเชื่อยังขยายตัวได้ในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ แต่สภาพคล่องในระบบที่สูงยังกระจายตัวได้ไม่ดีพอ ทำให้มีมาตรการด้านสินเชื่อที่ผูกโยงกับการค้าประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อให้ธุรกิจและรายย่อย 

 

นอกจากนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีสภาพคล่องที่เพียงพอและสอดคล้องกับวิกฤตที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธปท. ยังได้ดำเนินมาตรการที่ตรงเป้าหมาย (Targeted) และยืดหยุ่น (Flexible) มากขึ้นเช่น การออก พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ปรับปรุงจาก พ.ร.ก. ฉบับก่อน โดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และโครงการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ สำหรับภาคธุรกิจที่ใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังบรรยายถึงแผนการให้ความช่วยเหลือในระยะข้างหน้าของ ธปท. ว่า นอกจากมาตรการเพื่อตอบสนองวิกฤตเฉพาะหน้าแล้ว ธปท. ยังมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ยั่งยืนขึ้น เช่น การพักหนี้อาจเหมาะสมในระยะสั้น แต่เป็นภาระลูกหนี้ในระยะยาว ธปท. จึงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยกัน

ขณะเดียวกันในระยะถัดไป ธปท. ยังคำนึงถึงโลกหลังโควิด ซึ่งบริบทของเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีลักษณะ 1. คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Greener) และ 2. มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น (More Digital) 

 

โดยในด้าน สิ่งแวดล้อม (Green) ธปท. อยู่ระหว่างการผลักดันภาคธนาคารพาณิชย์ให้มีการให้เงินกู้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำลังพัฒนาในเรื่องของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure Standards) และการพัฒนาในด้านคำนิยามด้านสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomy) เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติได้โดยเร็ว 

 

ในด้านดิจิทัล (Digital) ธปท. ได้วางรากฐานสำคัญสำหรับระบบชำระเงิน เช่น การทำ QR Code มาตรฐานในการชำระเงินและระบบพร้อมเพย์ นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีทางการเงินด้วย เช่น การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ระบบการเงินของไทยมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลงและเข้าถึงง่ายขึ้น สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising