วันนี้ (29 มีนาคม) ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า เนื่องจากเศรษฐกิจมีปัจจัยหนุนมาจากอุปสงค์ฟื้นตัวค่อนข้างดี จำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจมี Upside ได้อีก ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงมองว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังต้องติดตามต่อไป และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจึงเป็นแนวทางดำเนินนโยบายที่เหมาะสม พร้อมยืนยันว่า คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้ประเมินตัวเลขดอกเบี้ยปลายทาง (Termimal Rate)
“ถ้ามอง ณ ตอนนี้ ค่อนข้างชัดว่าเศรษฐกิจมีแรงส่งดี และเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงด้านสูงอยู่ นโยบายที่เหมาะสมกับการให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาสู่เสถียรภาพ จึงคือกระบวนการถอนคันเร่ง (เศรษฐกิจ)” ปิติกล่าว และอธิบายเพิ่มว่า “ณ จุดนี้ คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้มองจุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษว่า จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยตรงไหน แต่ข้อมูลที่มีทั้งหมดส่อว่า เรายังคงต้องดำเนินกระบวน Normalization ต่อไป”
โดยปิติกล่าวเพิ่มว่า ธปท. เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ตามกระบวนการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) เพื่อให้นโยบายการเงินมีความผ่อนคลายลดลงจากช่วงโควิด สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยโจทย์ในช่วงต้นของกระบวนการ Normalization คือให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่สะดุด ส่วนโจทย์ในระยะต่อไปคือการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะด้านของเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบาย
เปิดเหตุผลที่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้
ในแถลงการณ์ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแล้ว จากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยังส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชนด้วย
ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
มองภาคธนาคารเป็นสถานการณ์เฉพาะจุด
ปิติยังกล่าวว่า สถานการณ์ในภาคการเงินตอนนี้ ธปท. มองว่ายังเป็นสถานการณ์เฉพาะจุดอยู่ โดยในฉากทัศน์กรณีฐาน (Base Case Senario) ไม่ได้มองว่าจะเกิดวิกฤตการเงินขนาดใหญ่จนทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในปีนี้น่าจะยังโตในระดับที่ค่อนข้างโอเค และจะขยายตัวมากขึ้นในปีนี้หน้า
ในแถลงการณ์ระบุอีกว่า ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหาจำกัด รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างใกล้ชิด
ยอมรับเงินบาทผันผวน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการผันผวนของค่าเงินบาท ปิติยังยอมรับว่า มีความผันผวนมากกว่าในช่วงที่ผ่านมาจริง แต่เป็นการผันผวนที่มีเหตุมีผล ทั้งจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ มีความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ การเปิดประเทศของจีนที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และปัจจัยภายในอย่างการเปิดเผยตัวเลข GDP ของสภาพัฒน์ที่ออกมาต่ำกว่าคาดทำให้บาทอ่อนค่าลง
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังมีปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ โดยหั่น GDP ปีนี้เหลือ 3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.7% และหั่น GDP ปีหน้าลงจาก 3.9% เหลือ 3.8% ขณะที่มูลค่าส่งออกปีนี้ปรับลดเหลือ -0.7% จาก 1.0%
แต่มองในแง่ดีว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะลดลงเหลือ 2.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.0% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 28 ล้านคน จาก 22 ล้านคนในประมาณการณ์เดิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตา เงินบาทแข็งค่า ทดสอบแนวรับสำคัญที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดคาด Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว
- ว่าด้วยค่าเงินบาทเดือนมกราคม ปีกระต่าย
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี