ธปท. จับตาปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปใกล้ชิด ยันผลกระทบต่อไทยมีจำกัด ธุรกรรมแบงก์และกองทุนประเภทต่างๆ เชื่อมโยงกลุ่มธนาคารที่ประสบปัญหาไม่มาก ภาพรวมระบบการเงินยังมีความมั่นคงสูง
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปอย่างใกล้ชิด ทั้งในกรณี Regional Bank ของสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาต้องปิดกิจการ โดยทางการได้ออกมารับประกันการจ่ายคืนเงินฝากเต็มจำนวน และมีกลไกปล่อยสภาพคล่องให้ระบบสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ยังมีกรณีธนาคาร Credit Suisse (CS) ที่เกิดปัญหาด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดย CS มีปัญหาสะสมมาก่อนหน้า และมีผลขาดทุนสูงต่อเนื่อง รวมถึงเมื่อมีข่าวว่าผู้ถือหุ้นรายสำคัญมีข้อจำกัดในการเพิ่มทุนให้ CS จึงกระทบความเชื่อมั่นของตลาด จนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์และผู้กำกับดูแลต้องให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และล่าสุดภาครัฐได้จัดการให้ธนาคาร UBS เข้าซื้อหุ้นของ CS เพื่อรวมกิจการและระงับไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามแล้ว
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นต่อระบบการเงินไทยมีจำกัด จากธุรกรรมของภาคธนาคารและกองทุนประเภทต่างๆ ที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เข้มงวด โดยบังคับใช้เกณฑ์ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องกับธนาคารทุกแห่ง ขณะที่บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ จะเน้นการกำกับดูแลที่เข้มงวดกับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญเป็นหลัก ขณะที่สำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็ก การบังคับใช้เกณฑ์บางอย่าง เช่น เกณฑ์สภาพคล่อง จะไม่เข้มงวดเท่า
ในปัจจุบันภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคง ข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) 19.4% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดที่ 8.5% โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1) นอกจากนี้สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 197.3% และมีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ในระดับต่ำที่ 2.73% ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) สูงถึง 171.9% ซึ่งถือเป็นสถานะที่ดีกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551 นอกจากนี้ยังมีฐานลูกค้าทั้งในฝั่งสินเชื่อและเงินรับฝากที่กระจายตัวไปในกลุ่มรายย่อย ภาคธุรกิจ และ SMEs
สำหรับตลาดการเงินโลกยังเห็นความกังวลของนักลงทุนอยู่บ้าง สะท้อนจากราคาหุ้นกลุ่มธนาคารที่ยังผันผวนสูง และราคาในการประกันความเสี่ยงของภาคธนาคารที่เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดการเงินไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยตลาดโลกข้างต้นจำกัด จากความเชื่อมโยงที่ต่ำต่อกลุ่มธนาคารที่ประสบปัญหา โดย ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ