×

สยบข่าวลือ! ธปท. เคลียร์ชัด ไม่มีประชุม กนง. นัดพิเศษ เดินหน้าวิเคราะห์เชิงลึกผลกระทบบาทอ่อนต่อเงินเฟ้อ

17.06.2022
  • LOADING...
ประชุม กนง. นัดพิเศษ

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาได้เกิดกระแสข่าวลือหนาหูว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยอาจมีการเรียกประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากมองว่าการประชุมในนัดถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคมนั้นมีความล่าช้าเกินไป โดยระหว่างนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะประชุม FOMC อีกรอบในเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะถูกปรับขึ้นอีก 0.5-0.75% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทย-สหรัฐฯ ยิ่งถ่างกว้างขึ้น จนอาจทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก ทำให้เงินบาทอ่อนค่าและสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อขึ้นไปอีก

 

THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับ ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ช่วงเช้าที่ผ่านมาถึงประเด็นดังกล่าว โดยได้ชี้แจงว่า ข่าวลือที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่ง กนง. ยังมองว่าตารางการประชุมที่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าที่ 6 ครั้งต่อปี ยังเพียงพอและมีความเหมาะสมสำหรับการได้มาซึ่งข้อมูลใหม่ๆ เพื่อพิจารณานโยบายการเงิน  

 

ขณะเดียวกันการประชุมของ กนง. ครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง กนง. ได้สื่อสารถึงแนวทางการดำเนินนโยบายในระยะข้างหน้าด้วยความชัดเจน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจก็ยังไม่ได้มีข้อมูลใหม่เพิ่มเติมจนถึงระดับที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองทางเศรษฐกิจและภาวะการเงินได้

 

“ในทางปฏิบัติ การประชุมนัดพิเศษสามารถทำได้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินจริงๆ และคณะกรรมการมองเห็นว่าอาจกระทบต่อเป้าหมายนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ หรือเสถียรภาพระบบการเงิน แต่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นน้อยมาก และในอดีตเราก็แทบไม่เห็นการประชุมนัดพิเศษเลย ข่าวลือที่ออกมาจึงสร้างความงวยงงให้กับสตาฟฟ์ของเราเช่นกัน” ณชากล่าว

 

สำหรับความกังวลในเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยของไทย-สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มถ่างออกจากกันมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ณชาระบุว่า โดยปกติการปรับท่าทีนโยบายการเงินของธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ย่อมสร้างผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่แล้ว เห็นได้จากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกทั้งก่อนและหลัง Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเงินดอลลาร์ได้ทำสถิติแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี ส่งผลให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลง

 

อย่างไรก็ดี หากนับจากต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทยังอ่อนค่าไปเพียง 4% กว่าๆ ซึ่งอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เช่น เงินเยนที่อ่อนค่าไปแล้ว 15% เงินวอนที่อ่อนค่าลง 7-8% ขณะที่สกุลเงินของมาเลเซียและไต้หวันก็อ่อนค่าลงมากกว่าไทย

 

ณชากล่าวอีกว่า ภาวะเงินทุนไหลออกที่เกิดจากส่วนต่างดอกเบี้ยจะน่ากังวลสำหรับประเทศที่มีความเปราะบางด้านเสถียรภาพต่างประเทศ เช่น มีทุนสำรองต่ำ มีหนี้ต่างประเทศสูง แต่ประเทศไทยยังไม่มีปัญหาดังกล่าว มีทุนสำรองสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ และหากนับจากต้นปี การลงทุนของต่างชาติยังมีฐานะเป็นซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 1.5 แสนล้านบาท สะท้อนถึงความแข็งแกร่งด้านเสถียรภาพต่างประเทศ

 

“ส่วนต่างดอกเบี้ยและภาวะการเงินโลกเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ กนง. ใช้ในการพิจารณานโยบายดอกเบี้ยอยู่แล้ว โดยเราจะประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น การส่งออก เงินเฟ้อ เงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นอย่างไร ตอนนี้ กนง. มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราต้องจับตาต่อไปคือ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงมาจะไปสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศมาก-น้อยเพียงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป” ณชากล่าว

 

ณชากล่าวอีกว่า แม้ กนง. จะมองว่าเงินเฟ้อในปัจจุบันยังมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ แต่หากมองไปข้างหน้าแล้วไม่ทำอะไร ปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อไปจนไปกระทบต่อคาดการณ์เงินเฟ้อ นำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าของภาคธุรกิจ และการขอขึ้นค่าจ้างของแรงงาน เกิดเป็น Wage Price Spiral การควบคุมเงินเฟ้อจะทำได้ยาก ทำให้ในการประชุมครั้งล่าสุดจึงมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนออกมาว่าจะขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงยาวนานจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

 

“เราคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนจากการขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน โดยมีการประเมินในเชิงลึกเลยว่ากลุ่มต่างๆ จะได้รับผลจากการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสุทธิแล้วมาก-น้อยอย่างไร ซึ่งเราพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย จะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงมากกว่าดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้นเพื่อไปสกัดเงินเฟ้อถึง 7 เท่า” ณชากล่าว

 

ณชายังกล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ กนง. เปิดเผย Dot Plot และผลโหวตของคณะกรรมการแต่ละท่านออกสู่สาธารณชนเช่นเดียวกับ Fed โดยระบุว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายของ กนง. ในปัจจุบันได้มองไปข้างหน้าอยู่แล้ว เนื่องจากโดยธรรมชาตินโยบายการเงินต้องใช้ระยะเวลาการส่งผ่านที่นาน ขณะที่รูปแบบการสื่อสารในปัจจุบันที่เลือกใช้การสื่อสารที่เข้มข้นผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น การแถลงข่าว รายงานนโยบายการเงิน และการจัดประชุมกับนักวิเคราะห์ ก็ยังเชื่อว่ามีความเหมาะสมกับบริบทของไทยอยู่

 

“การให้ Forward Guidance แบบ Fed ก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคือความโปร่งใส แต่ข้อเสีย คนมักจะลืมว่าแนวโน้มที่ถูกเผยแพร่ออกไปแต่ละครั้งถูกพิจารณาบนฐานของข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนั้น เมื่อข้อมูลเปลี่ยนไป หากคนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับแนวโน้มที่เคยให้ไป ก็จะสร้างความผันผวน ความสับสนให้กับตลาดโดยไม่จำเป็น ส่วนการเปิดเผยผลโหวตของคณะกรรมการแต่ละท่านหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และแคนาดา ก็ไม่ทำ ซึ่งในส่วนของไทยเรามองว่าการเปิดเผยจำนวนเสียงโหวตน่าจะเพียงพอแล้ว” ณชากล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X