×

แม้แต่บอร์ด กนง. ยังเซอร์ไพรส์มติ 4 ต่อ 3 เสียง ‘เมธี’ ชี้ต้องขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อก่อนฝังรากลึก

09.06.2022
  • LOADING...
เมธี สุภาพงษ์

ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน) ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ตลาดเงิน ด้วยมติที่เสียงแตก 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี พร้อมส่งสัญญาณถึงการขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนขึ้น ท่ามกลางเงินเฟ้อในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะมาจากด้านอุปทาน

 

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรองประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่ามติดังกล่าวไม่ได้เซอร์ไพรส์แค่คนทั่วไป แต่ยังเป็นเซอร์ไพรส์ของ กนง. เองด้วย เพราะคณะกรรมการแต่ละท่านมีความอิสระ มีความเห็นด้านเศรษฐกิจและการประเมินของตัวเอง

 

เมธีกล่าวว่า สองปัจจัยหลักที่ทำให้ กนง. ออกมาส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนขึ้นคือ สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยที่แม้ว่าจะยังมีที่มาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก แต่ก็เริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จากพลังงานไปยังอาหารสด ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และอาหารสำเร็จรูปรับประทานนอกบ้าน 

 

ขณะเดียวกันการที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมออกมาสูงกว่าคาดและมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ก็อาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคและผู้ผลิตเปลี่ยนไป ซึ่ง กนง. กังวลว่าหากการคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นจะทำให้การตั้งราคาและการบริโภคเร่งตัวขึ้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมขยายตัวที่ระดับ 7.1% เป็นระดับที่สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 6% ค่อนข้างมาก 

 

เมธีกล่าวว่า ในส่วนของปัจจัยประการที่สองคือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่จะแรงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและสูงก็ยังมีกำลังซื้ออยู่ ทำให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีแรงกดดันจากฝั่งอุปสงค์เข้ามาเสริม ทำให้ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อฝังรากลึก ซึ่งจะยากต่อการแก้ไขในอนาคต

 

“ดอกเบี้ยของเราตอนนี้อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ ยิ่งเป็นดอกเบี้ยแท้จริงที่หักด้วยเงินเฟ้อไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือในอนาคตจะเห็นว่าติดลบมาก เท่ากับเป็นการกระตุ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากขึ้นแล้ว เราจึงคิดว่าควรจะปรับดอกเบี้ยให้เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น” รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

 

ส่วนคำถามที่ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับในช่วงก่อนโควิดจะเป็นการฉุดรั้งการขยายตัวหรือไม่นั้น เมธีกล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยหลายภาคส่วน เช่น การส่งออก สามารถฟื้นตัวได้มากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดไปแล้ว ขณะที่การฟื้นตัวของรายได้ในกลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้ว่ายังมีปัญหาอยู่ แต่ก็คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในช่วงครึ่งปีหลังที่จะมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

 

เมธีกล่าวอีกว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อที่จะไม่เพิ่มภาระที่มากเกินไปให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจากการประเมินของ กนง. พบว่าการช่วยลดเงินเฟ้อจะเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มนี้มากกว่าเมื่อเทียบกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี ธปท. ก็จะให้ความสำคัญกับมาตรการแก้หนี้ ปรับโครงสร้าง รวมถึงอาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยกลุ่มเปราะบางควบคู่ไปด้วย

 

รองผู้ว่าการ ธปท. ยังประเมินถึงความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น โอกาสที่จะเกิดภาวะ Recession หรือ Stagflation ในสหรัฐฯ ว่า หากความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในอนาคต ก็เชื่อว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่มีหนี้ต่างประเทศต่ำ มีทุนสำรองสูง จะช่วยรองรับแรงกระแทกได้ โดยปัญหาที่สำคัญมากกว่าในเวลานี้คือการจัดการเงินเฟ้อในประเทศไม่ให้ฝังรากลึกหรือเครื่องติด ซึ่งจะทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น กนง. จึงต้องเข้าไปดูแลไม่ให้เครื่องติดตั้งแต่ต้น

 

“ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นคือการคุมเงินเฟ้อ แต่ในระยะยาวเราก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเข้าไปดูแลเช่นกัน เช่น ปัญหาสังคมสูงวัย การปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัลและสังคมสีเขียว ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก การเพิ่มผลิตภาพของประเทศ และการยกระดับคุณภาพการศึกษา” เมธีกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising