ผู้บริหารฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของแบงก์ชาติมองว่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่กระทบแรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมชี้ว่าช่วงที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัวสวนทาง เพราะมีหลายปัจจัยมากกว่าค่าเงิน แนะนำเอกชนประกันความเสี่ยงเพื่อรับมือดอลลาร์ที่ยังผันผวน
เช้าวันนี้ (12 ธ.ค.) ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.647 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ยังทรงตัวต่อเนื่องจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นเรื่อง ‘เงินบาทกับเศรษฐกิจไทย’ ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้มาจากปัจจัยจากต่างประเทศเป็นสำคัญทั้งการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยว หากพิจารณาการขยายตัวของการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ของไทยกับค่าเฉลี่ยของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันเท่าใดนัก เนื่องจากการส่งออกขึ้นกับหลายปัจจัย สิ่งที่สำคัญคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีผลต่อการส่งออกมากกว่าผลของค่าเงินบาทเกือบสิบเท่า จึงเห็นการเติบโตที่สอดคล้องกับทุกภูมิภาคในโลก และยังเชื่อว่าการส่งออกของไทยจะยังเติบโตต่อเนื่อง
อีกปัจจัยที่สำคัญคือการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินสำคัญอื่นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เช่น เงินยูโร ซึ่งแข็งค่าขึ้นมากกว่า 11% ดังนั้นพอเปรียบเทียบจึงกลายเป็นเงินบาทอ่อนค่าลงในมุมของเงินยูโรด้วยซ้ำ กลายเป็นผลดีกับผู้ส่งออกสินค้าไปที่ยุโรป จึงต้องแยกแยะประเด็นเรื่องการส่งออกให้ชัดเจน ค่าเงินบาทของไทยขณะนี้เกาะกลุ่มไปกับค่าเงินวอนของเกาหลีใต้และค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม ดร.ดอนยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งจะส่งผลกระทบกับอัตรากำไรของผู้ส่งออก เนื่องจากได้เงินกลับคืนมาในรูปเงินบาทลดลง จากตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2560 พบว่า มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ขยายตัว 9.7% ขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทกลับขยายตัวน้อยกว่าที่ 6.5% ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคือสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งแทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าที่ลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
แบงก์ชาติยังคงแนะนำให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพราะทิศทางค่าเงินดอลลาร์ยังมีความผันผวนสูง ซึ่งจะมีผลกระทบกับรายได้ของผู้ประกอบการเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ขณะเดียวกันต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในด้านอื่นที่ไม่ใช่การแข่งขันด้านราคา เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาว