จับตาประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสเสียงแตก ส่งสัญญาณหมดรอบขึ้นดอกเบี้ย คาดกรอบเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 34.10-34.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังเปิดตลาดยืนแกร่ง แข็งค่าเล็กน้อยที่ 34.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรอบค่าเงินบาทวันนี้น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.10-34.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ให้น้ำหนักวันนี้คือการประชุมของ กนง. ในช่วงบ่าย โดยตลาดคาดการณ์ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปสู่ระดับ 1.75%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘เงินบาทแข็งค่า’ ทำจุดสูงสุดใหม่รอบ 10 เดือน เก็ง Fed ยุติขึ้นดอกเบี้ย ฉุดดอลลาร์อ่อน กรุงศรีมองกรอบเงินบาทปีนี้ 32-33 บาท
- ‘เงินบาท’ แข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน คาด Fed ลดความแข็งกร้าวขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
- ว่าด้วย ค่าเงินบาท เดือนมกราคม ปีกระต่าย
“สิ่งที่ต้องจับตาคือมติเป็นเอกฉันท์หรือไม่ โดยถ้าไม่เอกฉันท์เราคาดการณ์ว่าจะมีกรรมการเสียงส่วนน้อยโหวตให้คงดอกเบี้ยไว้ นับเป็นการส่งสัญญาณว่าในการประชุมรอบต่อไปในวันที่ 31 พฤษภาคม กนง. อาจหยุดพักการขึ้นอัตราดอกเบี้ย”
รุ่งกล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่ให้ความสนใจคือการประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของ กนง. เนื่องจากตั้งแต่การประชุมรอบที่แล้วจนถึงรอบนี้ตลาดโลกมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่เหตุการณ์ในภาคธนาคารในต่างประเทศ แม้ไม่มีผลกระทบต่อไทยโดยตรง แต่จะมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกต่อไป และภาคส่งออกของไทย
ส่วนประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารกรุงศรีอยุธยามองว่าภายในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้จะลดลงต่ำกว่า 3% กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ กนง. โดยเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ กนง. ส่งสัญญาณหยุดพักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบถัดไปได้
กนง. มีโอกาสเสียงแตก
รุ่งยังกล่าวอีกว่า ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าการประชุม กนง. ครั้งนี้มีโอกาสเสียงแตก โดยเป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ เนื่องด้วยรอบการประชุม กนง. ค่อนข้างห่าง โดยกว่าจะถึงการประชุมของ กนง. ครั้งต่อไปในวันที่ 31 พฤษภาคม จะมีเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย เช่น การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา (FOMC) และการเปิดเผยตัวเลขต่างๆ ของสหรัฐฯ อีกหลายรายการ รวมถึงพัฒนาการของภาคธนาคารโลกซึ่งไม่รู้จะไปทางไหน และปัจจัยในประเทศอย่างการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ความไม่แน่นอนยังมีสูงมาก
จับตาการเคลื่อนไหวเงินบาทหลังการประชุม
รุ่งระบุอีกว่า หากผลการประชุมออกมาตามที่คาดคือเสียงแตก โดยส่งสัญญาณว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นในรอบต่อไป เงินบาทน่าจะย่ำฐานอยู่ในกรอบที่ให้ไว้ แต่หากมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียงให้ขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ อาจสร้างเซอร์ไพรส์ให้ตลาดว่ารอบหน้าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ เงินบาทอาจจะแข็งค่าเข้าสู่กรอบล่างที่บริเวณใกล้ๆ 34 บาทได้
สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายช่วงนี้ค่อนข้างไร้ทิศทาง โดยเมื่อวาน (28 มีนาคม) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยกว่า 1 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตรไปกว่า 3 พันล้านบาท จึงไม่ได้เป็นการชี้ชัดว่าเงินนอกกลับเข้าไทยแล้ว เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติคงรอดูสถานการณ์ภาคธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปอีกที
เงินบาทย่ำฐาน เหตุขาดปัจจัยชี้นำ
รุ่งกล่าวอีกว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างย่ำฐาน ถือว่าดีต่อผู้ประกอบการในการกะจังหวะเข้าซื้อขาย และ Lock Rate ไม่ได้เหวี่ยงหนักอย่างที่เคยเห็นในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดปัจจัยชี้นำใหม่ โดยมี 2 ปัจจัยคานกันอยู่ ทำให้ตลาดไม่แน่ใจว่าจะลากไปทางไหนดี
ปัจจัยแรกคือตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง หรือจบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว หรือมีโอกาสจะลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ด้วย ซึ่งเป็นทั้งปัจจัยที่กดดันดอลลาร์สหรัฐอ่อนและดันให้บาทแข็ง
อีกปัจจัยคือความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นต่อเสถียรภาพของภาคการเงิน ซึ่งอาจจะลุกลามเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ได้ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาท เนื่องจากเรามองว่าส่งออกไทยปีนี้อาจจะไม่โตเลยด้วยซ้ำ ถ้าเศรษฐกิจโลกแย่กว่าที่ประเมินไว้ ส่งออกไทยก็อาจจะติดลบ
อย่างไรก็ตาม รุ่งมองว่าอาการเงินบาทย่ำฐานอาจอยู่ไม่นาน โดยหากมีปัจจัยชี้ชัดบาทก็อาจจะกระชากขึ้นหรือเหวี่ยงลงได้