×

สำนักวิจัยฯ ประเมิน กนง. ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบาย แม้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยซ้ำซ้อน แนะดูแล ‘บอนด์ยีลด์’ ไม่ให้เร่งตัวเร็วเกินไป

04.05.2021
  • LOADING...
สำนักวิจัยฯ ประเมิน กนง. ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบาย แม้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยซ้ำซ้อน แนะดูแล ‘บอนด์ยีลด์’ ไม่ให้เร่งตัวเร็วเกินไป

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันพุธที่ 5 พฤษภาคมนี้ กลายเป็นประเด็นที่แวดวงเศรษฐกิจและธุรกิจเฝ้าจับตาดูอีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มกระทบต่อภาคเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้น 

 

โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจเกือบทุกแห่งประเมินภาพคล้ายกันว่า เศรษฐกิจไทยมีความ ‘เสี่ยงสูง’ ที่จะเผชิญกับภาวะ ‘ถดถอยซ้ำซ้อน’ โดยเฉพาะหลังจากกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางเศรษฐกิจไทย ประกาศปิดสถานที่เสี่ยง 31 แห่ง และ ศบค. ก็มีมติให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด ห้ามผู้คนนั่งรับประทานอาหารในร้าน แน่นอนว่ากระทบต่อการจ้างงานและรายได้ผู้คนจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจความเห็นของเหล่า ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ส่วนใหญ่ยังมีมุมมองที่คล้ายกันว่า การประชุมรอบนี้ กนง. น่าจะยัง ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือจะมีสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับการผ่อนคลายหรือมาตรการดูแลเพิ่มเติมออกมาหรือไม่

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในมุมของดอกเบี้ยนโยบายยังเชื่อว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะระดับของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าต่ำอยู่แล้ว แม้จะลดเพิ่มก็คงไม่ช่วยเศรษฐกิจมากนัก

 

สำหรับประเด็นที่สมประวิณเชื่อว่า กนง. จะให้น้ำหนักกับการดูแลเศรษฐกิจในรอบนี้มากกว่าการลดดอกเบี้ย คือการหาวิธีที่จะทำให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้นเพื่อสภาพคล่องในการดำเนินงาน

“คิดว่าเรื่องดอกเบี้ยคงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้แล้ว เพราะดอกเบี้ยไม่ใช่ประเด็นสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้ แต่เป็นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อมากกว่า ถ้า กนง. จะดูก็คงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นหลัก”

 

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องติดตามดูจากการประชุม คือการส่งสัญญาณของภาคเศรษฐกิจและตลาดเงินในระยะข้างหน้า เพราะแม้เศรษฐกิจไทยอาจจะเผชิญกับภาวะการถดถอยซ้ำซ้อน แต่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ในระดับที่ดี ซึ่งมีผลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดเงิน (บอนด์ยีลด์) เร่งตัวขึ้น บีบให้บอนด์ยีลด์ของไทยปรับขึ้นตามไปด้วย ประเด็นนี้กำลังเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการไทย

 

สมประวิณกล่าวด้วยว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงสูง แต่ต้นทุนการเงินกลับเพิ่มขึ้นจากบอนด์ยีลด์ที่ขยับตามตลาดโลก จะยิ่งกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนการลงทุนของภาคเอกชนกำลังจะเริ่มดีขึ้น เพราะเริ่มเห็นการลงทุนที่มากขึ้น จึงต้องดูว่า กนง. จะเข้ามาดูแลตลาดนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้ภาคเอกชนมีภาระเพิ่มขึ้นจากการเร่งตัวของบอนด์ยีลด์

 

ส่วนนโยบายการคลัง สมประวิณกล่าวว่า จำเป็นต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหาร และการช่วยเหลือไม่ควรเป็นลักษณะการให้กู้ แต่ต้องเป็นการให้เงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่านโยบายการคลังยังมีศักยภาพในการดูแลเพิ่มเติม

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า กนง. จะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ในการประชุมครั้งนี้ โดยเชื่อว่า กนง. จะให้น้ำหนักต่อเหตุผลสนับสนุนใน 3 ข้อ 

 

1. การดำเนินนโยบายการเงินในระดับผ่อนคลายยังจำเป็นอย่างมาก เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอ่อนแอ และมีความเสี่ยงด้านต่ำในระดับสูงจากสถานการณ์การระบาดโควิดรอบ 3 และการฉีดวัคซีนอย่างช้าๆ เชื่อว่า กนง. จะปรับมุมมองเศรษฐกิจปีนี้แย่ลง แม้การส่งออกสินค้ามีสัญญาณดีขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศยังชะลอลงจากผลกระทบของการระบาดรอบใหม่ ขณะที่การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจล่าช้า จากการเปิดประเทศขาออกอย่างระมัดระวังของประเทศส่วนใหญ่ที่กังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่

 

ยรรยงเชื่อว่า มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง จาก GDP ที่อาจติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ หลังจากที่อยู่ในภาวะถดถอยรอบแรกเป็นเวลา 4 ไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และครึ่งแรกของปี 2563

 

2. การลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจมากนัก และอาจส่งผลลบมากกว่า โดย กนง. น่าจะมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ขณะที่สภาพคล่องในภาพรวมมีมากเพียงพอ แต่ประเด็นสำคัญคือการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินภายใต้ความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูง ผ่านการกระจายสภาพคล่องไปในภาคส่วนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SMEs และครัวเรือนระดับกลาง-ล่าง ด้วยมาตรการ Soft Loan และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 

 

ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยลงอีกอาจส่งผลลบให้ภาคครัวเรือนที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากต้องปรับลดการใช้จ่ายลง รวมทั้งอาจสะสมความเปราะบางของภาคการเงินจากพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) อีกด้วย

 

3. พื้นที่และบทบาทของนโยบายการเงินมีข้อจำกัดในภาวะปัจจุบัน จำเป็นต้องพึ่งพามาตรการการคลังเป็นหลัก ดังนั้น กนง. อาจมองว่าจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Room) ที่มีน้อยในการลดดอกเบี้ยไว้สำหรับกรณีที่เศรษฐกิจเลวร้ายกว่านี้ 

 

ยรรยงกล่าวด้วยว่า การระบาดรอบใหม่และแนวโน้มการฉีดวัคซีนที่เป็นไปอย่างช้าๆ ของไทย จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะงักงันและช้ากว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งแผลเป็นทางเศรษฐกิจจะลึกมากขึ้น ดังนั้นนโยบายการเงินจึงต้องปรับให้สอดคล้องเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงกว่าเดิม และลดผลกระทบจากแผลเป็นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทำได้โดยการยืดระยะเวลาของมาตรการเดิมที่ใช้อยู่และกำลังจะหมดอายุลงออกไป เช่น การปรับลดค่าธรรมเนียมของกองทุนฟื้นฟู (FIDF) รวมไปถึงการดำเนินการเชิงรุกสำหรับมาตรการ Soft Loan และมาตรการ Asset Warehousing ที่ออกใหม่ 

 

นอกจากนี้ควรมีการปรับใช้เครื่องมือนโยบายต่างๆ รวมทั้งการใช้งบดุลของ ธปท. ในการดูแลต้นทุนทางการเงินและสภาพคล่องของระบบอย่างเหมาะสม เช่น การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือมาตรการ Yield Cost Control (ควบคุมต้นทุนการเงิน) เพื่อดูแล Yield Curve ไม่ให้สูงขึ้นเร็วเกินไปตามเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าไทย ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X