วันนี้ (7 สิงหาคม) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน ‘Financing the Transition การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ’ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับบริบทไทย (โครงการ Financing the Transition) โดยมีธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารยูโอบี รวมถึงมีผู้เข้าร่วมงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภาครัฐ, ภาคสถาบันการเงิน, ภาคธุรกิจ และองค์กรระหว่างประเทศด้วย
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในงานว่า ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ยังมีความตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว ‘น้อยกว่า’ ธุรกิจขนาดใหญ่อยู่มาก โดยความไม่พร้อมเปลี่ยนสู่ความเป็นสีเขียวอย่างเต็มที่อาจเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
พร้อมกล่าวอีกว่า สถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของ SMEs มีความแตกต่างจากธุรกิจรายใหญ่อย่างมาก เห็นได้จากตลาดพันธบัตรสีเขียวเพื่อความยั่งยืน (Green and Sustainability Bond) ของไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Index ได้ถึง 26 บริษัท ถือว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
“การสนับสนุนด้านการเงินสำหรับ SMEs เพื่อการปรับตัวจากธุรกิจสีน้ำตาล (Brown) ให้เป็นสีน้ำตาลน้อยลง (Less Brown) จึงจำเป็นอย่างยิ่ง” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
ขณะที่ รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงเส้นทางการขับเคลื่อนภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนของ ธปท. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเริ่มจาก
- การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของภาคธนาคารในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking)
- การกำหนดทิศทางภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสื่อสารความคาดหวังให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินโอกาสและความเสี่ยงจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนลูกค้าให้ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
- การวางรากฐานสำหรับระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การออกแนวนโยบายของ ธปท. เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งกระบวนการ และจัดทำ Thailand Taxonomy
ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนข้างต้น จึงนำมาสู่ความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้อย่างเป็นรูปธรรมที่เหมาะกับบริบทไทย ผ่านโครงการ Financing the Transition ซึ่งภายในงาน ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่ง ได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารแต่ละแห่งสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ และยังมีกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และคำปรึกษาในการปรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นสีน้ำตาลในสัดส่วนสูง
วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นสีน้ำตาลในสัดส่วนสูง โดยภาคอุตสาหกรรมพึ่งพาพลังงานฟอสซิลราว 60% ของการใช้พลังงาน ขณะที่การท่องเที่ยวก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและเอเชีย
อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทไทยที่แตกต่างกับโลก การปรับตัวจึงต้องดำเนินการด้วยวิธีและอัตราความเร็วที่แตกต่างจากสากล โดย SMEs อาจต้องเริ่มจากก้าวเล็กๆ ก่อน
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำ การเปลี่ยนผ่าน ‘ต้องค่อยเป็นค่อยไป’
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในหลายมิติถือว่าค่อนข้างเป็นสีน้ำตาล (Brown) อย่างที่ทราบกันดี ภาคส่วน (Sector) สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างภาคการผลิตและภาคส่งออกอยู่ในโลกเก่าและสีน้ำตาล ถ้าเราเน้นเรื่องสีเขียวเป็นหลัก นัยที่สถาบันการเงินต่างๆ จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสีน้ำตาลเป็นสิ่งที่ ธปท. ไม่อยากเห็น เพราะไม่เหมาะกับบริบทไทย
“สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงเรื่องระยะเวลาและความเร็วให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ และสร้างสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนและการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบกับภาคส่วนต่างๆ และการขับเคลื่อนเรื่องนี้อาจต้องก้าวเล็กๆ แต่จับต้องได้ ปฏิบัติได้ มีความเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การยิงพลุ ไม่ใช่ CSR” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว “หวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจไทยและ SMEs เริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ทันตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”