×

แสงสุดท้ายที่ชุมชนบุญร่มไทร การต่อสู้ของคนจนเมืองริมทางรถไฟ เมื่อถูกขับไล่จากภาครัฐ

21.02.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Min. Read
  • การมาถึงของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นำปัญหาใหญ่มาสู่ชีวิตคนจนเมืองผ่านการไล่รื้อชุมชนแออัดบนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยชุมชนบุญร่มไทร กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการขับไล่ของ รฟท. เพื่อนำที่ดินกลับมาใช้ประโยชน์ในโครงการนี้
  • ปัญหาที่เกิดจากการใช้อำนาจขับไล่ชุมชนที่อาศัยอยู่บนที่ดินของ รฟท. ในครั้งนี้ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ในแง่หนึ่ง รฟท. ก็ปล่อยปละละเลยพื้นที่ของตนเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทกับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่
  • ในวันที่ชาวชุมชนบุญร่มไทรตกลงที่จะย้ายออกจากพื้นที่ โดย รฟท. ได้ตกลงมอบที่ดินส่วนหนึ่งบริเวณซอยหมอเหล็งเพื่อใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยแห่งใหม่ หากในวันที่ตึกยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รฟท. ยังคงเดินหน้าไล่รื้อบ้านและดำเนินการฟ้องร้องคดีกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง สร้างความกังวลใจว่าอนาคตของคนในชุมชนจะเป็นเช่นไรต่อไป

เรื่อง: ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์

ภาพถ่าย: วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 

 

ในช่วงปีท้ายๆ ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความพยายามคิดค้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึง ‘โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก’ หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ที่มุ่งเน้นไปยังการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และเพื่อผลักดันโครงการขนาดใหญ่ชุดนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติโครงการส่วนต่อขยายอย่าง ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ เพื่อพัฒนาและเชื่อมเส้นทางการขนส่งของโครงการ EEC อีกด้วย

 

ในวันที่ 27 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ต่อมาในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ได้มีการลงนามสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัทเอกชนอย่าง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ชื่อเดิมคือ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด โดยเปลี่ยนชื่อในช่วงเดือนกันยายน 2564)

 

โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะอาศัยโครงสร้างและแนวเดินรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสร้างทางเดินรถไฟส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ

 

  1. ตั้งแต่สถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา 
  2. จากสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง โดยจะมีศูนย์กลางอยู่ที่สถานีมักกะสัน

 

ซึ่งตามแผนการดำเนินงานสถานีมักกะสันแห่งนี้จะมีการก่อสร้างโครงการคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่อีกด้วย สำหรับรายละเอียดในส่วนต่อขยายบริเวณสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมืองนั้น แม้จะมีเส้นทางเดินรถเดิมของ รฟท. อยู่แล้ว แต่ยังขาดโครงสร้างและเส้นการเดินรถไฟสำหรับรถไฟความเร็วสูง รฟท. จึงเริ่มแผนการสำรวจเรียบร้อยบนที่ดินโดยรอบทางรถไฟ และขับไล่ชุมชนริมทางรถไฟเพื่อนำมาใช้สร้างเส้นการเดินรถดังกล่าว

 

สำหรับมูลเหตุที่ต้องมีการขับไล่ชุมชน สืบเนื่องมาจากแม้ทาง รฟท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่โดยรอบทางรถไฟตามกฎหมาย มีการเดินรถไฟผ่านเส้นทางการเดินรถไฟอย่างสม่ำเสมอ ในทางปฏิบัติพื้นที่ริมทางรถไฟจำนวนไม่น้อยมีผู้บุกเบิกและใช้พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยอยู่ในลักษณะของชุมชน หากจะสร้างเส้นทางการเดินรถไฟใหม่ก็จำต้อง ‘ย้าย’ ชุมชนเหล่านี้ออกเสียก่อน


และชุมชนแรกๆ ที่อยู่ในแผนการขับไล่ของ รฟท. คือชุมชนบุญร่มไทร

 

ชุมชนบุญร่มไทร

ชุมชนบุญร่มไทรเป็นหนึ่งในชุมชนริมทางรถไฟที่กระจายตัวอยู่รอบกรุงเทพฯ ลักษณะเด่นของชุมชนเหล่านี้คือซุกซ่อนอยู่ระหว่างอาคารสูงใหญ่ สถานีรถไฟฟ้า และถนนที่ตัดผ่านย่านพาณิชย์ แหล่งทำงาน รวมถึงสถานศึกษา

 

ชุมชนที่ซุกซ่อนในหลืบเมือง

ชุมชนบุญร่มไทร เป็นชุมชนที่ทอดตัวอยู่ริมทางรถไฟตั้งอยู่ระหว่างถนนพญาไทไปจนถึงถนนพระรามที่ 6 โดยตั้งชื่อชุมชนตามจุดเด่นคือต้นไทรขนาดใหญ่บริเวณช่วงกลางของชุมชน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเจ้าแม่ไทร ชุมชนแห่งนี้มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 300 ครัวเรือน สมาชิกมีตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้เฒ่าวัยชราไม่ต่างจากชุมชนผู้อยู่อาศัยทั่วไป

 

คนในชุมชนเล่าว่าเมื่อประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว พื้นที่โดยรอบชุมชนหรือบริเวณถนนเพชรบุรี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่ดำเนินกิจการตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นพื้นที่ธุรกิจในช่วงกลางวันและสถานที่ท่องเที่ยวยามกลางคืน ทำให้เกิดความต้องการแรงงานจากนอกพื้นที่จำนวนมาก มีการย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากหลายพื้นที่เพื่อเข้ามาทำงานในบริเวณดังกล่าว 

 

แต่เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น อุปสงค์ในเรื่องของ ‘บ้าน’ ก็ขยับขึ้นตาม หากด้วยข้อจำกัดในเรื่องที่อยู่อาศัยที่ไม่เพียงพอ สมาชิกหน้าใหม่ของพื้นที่จึงได้ทำการบุกเบิกสร้างที่อยู่อาศัยแหล่งใหม่บนพื้นที่รกร้างบริเวณริมทางรถไฟ

 

สิ่งปลูกสร้างบริเวณชุมชนบุญร่มไทร มีลักษณะเป็นบ้านขนาดเล็กปลูกติดเรียงกัน มีขนาดตั้งแต่ประมาณ 12 ตารางเมตร ไปจนถึง 30 ตารางเมตร โดยแต่ละหลังมีสมาชิกอยู่อาศัยรวมกันตั้งแต่ 2-6 คน

 

ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้อยู่ใต้เงื่อนไขเดียวกับชุมชนเมืองจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร คืออยู่อาศัยบนพื้นที่ที่ตนไม่มีกรรมสิทธิ์มาเป็นเวลานาน และทางเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่เคยมีการดำเนินการเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือแจ้งความประสงค์ไม่ให้ใช้พื้นที่ ชาวบ้านจึงใช้พื้นที่สำหรับอยู่อาศัย แต่ไม่สามารถจดแจ้งและครอบครองทะเบียนบ้านได้ ทำให้เดินเรื่องขอติดตั้งสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปาและไฟฟ้าไม่ได้ บีบให้ต้องอาศัยใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาต่อจากบ้านใกล้เคียงในบริเวณถนนเพชรบุรี ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในพื้นที่แพงกว่าบ้านเรือนที่มีทะเบียนบ้านหลายเท่า โดยค่าบริการไฟฟ้าโดยทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 3-4 บาท แต่คนในชุมชนบุญร่มไทรมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่หน่วยละ 11-18 บาท

 

ชุมชนบุญร่มไทร

บ้านขนาดเล็กเรียงรายขนานทางรถไฟ อาคารสูงใหญ่ปรากฏในระยะสายตา ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่รายรอบชุมชนสร้างร่มเงาให้ผู้คนหลบเร้น เป็นที่พักพิงของชีวิตจำนวนหนึ่งในเมืองใหญ่

 

จุดเริ่มต้นข้อพิพาทกับ รฟท.

เชาว์ เกิดอารีย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เล่าว่าปัญหาข้อพิพาทระหว่างชุมชนบุญร่มไทรกับ รฟท. เริ่มต้นในวันที่ 3 มกราคม 2563 เมื่อเจ้าหน้าที่ รฟท. ลงพื้นที่บริเวณชุมชน เพื่อติดประกาศแจ้งให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 6 เดือน ตามบ้านเรือนแต่ละหลัง

 

วันต่อมา หรือวันที่ 4 มกราคม 2563 เจ้าหน้าที่ รฟท. พร้อมตำรวจรถไฟลงพื้นที่อีกครั้ง โดยแจ้งกับคนในชุมชนว่าทาง รฟท. มีโครงการจะสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่าง 3 สนามบิน จึงมีความจำเป็นต้องให้คนในชุมชนย้ายออก พร้อมทำการฉีดพ่นสีสเปรย์ ระบุตัวอักษร มส. พร้อมเลข แทนเครื่องหมายว่าเป็นบ้านเรือนที่ต้องรื้อถอนออก รวมถึงมีการขอบัตรประชาชนของคนในชุมชนเพื่อสำรวจจำนวนผู้อยู่อาศัย และ รฟท. จะมีค่าชดเชยสำหรับการย้ายชุมชนในครั้งนี้ ขอให้แต่ละครัวเรือนแจ้งจำนวนเงินที่ต้องการ

 

ชุมชนบุญร่มไทร

เจ้าหน้าที่ของ รฟท. ทำการพ่นตัวอักษร มส. พร้อมตัวเลข แทนเครื่องหมายว่าเป็นบ้านเรือนที่ต้องรื้อถอนออก

 

“การรถไฟก็ลงมาเดินตามบ้าน มาถามชาวบ้านทุกหลังเลยว่า บ้านหลังนี่ของใคร มีใครอยู่บ้าง ใครเป็นเจ้าของ การรถไฟกำลังจะมีโครงการทำรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน แต่เราไม่ได้จะให้ออกเฉยๆ นะ จะมีเงินมาให้ จะมีค่ารื้อถอนมาให้ อยากได้เท่าไรกรอกไปเลย”

 

การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝันและการปรากฏตัวกะทันหันของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้คนในชุมชนตั้งหลักไม่ทันกับเหตุการณ์กระชั้นชิด ประกอบกับการแพร่กระจายของข่าวสารว่าหากไม่ยอมมอบบัตรประชาชนให้กับทางเจ้าหน้าที่จะไม่ได้รับเงินชดเชย คนในชุมชนจึงยอมที่จะมอบบัตรประชาชนและกรอกตัวเลขจำนวนเงินชดเชยที่ต้องการ

 

“พอชาวบ้านบางคนไม่รู้จะกรอกเท่าไร เจ้าหน้าที่ก็บอกไม่เป็นไรผมกรอกให้เอง หลังนี้ให้ 50,000 บาทเลย หลังนี้ให้ 100,000 บาทเลย เจ้าหน้าที่ก็กรอกให้แล้วก็ขอบัตรประชาชนไป ชาวบ้านบางคนก็กลัว ก็พูดกันว่าถ้าเราไม่ให้บัตรประชาชนเขา เขาจะไม่ให้เงินเรานะ เราจะโดนไล่ออกฟรีๆ นะ ก็เลยยอมให้ไป”

 

ชุมชนบุญร่มไทร

เชาว์ เกิดอารีย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.)

 

บ้านมั่นคง ความหวังและคำลวง

หลังการติดประกาศและแจ้งข่าวในช่วงต้นของเดือนมกราคม สมาชิกชุมชนบางกลุ่มเริ่มกังวลว่าจะไม่สามารถย้ายออกทันภายใน 6 เดือนแน่นอน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จึงมีการรวมตัวเพื่อพูดคุยหาทางออกกับหน่วยงานต่างๆ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ 

 

มีการเชิญคนในชุมชนไปประชุมที่สำนักงานเขตราชเทวีเพื่อร่วมกันหาทางออก ในการประชุมดังกล่าว พอช. ได้สอบถามว่าต้องการย้ายที่อยู่และเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงหรือไม่ 

 

โดยโครงการบ้านมั่นคงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนคนจนเมือง พอช. จะเข้ามาสนับสนุนและดำเนินการประสานงานให้กลุ่มเป้าหมายมีแหล่งที่อยู่อาศัยถาวร เป็นการสร้างความมั่นคงในการครอบครองที่ดินอย่างถูกกฎหมาย โดยชาวบ้านก็เห็นด้วยว่าอยากเข้าร่วมในโครงการนี้

 

ทาง พอช. จึงได้แนะนำให้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบุญร่มไทรขึ้นมาด้วยเหตุผล 2 ประการ ข้อแรกคือเพื่อให้ชาวบ้านในแต่ละครัวเรือนเริ่มออมเงิน สะสมไว้เป็นต้นทุนในการดาวน์บ้านในโครงการบ้านมั่นคง 

 

อีกเหตุผลคือเพื่อรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและเป็นกลุ่มก้อน เมื่อชุมชนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ได้สำเร็จ ทางกลุ่มได้ร่วมกับองค์กรพี่เลี้ยง เช่น พอช. และเครือข่ายสลัมสี่ภาค เพื่อประสานงานกับชุมชนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการไล่รื้อของการรถไฟอีกประมาณ 15 ชุมชน และร่วมกันจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ

 

อย่างไรก็ตาม ทาง รฟท. ไม่ได้ดำเนินกระบวนการใดกับชุมชนเมื่อครบกำหนด 6 เดือนตามที่ได้เข้ามาติดประกาศเอาไว้ สมาชิกชุมชนบุญร่มไทรจึงยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงเดือนธันวาคม 2563 ทางชาวบ้านได้มีการพูดคุยกับ รฟท. โดยมี นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุม เชาว์เล่าว่า รฟท. รับปากว่าจะไม่มีการไล่รื้อและจะจัดสรรที่ดินเพื่อหาที่อยู่อาศัยให้ แต่กลับกลายเป็นว่าคำสัญญาหวนกลับมาเป็นมีดทิ่มแทง

 

“เขาบอกว่าไม่มีการไล่รื้อ ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวเราจะหาที่ให้ เดี๋ยวเราจะจัดสรรที่ให้ยังไงก็วินวินกันอยู่แล้ว ไม่มีหมายศาล แต่กลายเป็นว่าเริ่มต้นปี 2564 หมายศาลก็มาแล้ว”

 

เพราะสิ่งที่สมาชิกในชุมชนบุญร่มไทรได้รับจาก รฟท. ในเดือนมีนาคม 2564 ไม่ใช่เงินชดเชยสำหรับการรื้อถอนที่พักหรือรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ หากเป็นเอกสารฟ้องละเมิดและขับไล่ออกจากพื้นที่จากศาลแพ่ง โดยอาศัยข้อมูลจากบัตรประชาชนที่ทางชาวบ้านเคยให้ไว้ในช่วงต้นปี 2563

 

“คือเราไม่รู้กันเลยว่าเขาเอาชื่อ เอาบัตรประชาชนไปเพื่อจะหาว่ามีใครอยู่บ้าง แล้วเงินที่สัญญาว่าจะให้ก็ไม่ได้ แต่ได้กลับมาเป็นหมายศาลเลย 300 หลังโดนหมด”

 

ชุมชนบุญร่มไทร

หมายศาลจากหนึ่งในผู้อยู่อาศัยของชุมชนบุญร่มไทรที่ เชาว์ เกิดอารีย์ เป็นผู้รวบรวม


ช่วงเดือนเมษายน 2564 ชาวชุมชนบุญร่มไทรมีความวิตกกังวลจากการถูกดำเนินคดีจึงได้ปรึกษากับทาง พอช. กลุ่มทนาย และทางสลัมสี่ภาค เพื่อหาทางออก โดยประเด็นหนึ่งคือเรื่องของ ‘ค่าเสียหาย’ ที่ปรากฏในเอกสารฟ้องคดีว่าทาง รฟท. เรียกเก็บค่าเสียหายย้อนหลังเนื่องจากชุมชนไม่ได้ย้ายออกตามกำหนดเดิมในช่วงกลางปี 2563

 

“ทางชาวบ้านเองก็มีความกังวลเรื่องหมายศาลที่เข้ามา ก็เลยมาทำประชาพิจารณ์กันว่าจะหาทางออกอย่างไรดี แล้วก็ขอคำแนะนำกับทางทนายเรื่องคดี เพราะไปศาลมาแล้วทางการรถไฟเขาก็จะให้มีค่าปรับถ้าไม่ยอมรื้อออก บางบ้านโดน 1,000 กว่าบาท 2,000 กว่าบาท 5,000 กว่าบาท ถึง 10,000 บาทต่อเดือน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะคิดย้อนหลังไปกี่เดือนด้วยก็เลยต้องมาหาทางออกกัน”

 

นับตั้งแต่เอกสารฟ้องคดีจากศาลแพ่งฉบับแรกมาถึงชาวชุมชนบุญร่มไทรจนครบ 300 กว่าหลังคาเรือนในเดือนสิงหาคม การพิจารณาคดีได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2565)

 

บ้านหลังใหม่ในตึกสูง

การต่อสู้ทางกฎหมายไม่ใช่ปัญหาเดียวที่ทางชุมชนบุญร่มไทรต้องเผชิญ หากในช่วงเวลาเดียวกันชาวบ้านยังต้องเดินหน้าหาทางออกให้กับประเด็นที่ดินสำหรับก่อสร้างที่พักอาศัยแห่งใหม่ใต้โครงการบ้านมั่นคงภายหลังย้ายออกจากพื้นที่ 

 

วันที่ 9 กันยายน 2564 ทางชุมชนและองค์กรเครือข่ายได้ยื่นข้อเรียกร้องและได้เจรจากับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ โดยหนึ่งในข้อเสนอที่ทางชุมชนบุญร่มไทรยื่นไปคือการปันพื้นที่ในโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์จำนวน 18 ไร่ ซึ่งโครงการคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน หากในการประชุม รฟท. แจ้งว่าข้อเสนอนี้คงไม่สามารถรับเอาไว้พิจารณาได้ เพราะจะส่งผลต่อเรื่องรายได้ของ รฟท.

 

“ทางชาวบ้านยื่นข้อเสนอไปว่า เนื้อที่ของโครงการมีตั้ง 497 ไร่ ทางชาวบ้านขอสัก 18 ไร่ได้ไหม คิดเป็นประมาณ 4-5% เพื่อจะให้ชาวบ้านมาทำรูปแบบของชุมชนกันเอง ในที่ประชุมก็บอกว่า ที่ดินบริเวณนั้นมันแพง ทางการรถไฟเองก็ขาดทุนจากเรื่องการเดินรถเรื่องอะไรต่างๆ เยอะแยะ จะเอาพื้นที่ไปมากมายขนาดนี้ก็จะทำให้การรถไฟขาดทุนนะ”

 

ชุมชนบุญร่มไทร

ป้ายผ้าแสดงเจตจำนงของผู้อยู่อาศัยชุมชนบุญร่มไทรถูกแขวนไว้หน้าบ้านหลายหลัง เพื่อแสดงถึงความคิดเห็นของพวกเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 

โดยเหตุผลที่ทางชุมชนยื่นขอพื้นที่ไป 18 ไร่ เนื่องจากชุมชนพูดคุยกันแล้วว่าจะทำที่อยู่อาศัยในลักษณะเป็นแนวราบ เพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพของคนในชุมชนมีลักษณะเป็นหาบเร่แผงลอย จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ประกอบอาชีพ เช่น รถเข็น หากย้ายไปอาศัยอยู่ในตึกสูงก็อาจมีปัญหาเรื่องพื้นที่เก็บอุปกรณ์ รวมถึงการยกอุปกรณ์เก็บเข้าที่พัก

 

“จากตอนแรกเราพูดคุยกันว่า เราจะทำที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่แนวราบ เพราะคนในชุมชนมีการประกอบอาชีพส่วนใหญ่เป็นหาบเร่แผงลอย ถ้าขึ้นตึกสูงมันยาก แต่พอเรียกร้องไปแนวทางของเราก็ขัดกับมุมมองของรัฐ เพราะเขาก็มองว่าที่ดินมันแพง เราก็ยอมถอยออกมาจากการเรียกร้องพื้นที่แนวราบ เราก็ยอมขึ้นตึกสูงแค่ขอให้เขาแชร์พื้นที่ให้ชาวบ้านบ้าง”

 

ข้อสรุปจากที่ประชุมดังกล่าวคือ รฟท. จะเป็นผู้จัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้าน หากไม่ได้อยู่บริเวณที่จะมีการก่อสร้างมักกะสันคอมเพล็กซ์ แต่เป็นพื้นที่ของ รฟท. ประมาณ 4 ไร่ บริเวณบึงมักกะสันในซอยหมอเหล็ง และเปลี่ยนรูปแบบจากการอยู่บนพื้นราบเป็นการตั้งอาคารสูง แต่ละห้องพักกว้างประมาณ 35 ตารางเมตร และเปลี่ยนรูปแบบจากบ้านมั่นคงของ พอช. มาเป็นอาคารของการเคหะแห่งชาติ โดยชาวชุมชนยอมรับข้อเสนอนี้

 

รื้อแล้วจะไปอยู่ไหน? คำถามจากชุมชน

ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ทาง รฟท. ต้องการให้ชาวบ้านรื้อถอนออกโดยเร็วที่สุด จนมีผู้อาศัยบางส่วนได้ทำการย้ายออกจากพื้นที่ แต่สมาชิกอีกไม่น้อยยังต้องการความชัดเจนว่าหากต้องย้ายออกทั้งที่ตึกที่พักหลังใหม่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ช่วงเวลาระหว่างนี้พวกเขาจะไปพักอาศัยอยู่ที่ใด เพราะพื้นที่ทำงานของชาวบ้านอยู่ในละแวกนี้ อุปกรณ์การทำงานอย่างรถเข็นก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน หากให้ย้ายชั่วคราวไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลคงจะยากต่อการทำงาน

 

ชุมชนบุญร่มไทร

ไม่ใช่เพียงที่ซุกหัวนอน แต่พื้นที่นี้กลับเต็มไปด้วยชีวิตและเรื่องราวของผู้คนหลากหลายวัยที่เติบโต และอยู่อาศัยเลียบไปกับริมทางรถไฟ

 

“พอธันวาคม ปี 2564 การรถไฟเขาก็อยากให้เราไปทำเรื่องยินยอมตามข้อเสนอแรกของการถไฟให้ได้ (ข้อเสนอแรกที่ระบุให้รื้อถอนโดยได้ค่าชดเชย 3,000-5,000 บาทต่อหลัง ตามแต่ขนาดบ้าน โดยปราศจากเงื่อนไขอื่นๆ) อยากให้ชาวบ้านรื้อถอน จะรื้อถอนยังไง ได้เงิน 3,000-4,000 บาทรื้อบ้านทั้งหลัง รื้อแล้วยังไงต่อ บ้านก็ยังสร้างไม่เสร็จ จะให้เราไปอยู่ไหน เขาก็บอกที่การเคหะมีเยอะแยะ ก็ไปหาอยู่เอาสิ จะไปอยู่ยังไง งานก็อยู่แถวนี้ รถเข็นแผงลอยอะไรต่างๆ จะไปยังไง เราก็เลยอยากจะขอเช่าที่ตรงนี้อยู่ไปก่อน เพราะการรถไฟก็ยังไม่ได้มีการก่อสร้าง”

 

วันที่ 31 มกราคม 2565 ทางชุมชนบุญร่มไทรเรียกร้องเพื่อขอเช่าที่บริเวณชุมชนเดิมจนกว่าอาคารหลังใหม่ในซอยหมอเหล็งจะสร้างเสร็จ มีการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวร่วมกับกลุ่มพีมูฟ (P-Move) และเครือข่าย โดยทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องเพื่อดำเนินการต่อในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 และมีแนวทางดำเนินงานออกมาว่าให้ รฟท. ออกสัญญาอนุญาตให้ชาวบ้านในชุมชนเช่าพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยในบริเวณเดิมไปก่อน

 

มิติชีวิตรายรอบชุมชน

พื้นที่บริเวณชุมชนบุญร่มไทร เป็นชุมชนแออัดตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่ไม่อาจมองเห็นได้จากการใช้รถใช้ถนน หากเราเดินสำรวจพื้นที่จะพบว่าชุมชนที่ทอดยาวประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรนี้อยู่ติดกับพื้นที่สำคัญหลายแห่ง

 

บริเวณทิศเหนือติดกับถนนศรีอยุธยา อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ส่วนงานราชการ อาคารสำนักงานของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง

 

ทิศตะวันออกติดกับถนนพญาไท มีสถานีรถไฟ รถไฟฟ้าบีทีเอส แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ คอนโดหรู และอาคารสำนักงาน

 

ทิศตะวันตกติดกับถนนพระรามที่ 6 บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางอุรุพงษ์และกรมทางหลวง

 

ในขณะที่ทิศใต้ติดกับเพชรบุรีซอย 5 และซอย 7 อันเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของผู้คน ที่ตั้งหอพักของนักเรียน-นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ

 

ชุมชนบุญร่มไทร

ผู้คนสัญจร ซื้อของกิน เครื่องดื่ม เพื่อผ่านไปยังปลายทางที่หลากหลาย คือวงจรที่เกิดขึ้นตลอดวันในชุมชนบุญร่มไทรท่ามกลางรอยต่อของการเดินทางหลายแบบ ทั้งถนน สถานีรถไฟฟ้า และจุดจอดรถไฟ

 

ปกติแล้วตลอดทั้งวันจะมีผู้คนจากหลายหลายสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการ พนักงาน นิสิตนักศึกษา ใช้พื้นที่นี้เป็นทางลัดเลาะเดินผ่านจากที่พักไปที่ทำงาน จากหอพักไปสถานศึกษา ทุกคนล้วนเดินผ่าน หยุดพัก แวะรับประทานอาหาร จับจ่ายใช้สอยบริเวณดังกล่าวอยู่เสมอ บ้างหยุดรอที่หน้าทางเข้าชุมชนซึ่งเป็นจุดจอดรถไฟ ก่อนกระโดดขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางต่อไปสู่ปลายทางของตน

 

พอถึงช่วงยามเย็นก่อนตะวันลาลับ ชุมชนแห่งนี้จะคึกคักขึ้นชั่วขณะ สืบเนื่องจากเส้นทางนี้เป็น ‘เส้นทางลัด’ จากแหล่งทำงานและสถานศึกษามุ่งตรงสู่ที่พักในพื้นที่เพชรบุรีซอย 5 และซอย 7 เพราะการเดินเลียบตามเส้นถนนพญาไทนั้นกินเวลาและพลังงานมากกว่าการตัดผ่านชุมชนบุญร่มไทรและทางรถไฟ

 

จนกลายเป็นภาพชินตาที่เห็นนักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียงเดินเตร็ดเตร่ พูดคุย ซื้อเครื่องดื่ม หรือนั่งเล่นริมทางรถไฟ นิสิตนักศึกษาเดินเป็นแถวยาวมุ่งตรงสู่หอพักใกล้เคียง คนวัยทำงานเดินผ่านเพื่อแวะซื้ออาหารจากร้านค้ามหาศาลที่กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณเพชรบุรีซอย 5 และซอย 7

 

ชุมชนบุญร่มไทร

นิสิตนักศึกษาเดินเป็นแถวยาวตัดผ่านชุมชนและทางรถไฟมุ่งตรงสู่หอพักบริเวณซอยเพชรบุรี 5 และเพชรบุรี 7 เป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในช่วงเย็นของทุกวัน


อย่างไรก็ตาม เฉกเช่นเดียวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคในทุกหนแห่ง เมื่อการพัฒนากำลังคืบคลานมาก็ย่อมมีบางสิ่งหายไป เมื่อโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงพาดผ่านพื้นที่ถนนพญาไท ชุมชนบุญร่มไทรแห่งนี้ก็กำลังเลือนไปตามกาลเวลาเช่นกัน

 

เรื่องเล่าผ่านสายตาผู้อยู่อาศัย

ขวัญจิต รื่นรมย์ หรือ ป้าเล็ก อายุ 72 ปี ชาวชุมชนบุญร่มไทร ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนมาแล้วกว่า 50 ปี เล่าย้อนอดีตว่าพื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง เมื่อครั้งที่ตนย้ายเข้ามาพื้นที่บริเวณดังกล่าวยังมีคนอยู่น้อยบ้านเรือนปลูกห่างกัน มีลักษณะเป็นคลองใสพาดผ่าน

“ไอ้ตรงที่ยืนอยู่เนี่ย แต่ก่อนก็เป็นคลอง น้ำใสเลย กระโดดเล่นได้ มีปลา มีอะไรเต็มไปหมด ฝั่งตรงข้ามนี่ก็เป็นป่ากล้วย แล้วคนก็เริ่มมา ก็ถางกันมาทำบ้านทำอะไร แต่ก่อนก็เอาไม้ เอาสังกะสีมาทำ คนก็เพิ่มมาเรื่อยๆ บางคนเริ่มหาที่ทางได้ก็เริ่มออกไป”

 

เวลาผู้คนสัญจรไปมาก็ค่อนข้างน่ากลัว เนื่องจากความเปลี่ยว ไร้ซึ่งแสงไฟสาธารณะ พอคนเข้ามาอยู่เยอะขึ้น เริ่มมีแสงไฟจากบ้านเรือน บรรยากาศก็เริ่มมีความความปลอดภัยมากขึ้น

 

ป้าเล็กเล่าต่อว่า “สมัยก่อนคนแถวนี้เขาก็มาจากหลายๆ ที่ บางคนก็มาจากต่างจังหวัด บางคนก็มาจากในกรุงเทพฯ นี่แหละ ป้าก็มาจากบางพลัด ย้ายมากับแม่ ก็มารับจ้าง มาขายของ แต่ก่อนคนแถวนี้ก็มาทำงานแถวนี้ ขายของรถเข็น ขายของกินให้พวกคนที่เขามาเที่ยวกันตรงเส้นเพชรบุรี ตรงพญาไท ตั้งร้านกันตั้งแต่บ่าย ปิดโน่น ตีสองตีสาม” 

 

ชุมชนบุญร่มไทร

ขวัญจิต รื่นรมย์ หรือ ป้าเล็ก อาศัยในบ้านขนาดเล็กริมทางรถไฟ เธออยู่กับหลานชายวัยรุ่นอีกหนึ่งคน ประตูทางเข้าขนาดเล็กที่ต้องย่อหัวลงก่อนย่างเท้าเข้าสู่บ้าน ถูกเขียนตัวเลขสีแดงหลังการสำรวจของ รฟท.

 

ป้าเล็กอธิบายให้เราเห็นภาพว่าชุมชนบุญร่มไทรเป็นชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่อื่นๆ โดยรอบ เพราะคนในชุมชนเองเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในย่านนี้

 

“คนในนี้ส่วนมากก็ขายของ ถ้าสมัยก่อนก็จะขายแถวเส้นเพชรบุรี บางคนก็ทำงานตามไนต์คลับ เดี๋ยวนี้ก็ทั่วไปหมด แถวพญาไท ศรีอยุธยา พระราม 6 ในตรงซอย 5 ซอย 7 (ถนนเพชรบุรีซอย 5 และซอย 7) แถบนี้ทั้งหมด พวกตึกอะไรที่มาสร้างบางคนเขาก็ไปเช่ามาทำหน้าร้าน เป็นแม่บ้านก็มี ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง”

 

ความร่วมใจเมื่อปัญหามาถึง

แม้ชุมชนบุญร่มไทรกำลังประสบปัญหาโดนไล่รื้อพื้นที่ แต่ในมุมหนึ่หลายๆ คนในชุมชนกลับสะท้อนว่า ระยะสามสี่ปีตั้งแต่มีข่าวเรื่องการไล่พื้นที่เกิดขึ้นในชุมชน กลับทำให้คนในชุมชนสามัคคีกันมากขึ้น

 

“ก่อนหน้านี้ มันก็ต่างคนต่างอยู่นะ แต่ละบ้านไม่ค่อยอะไรกัน แต่พอเขาจะไล่รื้อ พอตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาคนก็มาเจอกันบ่อยขึ้น เราประชุมกันเราก็ได้เจอหน้ากัน แล้วเราก็เริ่มสนิทกันขึ้น ทุกวันนี้ตอนเย็นก็มาทำกับข้าวกินกัน ทำแจกคนในกลุ่มให้มากินด้วยกัน มันก็อบอุ่นดี”

 

ชุมชนบุญร่มไทร

บรรยากาศคึกคักในช่วงเย็น รอบจุดรวมตัวในชุมชนบุญร่มไทร ผู้อยู่อาศัยจับกลุ่มสนทนา ปรึกษาปัญหาต่างๆ ไปจนถึงเฝ้ารออาหารที่กำลังถูกตระเตรียมเพื่อรับประทานร่วมกัน

 

นอกจากคนในชุมชนจะตกอยู่ใต้สถานการณ์โดนไล่รื้อพื้นที่ด้วยกันแล้ว สิ่งที่ทำให้คนในชุมชนบุญร่มไทรกลับมารวมตัวกันได้มากขึ้น คือช่วงวิกฤตการณ์โควิด ด้วยชุมชนบุญร่มไทรเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิดและความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐมาถึงช้า ทางชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนจึงได้พยายามช่วยเหลือกันเองรวมถึงช่วยเหลือชุมชนโดยรอบด้วย 

 

“หัวหน้า (เชาว์) เขาก็ไปคุยกับคนโน้นคนนี้ มารวมกลุ่มกันช่วยคนแถวนี้ ติดต่อหาคนมาพาคนที่ติดโควิดไป ทำกับข้าวแจกคนในชุมชน คนที่ซอย 5 ซอย 7 ที่เขาติดเขาไม่รู้จะไปไหนเขาก็มานี่ ตรงแดงบุหงา (ชุมชนแดงบุหงา) เขาก็มานี่ รวมๆ ได้ 700-800 คนมั้งที่เราไปช่วยติดต่อหาอะไรมาให้”

 

ป้าเล็กทิ้งท้ายกับเราในส่วนการขับไล่ชุมชนว่า

 

“มันก็ธรรมดาแหละ อยู่มาจนป่านนี้แล้ว อะไรๆ มันก็ต้องเปลี่ยนเป็นธรรมดา ผ่านมาหมดแล้ว” 

 

ชุมชนบุญร่มไทร

รถไฟทะยานพุ่งผ่านชุมชนบุญร่มไทรในยามค่ำคืน แสงสีขาวจากตัวรถไฟส่องสว่างชั่วขณะสั้นๆ ก่อนลับหายไป

 

คำบอกเล่าของป้าเล็กทำให้เราหวนคิดถึงคำนิยามของเชาว์ว่า ชุมชนบุญร่มไทรเปรียบเหมือน ‘บ้านนอกกลางเมือง’ เป็นบรรยากาศของชนบทที่อยู่ใจกลางเมืองหลวง คือพื้นที่ที่ขนาบด้วยความเจริญ ไม่ว่าจะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประตูน้ำ หรือสยาม

 

ซึ่งคนภายนอกที่เคยเดินผ่านไปมาอาจมองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งเสื่อมโทรม ไม่มีตัวตน ไม่มีคนเห็น หากแก่นแท้ของชุมชนแห่งนี้ คนในชุมชนต่างพึ่งพาอาศัยกัน สมาชิกรวมตัวกันรับประทานอาหารในช่วงเย็น พูดคุยสังสรรค์ และการเป็นประชาชนที่ถูกลืม อาจทำให้ใครหลายคนลืมหวนนึกไปว่าตนเองก็กำลังพึ่งพาคนในชุมชนแห่งนี้เพื่อดำรงชีวิตเช่นกัน เพราะชาวบุญร่มไทรคือผู้ผลิตอาหารราคาถูกออกขาย หรือจะเป็นอาหารแผงลอยอย่างลูกชิ้นหรือว่าไก่ทอด รวมไปถึงบริการวินมอเตอร์ไซค์ก็เป็นผลผลิตจากแรงงานภายในชุมชนเช่นเดียวกัน

 

‘สู้เพื่อชุมชน’ คนรุ่นใหม่กับการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัย

นอกจากผู้ใหญ่และคนวัยทำงานในชุมชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเพื่อที่อยู่อาศัยของตนแล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่เองก็ออกมาร่วมกันต่อสู้ด้วยเช่นกัน

 

ณดา พุทธรักษ์ หรือ น้ำหวาน เยาวชนอายุ 16 ปี อยู่ในชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่เกิดกับแม่ โดยคุณแม่ทำงานเป็นแม่บ้านและเพิ่งเกษียณออกมา เธอกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 นอกจากการทำงานนอกเวลาในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เธอยังช่วยทางกลุ่มชุมชนในการจัดการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องบุกรุก ขับไล่ และเรียกค่าเสียหายมาโดยตลอด   

 

เธอบอกเล่าถึงเรื่องราวความวิตกกังวลที่ได้ประสบมาตั้งแต่มีข่าวว่าบ้านของตนจะโดนไล่รื้อ

 

(หากโดนขับไล่) แล้วจะไปอยู่ไหน แล้วพอปีสองปีที่ผ่านมา เห็นน้าตี๋ (เชาว์) พยายามรวมคนในชุมชนให้ออกมาสู้ ก็เลยมาช่วยงานแก ช่วยกรอกเอกสาร เตรียมเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาต้องไปติดต่อหน่วยงานต่างๆ เวลาไปศาลก็รู้สึกว่าได้ทำเพื่อชุมชน” 

 

ชุมชนบุญร่มไทร

ณดา พุทธรักษ์ และแม่ของเธอ ในห้องนอนเล็กๆ ส่วนหน้าของบ้าน แม้ภายในจะมีห้องอีกห้อง แต่ก็ถือว่าเป็นบ้านขนาดเล็กเมื่อเทียบกับการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัว

 

“ตอนแรกก็ยังทำไม่ค่อยเป็น แต่มีเพื่อนสนิทที่อยู่แถวนี้แต่ไม่ได้อยู่ในชุมชน เขาเห็นว่าเราเดือดร้อน เขาก็อยากช่วยเพราะเขาก็ผูกพันกับตรงนี้ ก็เลยมาช่วยกัน เอกสารต่างๆ ก็มาเรียนมาทำพร้อมๆ กันกับเขา” น้ำหวานอธิบาย

 

เธอเล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้เธอเองก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่มีความฝันอื่นๆ แต่เมื่อมีเหตุการไล่รื้อเข้ามา ความฝันก็เริ่มเปลี่ยนไป

 

“จริงๆ หนูอยากทำงานเป็นไกด์ หรือเป็นแอร์โฮสเตส เพราะมันได้เที่ยว หนูไม่อยากทำงานอยู่ที่เดิมๆ แต่บางทีพอเห็นพวกพี่ๆ ที่ พอช. ที่มาทำงานช่วยชาวบ้าน หนูก็รู้สึกว่าทำแบบพวกพี่ๆ เขาก็ดีนะ ได้ช่วยเหลือคนในชุมชนด้วย ได้ทำเพื่อคนอื่นด้วย” 


น้ำหวานจบบทสนทนาด้วยสายตามุ่งมั่นว่า 

 

“คนทุกคนควรมีที่อยู่ เราควรต้องมีที่อยู่ เพราะตอนแรกเลยเขาบอกแค่ว่าจะให้เราออก แต่ไม่ได้บอกว่าจะให้ไปอยู่ไหน ก็มาทำตรงนี้เพื่อที่จะได้ที่อยู่ ที่ออกมาสู้ก็สู้เพื่อที่อยู่ สู้เพื่อชุมชน”

 

ชุมชนบุญร่มไทร

ชุมชนบุญร่มไทรหลังพระอาทิตย์ตกจมอยู่ในความมืดมิดของเมือง มีเพียงไฟส่องสว่างไม่กี่ดวง รายรอบด้วยแนวต้นไม้ เงามืดของเมืองซึ่งเห็นแสงสว่างไกลๆ จากตึกสูงล้อมรอบ

 

สำหรับข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการขับไล่ของ รฟท. และทางชุมชนบุญร่มไทรได้ข้อยุติไปบางส่วนแล้ว เช่น รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับราคาของที่พักอาศัยแห่งใหม่ โดยทางการเคหะแห่งชาติจะสร้างอาหารหลังใหม่ให้ชาวชุมชน บริเวณซอยหมอเหล็งและบึงมักกะสัน เป็นตึกสูงขนาดห้องละ 30-40 ตารางเมตร ตั้งราคากลางไว้ที่ 18,000 ต่อตารางเมตร 

 

โดยราคาห้องชุดเมื่อแล้วเสร็จจะตกอยู่ที่ห้องละ 540,000-720,000 บาท หรือหากผ่อนชำระเป็นเวลา 20 ปี จะอยู่ในอัตราเดือนละ 2,250-3,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย

 

ทางรัฐบาลตกลงให้ความช่วยเหลือ 160,000 บาทต่อครัวเรือน แต่ยังไม่ได้มีระบุรูปแบบว่าจะเป็นการลดราคาหน้าสัญญาหรือแบ่งช่วยผ่อนชำระเป็นรายเดือน

 

ชาวบ้านที่กังวลประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนในส่วนของเงินช่วยเหลือของรัฐบาล ประกอบกับอัตราผ่อนชำระเดือนละประมาณ 3,000 บาทนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปสำหรับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือนที่มีรายรับประมาณ 10,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ชาวบ้านจึงยื่นขอให้ยืดระยะเวลาผ่อนชำระเป็น 30-40 ปี 

 

เรื่องราวที่ต้องติดตามตอนต่อไป

ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงอีกหลายประเด็นก็ยังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 

ประเด็นแรกคือแม้มีการหารือกับทางสำนักเลขานายกรัฐมนตรีในเรื่องการใช้พื้นที่เดิมจนกว่าอาคารหลังใหม่จะสร้างเสร็จ ณ ปัจจุบัน รฟท. ยังคงยึด ‘เส้นตาย’ แจ้งว่าให้คนในชุมชนต้องย้ายออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เช่นเดิม

 

ประเด็นที่สองที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นแรก คือนอกจาก รฟท. ยังยึดกำหนดการขับไล่เดิม ในส่วนของสัญญาเช่าพื้นที่จาก รฟท. ก็ยังเดินทางมาไม่ถึงเสียที 

 

ทั้งที่ในช่วงต้นของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทางรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งให้ทาง รฟท. ร่างสัญญาเช่าพื้นที่สำหรับคนในชุมชน เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างที่อาคารหลังใหม่กำลังสร้าง แต่จนถึงขณะนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2565) สัญญาเช่าฉบับนั้นก็ยังไม่มาถึงมือของคนในชุมชน

 

ประเด็นที่สามคือปัญหาเรื่องคดีความในส่วนของการขับไล่และรื้อถอนที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการบันทึกต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรในการแก้ไขปัญหาเป็นที่เรียบร้อย ในส่วนของประเด็นคดีความมีการระบุเพียงแค่ให้ รฟท. ‘ยืดหยุ่น’ การบังคับคดี และในความเป็นจริง รฟท. ก็ยังคงพยายามใช้กฎหมายเพื่อให้ชาวชุมชนบุญร่มไทรออกจากพื้นที่อยู่เช่นเดิม

 

จึงน่าจับตาว่านับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม ประเด็นที่ต้องจับตาเหล่านี้จะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ข้อตกลงที่จะให้มีการเช่าพื้นที่ไปก่อนในระหว่างที่รอการเคหะแห่งชาติสร้างอาคารที่อยู่อาศัยจนแล้วเสร็จ จะเป็นจริงดั่งที่ได้ยืนยันรับปากกับชาวชุมชนไว้หรือไม่ ทิศทางในเรื่องคดีความระหว่างทั้งสองฝ่ายจะเป็นอย่างไร

 

และไม่ใช่เพียงปัญหาข้างต้นเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการติดตามความชัดเจน อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือภายหลังจากนี้จะมีเรื่อง ‘นอกข้อตกลง’ ปรากฏขึ้นอีกหรือไม่

 

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องย้ำเตือนคือชุมชนบุญร่มไทรไม่ใช่ประชาชนกลุ่มเดียวที่เผชิญกับข้อพิพาทระหว่างเรื่องการขับไล่จากทางรัฐ ที่ไม่เคยมีการเข้ามาดูแลในเรื่องกรรมสิทธิ์อย่างจริงจังกับผู้อยู่อาศัยที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ ในเวลานี้ยังมีชุมชนอีกจำนวนมาก เช่น ชุมชนพัฒนา กม.11 และชุมชนมักกะสัน ซึ่งตกอยู่ใต้สถานการณ์ที่รัฐบีบให้ชุมชนคนจนเมืองโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม โดยไร้หลักรับประกันเรื่องที่พักพิงแห่งใหม่เช่นกัน

พระอาทิตย์ยามอัสดงคล้อยลงจนพื้นที่ชุมชนบุญร่มไทรถูกกลืนไปกับความมืดมิดไม่ต่างจากทุกวัน ผู้คนต่างหลับไหลก่อนที่แสงยามรุ่งอรุณจะเดินทางมาถึงอีกครั้งในวันต่อไป สมาชิกในชุมชนต่างขยับเคลื่อนย้ายเพื่อประกอบอาชีพของตนเอง เป็นวินคอยรับส่ง เป็นแม่บ้าน เป็นคนขายอาหารที่คอยบรรเทาความหิวโหยของคนในพื้นที่ เป็นฟันเฟืองที่คอยขับเคลื่อน ‘เมือง’ ไปพร้อมกับการต่อสู้เพื่อ ‘บ้าน’ ของตนเอง ซึ่งพวกเขายังคงรอคอยแสงตะวันของการรักษาสัญญาที่ริมทางรถไฟ

FYI

สรุปช่วงเวลาข้อพิพาท การรถไฟแห่งประเทศไทยกับชุมชนบุญร่มไทร

 

  • 27 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีมติเห็นชอบในหลักการเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
  • 24 ตุลาคม 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (ปัจจุบันชื่อบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) เพื่อพัฒนาและก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง
  • 3 มกราคม 2563 รฟท. ปิดประกาศบ้านเรือนบริเวณชุมชนบุญร่มไทรให้ย้ายออกภายใน 6 เดือน
  • 4 มกราคม 2563 รฟท. พร้อมตำรวจรถไฟ ลงพื้นที่ชุมชนบุญร่มไทร ขอบัตรประชาชนเพื่อเก็บรายชื่อผู้อยู่อาศัยและทำสัญลักษณ์บ้านเรือนที่ต้องรื้อถอน
  • กุมภาพันธ์ 2563 ชาวชุมชนบุญร่มไทร ประชุมหารือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อหาทางออก ที่สำนักงานเขตราชเทวี และตั้งเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.)
  • ธันวาคม 2563 ชมฟ. และองค์กรเครือข่ายประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟ เพื่อจัดสรรที่ดินสำหรับก่อนสร้างที่อยู่ใหม่ให้กับคนในชุมชน
  • 9 มีนาคม 2564 เอกสารฟ้องคดีบุกรุก ขับไล่ และรื้อถอนจำนวนหนึ่งส่งมายังชุมชนบุญร่มไทร เพื่อให้ย้ายออกและเรียกค่าเสียหายย้อนหลังจากการบุกรุก
  • 9 กันยายน 2564 ชมฟ. และองค์กรเครือข่าย ประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการเคหะแห่งชาติ โดยมีมติให้ก่อสร้างอาคารให้เป็นที่อยู่แก่คนในชุมชน บนที่ดินของ รฟท. บริเวณซอยหมอเหล็งและบึงมักกะสัน
  • ธันวาคม 2564 รฟท. แจ้งมายังชุมชนให้เร่งย้ายออกโดยเร็วที่สุด
  • 31 มกราคม 2565 ชมฟ. ร่วมกับกลุ่มพีมูฟ (P-Move) ยื่นแนวทางแก้ปัญหาต่อสำนักเลขาฯ ครม.โดยขอให้ รฟท. ให้เช่าพื้นที่อยู่อาศัยเดิมไปก่อนจนกว่าอาคารของการเคหะจะแล้วเสร็จ
  • 2 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักเลขาฯ ครม. รับแนวทางแก้ปัญหาไปศึกษาและหารือกันต่อ มีการออกเอกสารแนวทางปฏิบัติงานให้กับทาง รฟท. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับไล่ชุมชนในหลายประเด็น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising