นับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบในหลักการเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในอภิมหาโปรเจกต์ยักษ์ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่าง ‘โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก’ หรือ Eastern Economic Corridor (EEC)
ต่อมาได้มีการลงนามสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัทเอกชนอย่าง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด สำหรับดำเนินการก่อสร้างเส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางการขนส่งใต้โครงการ EEC นี้
ทว่าใต้โครงการการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ กลับมีคนจนเมืองตัวเล็กจำนวนมหาศาลกำลังตกอยู่ใต้ปัญหาใหญ่อย่างการถูกขับไล่ออกจากพื้นที่อยู่อาศัยของตนริมทางรถไฟ หลังจากที่คนจนเมืองเหล่านี้ได้เข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่นานหลายสิบปี โดย รฟท. เองก็ได้ปล่อยปละละเลยพื้นที่ของตนเป็นเวลานาน
ปัจจุบันทาง รฟท. ได้ทำการสำรวจเส้นทางการเดินรถไฟความเร็วสูง และเริ่มทำการไล่รื้อชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เส้นทางดังกล่าวพาดผ่าน จนเกิดเป็นข้อพิพาทกับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เมื่อถึงเวลาที่ต้องการดึงพื้นที่เหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์
ชุมชนบุญร่มไทรเป็นหนึ่งในชุมชนริมทางรถไฟรอบกรุงเทพฯ ที่ รฟท. ได้เริ่มปฏิบัติการขับไล่และรื้อถอนที่พักอาศัยผ่านการฟ้องคดีทางกฎหมาย ก่อให้เกิดข้อพิพาทจากกระบวนการดำเนินงานของ รฟท. ที่มีแนวโน้มแข็งกร้าวและไม่ซื่อตรงในการปฏิบัติงานกับคนจนเมืองเหล่านี้
เพราะในขณะที่ผู้อยู่อาศัยพร้อมที่จะย้ายออก แต่คนจนเมืองเหล่านี้ล้วนมีข้อจำกัดในชีวิต ทั้งค่าครองชีพ ต้นทุนด้านที่อยู่อาศัย ไปจนถึงแหล่งงาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจบริบทดังกล่าว
อ่านต่อได้ที่:
ชุมชนบุญร่มไทรเป็นชุมชนที่ทอดตัวอยู่ริมทางรถไฟ ตั้งอยู่ระหว่างถนนพญาไทไปจนถึงถนนพระรามที่ 6 รายรอบชุมชนมีสถานีรถไฟ, รถไฟฟ้าบีทีเอส, แอร์พอร์ต เรล ลิงก์, คอนโดหรู และอาคารสำนักงาน ตลอดจนเพชรบุรีซอย 5 และซอย 7 อันเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของผู้คน ที่ตั้งหอพักของนักเรียน-นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ
ผู้คนสัญจร ซื้อของกิน เครื่องดื่ม เพื่อผ่านไปยังปลายทางที่หลากหลาย คือวงจรที่เกิดขึ้นตลอดวันในชุมชนบุญร่มไทรท่ามกลางรอยต่อของการเดินทางหลายแบบ ทั้งถนน สถานีรถไฟฟ้า และจุดจอดรถไฟ
พอถึงช่วงยามเย็นก่อนตะวันลาลับ ชุมชนแห่งนี้จะคึกคักขึ้นชั่วขณะ สืบเนื่องจากเส้นทางนี้เป็น ‘เส้นทางลัด’ จากแหล่งทำงานและสถานศึกษามุ่งตรงสู่ที่พักในพื้นที่เพชรบุรีซอย 5 และซอย 7 เพราะการเดินเลียบตามเส้นถนนพญาไทนั้นกินเวลาและพลังงานมากกว่าการตัดผ่านชุมชนบุญร่มไทรและทางรถไฟ
ป้ายผ้าแสดงเจตจำนงของผู้อยู่อาศัยชุมชนบุญร่มไทรถูกแขวนไว้หน้าบ้านหลายหลัง เพื่อแสดงถึงความคิดเห็นของพวกเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หลังเกิดข้อพิพาทกับ รฟท. เช่น เอกสารฟ้องคดีขับไล่ที่ปรากฏชื่อโจทก์คือ รฟท. โดย รฟท. เคยทำการรวบรวมข้อมูลของผู้อยู่อาศัยในชุมชนผ่านการแจ้งว่าขอบัตรประชาชนเพื่อสำรวจจำนวนผู้อยู่อาศัย และจะมีจ่ายค่าชดเชยสำหรับการย้ายชุมชน
ไม่ใช่เพียงที่ซุกหัวนอน แต่พื้นที่นี้กลับเต็มไปด้วยชีวิตและเรื่องราวของผู้คนหลากหลายวัยที่เติบโตและอยู่อาศัยเลียบไปกับริมทางรถไฟ
นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2563 เจ้าหน้าที่ รฟท. พร้อมตำรวจรถไฟ แจ้งกับคนในชุมชนว่าทาง รฟท. มีโครงการจะสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่าง 3 สนามบิน จึงมีความจำเป็นต้องให้คนในชุมชนย้ายออก เจ้าหน้าที่ได้ทำการพ่นตัวอักษร มส. พร้อมตัวเลขบนบ้านทุกหลังในชุมชนแทนเครื่องหมายว่าเป็นบ้านเรือนที่ต้องรื้อถอน
ณดา พุทธรักษ์ และแม่ของเธอ ในห้องนอนเล็กๆ ส่วนหน้าของบ้าน แม้ภายในจะมีห้องอีกห้องแต่ก็ถือว่าเป็นบ้านขนาดเล็กเมื่อเทียบกับการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัว เธอเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี อยู่ในชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่เกิดกับแม่ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 นอกจากการทำงานนอกเวลาในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เธอยังช่วยทางกลุ่มชุมชนในการจัดการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องบุกรุก ขับไล่ และเรียกค่าเสียหายมาโดยตลอด
บรรยากาศคึกคักกลางแสงไฟไม่กี่ดวงในช่วงเย็น ณ บริเวณจุดรวมตัวในชุมชนบุญร่มไทร ผู้อยู่อาศัยจับกลุ่มสนทนา ปรึกษาปัญหาต่างๆ ไปจนถึงเฝ้ารออาหารที่กำลังถูกตระเตรียมเพื่อรับประทานร่วมกัน
ชุมชนบุญร่มไทรหลังพระอาทิตย์ตก ชุมชนแห่งนี้รายรอบด้วยแนวต้นไม้เล็กและใหญ่สลับกันไป โดยมีตึกสูงขนาบทั้งฟากซ้ายและขวาไม่ต่างจากกำแพงกั้นอีกชั้น ภายหลังจากสิ้นแสงสุดท้ายของวัน พื้นที่บริเวณชุมชนบุญร่มไทรจะถูกกลืนหายไปเป็นส่วนหนึ่งของความมืดมิด เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องไฟฟ้า ดังจะเห็นได้ว่าตลอดเส้นทางที่ทอดยาวประมาณ 1 กิโลเมตรของชุมชน จะมีเพียงไฟส่องสว่างไม่กี่ดวงในยามค่ำคืน