×

10 หนังสือ ‘เพื่อชีวิต (ที่ดีกว่า)’ อ่านแล้วอยากชวนมาพัฒนาตนเองและโลกไปพร้อมๆ กัน

07.10.2019
  • LOADING...
มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

มหกรรมสัปดาห์หนังสือที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาเก็บหอมรอมริบรอคอยเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ต่อเนื่องไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2562 กับครั้งแรกในปีนี้ที่จัดขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่เหล่านักเขียนและนักแปลต่างออกหนังสือใหม่ให้สมความยิ่งใหญ่ของสถานที่จัดงาน 

 

หากใครยังไม่มีแผนไปไหน เราอยากชวนคุณไปเดินงานหนังสือด้วยกัน แต่ถ้าอิมแพ็คมันกว้างไป มีหนังสือละลานตาให้เลือกไม่หวาดไม่ไหว เราจึงขอคัดสรรหนังสือออกใหม่ที่น่าสนใจในงานปีนี้ ‘เพื่อชีวิต (ที่ดีกว่า)’ เพราะเราอยากชวนคุณมาพัฒนาตนเองและโลกรอบตัวไปพร้อมๆ กัน 

 

ส่วนจะมีเล่มไหนเข้าตาน่าสอยมาอ่านบ้างนั้น ไปดูกันเลย!

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

1. โฮโมดีอุส: ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้ (Homo Deus: A Brief History of Tomorrow)

ผู้เขียน: ยูวัล โนอาห์ แฮรารี

ผู้แปล: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และธิดา จงนิรามัยสถิต 

สำนักพิมพ์: ยิปซี

 

ดาวเด่นของงานคงเป็นเล่มไหนไปไม่ได้นอกจากเล่มนี้ ‘โฮโมดีอุส: ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้’ หนังสือไตรภาคเล่มสุดท้ายของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ที่ทั้งตั้งคำถามและตอบคำถามต่อจากหนังสือ 2 เล่มแรกของเขา ‘เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ’ และ ‘21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21’ จากคำถามในเล่มแรกว่ามนุษย์เรามาสู่จุดนี้ได้อย่างไร ในเล่มสุดท้ายนี้แฮรารีชวนตั้งคำถามต่ออีกครั้งว่าเราจะไปไหนกันต่อ และที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะไปกันอย่างไร ในวันที่สิ่งประดิษฐ์ที่เราสร้างมากลายเป็นปัจจัยที่ห้า มนุษย์จะเหลือคุณค่าอะไรในการดำรงอยู่ คำถามสำคัญที่แฮรารีตั้งคำถามไว้ในหนังสือ 3 เล่มของเขาผ่านทั้งประวัติความเป็นมาทั้งหมดของเผ่าพันธุ์มนุษย์และอนาคตของโลก ที่ทำให้อาจเรียกได้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงหนังสือเด่นควรแนะนำประจำงาน แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังสือตำนานแห่งศตวรรษที่ 21 ที่อยากชวนให้ทุกคนได้มาอ่านกัน

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

2. โลกสามศูนย์ (A World of Three Zeros)

ผู้เขียน: มูฮัมหมัด ยูนุส 

ผู้แปล: ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์  

สำนักพิมพ์: มติชน

 

หนังสือว่าด้วยโลกอนาคตกันอีกสักเล่ม แต่เล่มนี้เป็นโลกอนาคตที่ผู้เขียน มูฮัมหมัด ยูนุส อยากชวนมาร่วมหาทางแก้ไขเพื่อไปสู่อนาคตที่เราปรารถนาด้วยแนวทาง ‘สามศูนย์’ ได้แก่ ความยากจนเป็นศูนย์ ภาวะว่างงานเป็นศูนย์ และมลภาวะเป็นศูนย์ ด้วยวิธีการ ‘ธุรกิจเชิงสังคม’ ที่เป็นแนวคิดหลักที่ยูนุสได้ฝากไว้ตั้งแต่หนังสือเล่มก่อนที่สร้างชื่อให้เขา (นายธนาคารเพื่อคนจน และ สร้างโลกไร้จน) ที่เชื่อว่าธุรกิจเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้โลกสามศูนย์เป็นจริงขึ้นมาได้

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

3. Super Productive 

ผู้เขียน: รวิศ หาญอุตสาหะ 

สำนักพิมพ์: KOOB

 

ทอล์กโชว์ Super Productive จบไปแล้ว แต่ความโปรดักทีฟยังไม่จบ กับหนังสือเล่มที่ 7 ของ รวิศ หาญอุตสาหะ นักเขียน นักธุรกิจ นักจัดพอดแคสต์ และอีกหลายบทบาทที่ผู้ชายคนนี้ทำได้และทำได้ดี จนกลายเป็นไอดอลสายขยันให้ใครๆ หันมาใช้ชีวิตเต็มที่แบบเขาไปตามๆ กัน หากใครพลาดทอล์กโชว์ครั้งแรกของเขาไปก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเนื้อหาทั้งจากเคสต่างประเทศและประสบการณ์ตรงที่รวิศได้รวบรวมไว้ให้แล้วในหนังสือเล่มนี้ ที่จะช่วยให้คุณเป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดของตัวเองด้วยการดึงศักยภาพสูงสุดของคุณออกมา ผ่านการจัดการตัวเอง งาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ที่อ่านแล้วใครไม่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนี่ต้องถือว่าใจแข็งมาก บอกเลย!

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

4. เราทำงาน อย่าปล่อยให้งานทำเรา (In Praise of Wasting Time)

ผู้เขียน: อลัน ไลต์แมน 

ผู้แปล: โตมร ศุขปรีชา 

สำนักพิมพ์: SALT

 

โลกอนาคตก็แล้ว ซูเปอร์โปรดักทีฟก็แล้ว ดูเหมือนใครๆ จะอยากชวนให้ลุกขึ้นมาขยันเปลี่ยนโลกกันไปเสียหมด ก่อนจะไฟลุกกันไปมากกว่านี้ หนังสือแนะนำเล่มที่ 4 อยากชวนมาเปลี่ยนเกียร์ เหยียบเบรกกับหนังสือแปลเล่มล่าสุด ‘เราทำงาน อย่าปล่อยให้งานทำเรา’ ที่ตั้งคำถามอย่างสุดๆ กับวาทกรรม ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง อย่าปล่อยให้ผ่านไปอย่างเดียวดาย’ ที่ตอบสนองสอดรับได้ดีกับระบบทุนนิยมที่ผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆ กันไม่จบไม่สิ้น การทำมากกลายเป็นคุณค่าที่คนต่างบูชา จนการนั่งนิ่งๆ เฉื่อยๆ เฉยๆ ปล่อยเวลาผ่านไปเรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องของคนขี้เกียจ เป็นสิ่งที่ไม่น่าสรรเสริญ ควรถูกตำหนิ แต่หนังสือเล่มนี้จะมาเล่าเรื่องผู้ประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์โลกมาแล้ว ล้วนแต่เป็นผู้ที่ ‘หยุด’ นิ่ง เฉย ว่างในกิจการต่างๆ มากเพียงพอจนสามารถสร้างสรรค์ได้จากการ ‘หยุด’ ได้เช่นกัน

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

5. เราทำงานแล้วได้อะไร (Payoff)

ผู้เขียน: แดน อารีลีย์ 

ผู้แปล: สฤณี อาชวานันทกุล 

สำนักพิมพ์: SALT

 

ในวันที่การทำงานไม่ได้เป็นแค่การกระทำ แต่แทบจะเป็นสิ่งที่เรานิยามตัวเองกันไปแล้ว แดน อารีลีย์ ตั้งคำถามกวนๆ (แต่ถามจริง) ชวนหาคำตอบผ่านการทดลองว่า ‘เราทำงานไปทำไม’ และหากไม่ใช่เพื่อเงินแล้ว ยังเหลือเหตุผลอะไรอื่นอีกไหมที่เราจะตื่นไปทำงาน ออกแรง ปวดหัว หรือแม้กระทั่งปวดใจไปกับสิ่งนี้เกือบครึ่งหนึ่งของเวลาตื่น (ถ้าไม่มากกว่านั้น) หนังสือกึ่งจิตวิทยากึ่งเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เข้าใจง่าย เล่าสนุก ผ่านการทดลองชวนคิดต่างๆ ตามแนวทางของอารีลีย์ เพื่อชวนหาแรงจูงใจในการทำงานให้ทั้งตัวเราเองและผู้อื่นที่เราต้องร่วมงานด้วยไปพร้อมกัน

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

6. วาระสุดท้าย: คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง (Advice for Future Corpses (And Those Who Love Them): A Practical Perspective on Death and Dying)

ผู้เขียน: แซลลี ทิสเดล 

ผู้แปล: ดลพร รุจิรวงศ์ 

สำนักพิมพ์: Bookscape

 

พูดถึงความหมายของการทำงานไปแล้ว อะไรจะพูดถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ได้ดีไปกว่าการพูดถึงความตาย ความตายเป็นคำพูดที่เอ่ยขึ้นมาแล้วหลายคนอาจส่ายหน้า หวาดกลัว ไม่ควรเอ่ยถึง เพราะกลัวจะเป็นลางร้าย แต่การไม่พูดถึงความตายหรือปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ามันนั่นแหละที่ทำให้ใจแตกสลายเมื่อความตายมาถึง ‘วาระสุดท้าย: คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง’ หนังสือว่าด้วยเรื่องการเตรียมพร้อมรับความตาย โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องดูแลคนที่รักในวาระสุดท้ายของชีวิต หนังสือเล่มที่พูดถึงความตายแบบไม่เศร้า ไม่น่ากลัว ไม่หดหู่ใจ และเปลี่ยนความคิดที่เราต่างเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องเลือกไม่ได้ว่าไม่จริง ความจริงคือเราไม่เคยเตรียมตัวรับมือกับความตายต่างหาก

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

7. ปีแสง

ผู้เขียน: ดุจดาว วัฒนปกรณ์

สำนักพิมพ์: a book

 

หนังสือเล่มแรกของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เจ้าของพอดแคสต์ R U OK? นักบำบัดจิตด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ (Empathic Communication) ที่จะมาเปิดเปลือยชีวิตตัวเธออย่างหมดเปลือก เผยให้เห็นความหมายที่แท้จริงของการเห็นอกเห็นใจที่เริ่มได้จากการยอมรับในทุกด้านความเป็นมนุษย์ของตนเอง

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

8. Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร?

ผู้เขียน: พริษฐ์ วัชรสินธุ 

สำนักพิมพ์: บันลือบุ๊คส์

 

หนังสือเล่มแรกของ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ถึงแม้จะหายไปจากเวทีการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าความสนใจในการเมืองของเขาไม่เคยหายไปไหน และ ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศไทยที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะทำให้เขาอยากสื่อสารเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วยซ้ำ


ด้วยความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่า Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’ ที่เขาได้รวบรวมคำตอบไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยหลายคำถามที่คนสงสัยเกี่ยวกับประชาธิปไตย เช่น เรายังเป็นประชาธิปไตยอยู่ไหม ถ้าคนทั้งประเทศโหวตไม่เอาประชาธิปไตย, ถ้าเราไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เรามีสิทธิบ่นไหม, ไดโนเสาร์กับเด็กเมื่อวานซืน ควรอยู่ร่วมกันอย่างไร ฯลฯ กับคำอธิบายเข้าใจง่าย มีทฤษฎีประกอบความเข้าใจ ผ่านการยกตัวอย่างใกล้ตัวเพื่อให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นไปได้และเป็นเรื่องของทุกคน – ตามที่มันควรจะเป็นจริงๆ

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

9. วิชาสารคดี

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 

สำนักพิมพ์: สารคดี

 

Content is king. ในยุคที่คอนเทนต์เป็นหัวใจของการสื่อสารไม่ว่าจะในวงการไหน แต่หัวใจของคอนเทนต์นั้นทำอย่างไร ต้องผ่านมุมมองอย่างไร มีหลักการทั้งในการเล่า การเคารพเรื่องที่จะเล่า และเล่าออกมาอย่างไร คงไม่มีใครที่จะตอบได้ดีไปกว่าผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำสิ่งนี้มาตลอดแทบทั้งชีวิต ‘วิชาสารคดี’ หนังสือว่าด้วยหลักการและวิธีเขียนวรรณกรรมแนวสารคดีจากประสบการณ์ของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดีน้ำดี การันตีด้วยรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง ปี 2560 ผู้คร่ำหวอดในวงการสารคดีมานานกว่า 20 ปี มีผลงานมากมายทั้งในรูปแบบหนังสือหรือนิตยสารสารคดีที่การันตีคุณภาพต่อเนื่องของเขา 

 

มหกรรมสัปดาห์หนังสือ

 

10. สิ่งสำคัญของหัวใจ

ผู้เขียน: นิ้วกลม 

สำนักพิมพ์: KOOB

 

เล่มสุดท้ายจากอีกหนึ่งเจ้าของพอดแคสต์ยอดฮิต ‘ความสุขโดยสังเกต’ ที่ นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ดูจะให้ความสนใจมาโดยตลอด พาเราไปทบทวนโลกภายนอกผ่าน ‘สิ่งสำคัญของชีวิต’ หนังสือในซีรีส์เดียวกันและหนังสืออีกหลายเล่มของเขา เล่มนี้ต่างออกไป นิ้วกลมชวนพาเดินทางภายในเพื่อค้นหา ‘สิ่งสำคัญของหัวใจ’ พิเศษมากไปกว่านั้นตรงที่เขาไม่ได้ออกเดินทางคนเดียวในครั้งนี้ แต่ยังชวน ประมวล เพ็งจันทร์ เป็นผู้ร่วมเดินทางผ่านบทสนทนาอุ่นๆ ถ้อยคำเรียบง่าย แต่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของหัวใจในการมีชีวิตที่สงบเย็นเป็นสุข ในวันที่โลกหมุนเร็ว มนุษย์ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของตัวเอง มุ่งมั่นทำงานเพื่อแข่งให้ทันกับอนาคต หนังสือเล่มนี้จะทำให้เห็นว่าความสุขที่แท้นั้นอยู่ไม่ไกล แต่อยู่ตรงนี้ ตอนนี้ ที่นี่ ในหัวใจของเราทุกคน

 

ภาพ: Courtesy of Brands 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X