×

บงจุนโฮ คนบ้าหนัง สังคมวิทยา ปัญหาชนชั้น และรางวัลออสการ์ที่อยู่แค่เอื้อม

07.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • บงจุนโฮ ชอบดูหนังทุกประเภท ทุกสัญชาติมาตั้งแต่เด็ก เขามีความฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่ต้องเรียนต่อระดับปริญญาตรีสาขาสังคมวิทยาตามความต้องการของพ่อแม่
  • พื้นฐานจากวิชาสังคมวิทยา กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญที่บงจุนโฮนำมาสร้างหนังเสียดสีสะท้อนสังคม และปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านคนตัวเล็กๆ ที่กลายเป็นลายเซ็นของเขาในเวลาต่อมา
  • ถึงแม้บงจุนโฮจะชอบพูดถึงประเด็นหนักๆ ที่อาจดูยากสำหรับหลายคน แต่เขาคือหนึ่งในเจ้าพ่อหนังทำเงินของเกาหลีที่มีผลงาน 4 เรื่องอยู่ในลิสต์รายได้สูงสุด และมี Parasite เป็นอันดับ 1 ของหนังเกาหลีทั้งหมด
  • Parasite กำลังลุ้นสร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

“เมื่อข้ามกำแพงสูงหนึ่งนิ้วที่เรียกว่าซับไตเติลได้ คุณจะพบกับความมหัศจรรย์อีกมากมายของภาพยนตร์” 

 

คือคำพูดสั้นๆ ที่ฟังดูอาจหาญ ฮึกเหิม ชี้ชวนกระตุ้นคนดู (หรืออาจจะรวมไปถึงคณะกรรมการออสการ์ 2020) ที่ บงจุนโฮ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีขึ้นไปกล่าวในวันที่ Parasite ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 7 ของเขาได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ จาก Golden Globes 2020 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

 

และกำลังจะลุ้นสร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังจากเกาหลีเรื่องแรกที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 6 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, ออกแบบการสร้างยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เป็นรางวัลใหญ่สุด 

 

ที่สำคัญคือในทุกๆ สาขา Parasite คือ ‘ตัวเต็ง’ ที่มีสิทธิ์ลุ้นทุกรางวัล ไม่ใช่ภาพยนตร์ไม้ประดับ หรือ ‘ม้ามืด’ นอกสายตาแต่อย่างใด

 

THE STANDARD POP ขอพาทุกคนย้อนกลับไปทำความรู้จักกับผู้กำกับที่กำลังถูกสปอตไลต์ส่องไฟไปหามากที่สุดในเวลานี้ เพื่ออุ่นเครื่องก่อนที่จะไปลุ้นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่จะประกาศในช่วงเช้าวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ 

 

 

เด็กบ้าหนังและนักศึกษาสังคมวิทยา 

บงจุนโฮ เกิดที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 14 กันยายน 1969 เป็นเด็กชายที่มักจะใช้ช่วงเวลาหลังจากที่คนในครอบครัวนอนหลับไปกับการดูภาพยนตร์ผ่านทางโทรทัศน์ (คุณแม่ไม่ค่อยยอมพาเขาไปดูในโรงภาพยนตร์ เพราะกลัวแบคทีเรีย) โดยเฉพาะในคืนวันศุกร์และเสาร์ ค่อยๆ สะสมความรัก ความบ้าคลั่ง ในการดูหนังมาเรื่อยๆ 

 

เขาดูหนังทุกประเภท ทุกสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นของสตูดิโอใหญ่หรือหนังทุนต่ำที่หลายคนเรียกว่าเกรด B หรือ C โดยมี อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ผู้กำกับ เป็นแรงบันดาลใจสูงสุด โดยเฉพาะเรื่อง Psycho (1960) ที่บงจุนโฮยกให้เป็นภาพยนตร์ที่เอามาดูซ้ำมากที่สุดในชีวิต 

 

บงจุนโฮสะสมความรักและความฝันที่อยากเป็นผู้กำกับไว้เต็มกระเป๋าตั้งแต่ช่วงมัธยม เขาอยากเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยสาขาภาพยนตร์ใจจะขาด แต่ก็ไม่อาจขัดความต้องการของพ่อและแม่ ที่ไม่อยากให้ลูกเรียนในสาขาที่ (ในเวลานั้น) ถูกมองว่าไม่เป็นศิลปะมากเพียงพอ

 

เขาเลยเลือกเรียนต่อในสาขาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยยอนเซเพื่อความสบายใจของพ่อแม่ และทำตามใจตัวเองด้วยการเข้าเรียนต่ออีก 2 ปีที่ Korean Academy of Film Arts ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มต้นก้าวแรกในฐานะฟิล์มเมกเกอร์จากผลงานภาพยนตร์สั้นถึง 3 เรื่อง (Baeksekin, Incoherence และ ‎Memories in My Frame) และเก็บประสบการณ์จากการเป็นคนเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับเป็นเวลา 6 ปี

 

ถึงแม้จะไม่ได้เริ่มเรียนภาพยนตร์ตั้งแต่แรกอย่างที่หวัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่กับนักคิด นักเขียน นักกิจกรรมทางสังคม การเมือง ฯลฯ นี่เองที่ช่วยหล่อหลอมทัศนคติและมุมมองทางสังคมอันแหลมคมที่เขาเก็บสะสมและนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ จนกลายเป็น ‘ลายเซ็น’ สำคัญติดตัวเขามาตั้งแต่มีโอกาสทำหนังยาวเรื่องแรกในปี 2000 

 

ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ชนชั้น และหนังทั้ง 7 เรื่อง 

 

 

Barking Dogs Never Bite (2000) คือผลงานเปิดตัวที่เต็มไปด้วยความตลกร้าย เสียดสี สุดปั่นป่วน ที่บงจุนโฮนำเสนอเรื่องราวของชายหนุ่มที่จิตแทบหลุดเพราะต้องทนฟังเสียงเห่าของหมู่มวลน้องหมาที่มีคนแอบเอามาเลี้ยงในอพาร์ตเมนต์ แถมภรรยาท้องแก่ของเขาดันไปซื้อหมาพุดเดิลจอมเห่ามาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาช่วงลาคลอดเสียอย่างนั้น แค่นี้เคราะห์กรรมยังซัดไม่แรงพอ เพราะหมาเจ้ากรรมดันหายไปตอนเขาพาออกไปเดินเล่นตามคำสั่งเมีย ภายใต้เส้นเรื่องป่วนๆ ที่จิกกัดและวิพากษ์สังคมเกาหลี ทั้งสภาพชีวิต ชนชั้น ไปจนถึงแง่มุมการถึงเลือกปฏิบัติของหมู่ชนคนกันเอง

 

Memories of Murder (2003) คือผลงานที่ทำให้บงจุนโฮแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฐานะผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตา ด้วยการหยิบเรื่องจริงของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในยุค 80 ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังปิดคดีไม่ได้มานำเสนอ เป็นเรื่องราวสืบสวนสอบสวนสุดเข้มข้น ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ และทำให้การวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างสังคม ระบบที่มีปัญหา ผ่านชีวิต ‘คนตัวเล็กๆ’ ของเขาชัดเจนขึ้นไปอีก 

 

The Host (2006) ผลงานที่ส่งให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากหนังสัตว์ประหลาดที่พาผู้ชมไปไกลกว่าแค่เรื่องราวสัตว์ประหลาดจากแม่น้ำฮัน แต่เต็มด้วยเนื้อหาวิพากษ์ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างบาดลึก ผ่านเรื่องราวของครอบครัวข้นแค้นทว่าเปี่ยมสุข พ่อสุดห่วยที่พยายามสุดชีวิตเพื่อช่วยลูกสาวจากการลักพาตัวของสัตว์ประหลาดที่กลายร่างอันเนื่องจากสารพิษที่ปนเปื้อนในแม่น้ำเป็นระยะเวลานาน 

 

รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามามีบทบาทสำคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีต่อพลเมืองเกาหลีใต้ ที่ทำให้ The Host กลายเป็นดาวเด่นทันทีหลังจากเปิดตัวในสาย Directors Fortnight ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ พร้อมด้วยบทวิจารณ์อันยอดเยี่ยมจากสื่อชั้นนำทั่วโลก

 

Mother (2009) ผลงานลำดับที่ 4 บงจุนโฮเลือกสะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของระบบยุติธรรม ผ่านความรักอันลึกซึ้งสุดหยั่งของมนุษย์ผู้เป็นแม่ ภาพยนตร์พาคนดูค่อยๆ ตามติดเรื่องราวของแม่คนหนึ่งที่อาศัยและดูแลลูกชายที่มีปัญหาด้านสติปัญญาอย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลา 28 ปี จนกระทั่งวันหนึ่งลูกชายสุดรักของเธอกลับถูกสงสัยและพิจารณาคดีว่าเป็นฆาตกรผ่านกระบวนการสืบสวนที่เร่งรีบ และเพื่อจะปกป้องลูกชาย เธอจึงต้องออกสืบหาความจริงเพื่อนำฆาตกรตัวจริงมารับโทษแทนที่ลูกชายของเธอให้จงได้

 

 

Snowpiercer (2013) บงจุนโฮเปิดตัวผลงานระดับฮอลลีวูดเรื่องแรก ด้วยหนังไซไฟกรุ่นกลิ่นดิสโทเปีย เล่าถึงโลกอนาคตที่มนุษย์กลุ่มสุดท้ายต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดบนขบวนรถไฟที่ต้องวิ่งวนไปเรื่อยๆ รอบโลก อันเนื่องจากโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง ที่นำมาเสียดสีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะทางสังคมบนโบกี้บนรถไฟได้อย่างดิบลึก คมคาย น่าติดตาม 

 

Okja (2017) ผลงานที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์และนำไปฉายบท Netflix ว่าด้วยการผจญภัยของเด็กสาวตัวน้อยที่พยายามช่วยเหลือเจ้าหมูยักษ์จากองค์กรผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่สร้างมันขึ้นมาจากการพัฒนาสายพันธุ์ในห้องแล็บเพื่อรอวันที่จะถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหารรสเลิศสำหรับมนุษย์ และก็เป็นอีกครั้งที่ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้พยายามสื่อสารถึงประเด็นทางสังคม ลัทธิบริโภคนิยม การตัดต่อทางพันธุกรรมในอาหารที่กำลังเติบโตและแผ่อิทธิพลต่อปากท้องมนุษย์ไปทั่วทุกมุมโลก

 

Parasite (2019) ผลงานลำดับ 7 ที่พาทั้งตัวเขาและหนังเกาหลีมาได้ไกลที่สุดบนเวทีระดับโลก ที่ในตอนแรกเขาเพียงต้องการนำเสนอเรื่องราวของสองครอบครัวที่จนสุดขั้วและรวยสุดขีด เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ 

 

แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าระบบทุนนิยม ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับ และส่งให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัว เป็นประเด็นที่ ‘โดน’ ใจคนทั้งโลก ที่ต่อให้ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ความเชื่อ แต่ทุกคนล้วนมองเห็นว่านี่คือปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจริงไม่ต่างกัน 

 

ผสมผสานแนวทางที่หลากหลาย กลายเป็นหนังที่ได้ทั้ง ‘เงิน’ และ ‘กล่อง’ 

 

 

ถึงแม้ว่าผลงานของบงจุนโฮจะพูดถึงประเด็นที่ค่อนข้างหนัก และวิธีการนำเสนอก็ไม่ใกล้เคียงกับหนังตลาดทั่วไป แต่หนังที่มีชื่อเขาเป็นผู้กำกับมักจะทำรายได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจอยู่เสมอ โดยมีหนังถึง 4 เรื่องที่ติดอันดับ 100 หนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของวงการภาพยนตร์เกาหลี จากหนังยาวทั้งหมด 6 เรื่อง (ไม่นับ Okja ที่ฉายบน Netflix ไม่สามารถประเมินตัวเลขได้) ที่เขาทำไว้ในช่วงระยะเวลา 19 ปี 

 

โดย The Host อยู่ในอันดับที่ 16 ขายตั๋วได้ 10,917,224 ใบ (ที่เกาหลีนับรายได้จากจำนวนตั๋วที่ขายได้) ทำรายได้ทั่วโลก 89.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ Snowpiercer อันดับที่ 21 ขายตั๋วได้ 9,350,338 ใบ ทำรายได้ทั่วโลก 86.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, Memories of Murder อันดับที่ 73 ขายตั๋วได้ 5,101,645 ใบ 

 

ส่วนตอนนี้ Parasite ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 หนังที่ทำรายได้สูงสุดของประเทศเกาหลีด้วยตัวเลขที่มากถึง 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างเพียงแค่ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นตลอดในทุกๆ สัปดาห์ และยังไม่มีทีท่าว่าตัวเลขจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ 

 

การเดินทางของ Parasite และบงจุนโฮ 

 

 

Parasite เริ่มสร้างประวัติศาสตร์ได้ตั้งแต่การฉายรอบแรก และเอาชนะ Once Upon a Time… in Hollywood ของ เควนติน ทารันติโน กลายเป็นภาพยนตร์จากเกาหลีใต้เรื่องแรกที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ได้สำเร็จ 

 

มี 45 เว็บไซต์ยกให้เป็นอันดับ 1 ในลิสต์ 10 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ตระเวนกวาดรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ได้มากกว่า 100 รางวัล เช่น รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 25 รางวัล, ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม 23 รางวัล เฉพาะตัวบงจุนโฮเองก็ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาแล้ว 25 ครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดจากงานนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอน (London Film Critics’ Circle Awards) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ฯลฯ 

 

คงไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่าบงจุนโฮคือผู้กำกับที่ถูกสปอตไลต์ส่องไฟไปหามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นไปรับรางวัลบนเวทีต่างๆ การให้สัมภาษณ์กับสื่อระดับโลก รวมทั้งโปรเจกต์ที่นำ Parasite มาฉายในเวอร์ชันขาว-ดำก็ยิ่งผลักดันให้ความน่าสนใจของ Parasite เพิ่มสูงขึ้นไปอีก 

 

แถมก่อนหน้านี้ HBO ยังซื้อลิขสิทธิ์ Parasite เพื่อนำไปสร้างเป็นมินิซีรีส์ที่เล่าเรื่อง ‘ขยาย’ เหตุการณ์ระหว่างทางที่ไม่ถูกนำเสนอในหนัง โดยจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างบงจุนโฮและอดัม แม็กเคย์ ผู้กำกับเรื่อง Vice (2018) และ The Big Short ที่ทำให้เขาได้รางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม รวมทั้งเป็นโปรดิวเซอร์มือดีจากซีรีส์ Succession ของช่อง HBO ที่เพิ่งคว้ารางวัลซีรีส์ดราม่ายอดเยี่ยมจากงาน Golden Globes 2020 มาได้เช่นเดียวกัน

 

เรียบเรียงและเพิ่มเติมข้อมูลจากบทความ https://thestandard.co/bong-joon-ho-film/

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising