นักเศรษฐศาสตร์เตือนรัฐบาลควรกังวลบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น เหตุเป็นการเพิ่มต้นทุนให้เอกชนและรัฐบาล หวั่นหุ้นกู้เอกชนเสี่ยงจ่ายไม่ไหว Roll Over ยาก เชื่อไทยไม่ซ้ำรอยอังกฤษ เหตุหนี้สาธารณะ-ดุลบัญชีเดินสะพัดดีกว่า แต่เตือนรัฐบาลอย่าย่ามใจ
วันนี้ (21 กันยายน) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แตะ 3.19% สูงสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ก่อนจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 3.16% ในช่วงบ่าย
เปิดปัจจัยดันบอนด์ยีลด์รัฐบาลไทยสูงขึ้น
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่าการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรอบนี้มาจาก
- ปัจจัยภายนอก ได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็เป็นการกดดันบอนด์ยีลด์รัฐบาลไทย
- มาจากความกังวลเรื่องการกู้เงินของรัฐบาลหรือปริมาณ (Supply) บอนด์ที่รัฐบาลจะออก
“เมื่อเราต้องการกู้เพิ่ม เจ้าหนี้จะต้องเริ่มคิดแล้วว่าเราจะมีปัญญาจ่ายคืนหรือไม่ โดยถ้าเขาคิดว่าเรามีความเสี่ยงมากขึ้น เขาก็อยากได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ไขคำตอบบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น กระทบเศรษฐกิจอย่างไร?
ดร.พิพัฒน์ระบุอีกว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) คือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นทั้งรัฐบาลและเอกชน เนื่องจากเอกชนเวลากู้เงินก็อ้างอิง (Benchmark) กับอัตราดอกเบี้ยของรัฐบาลอีกที
“อัตราดอกเบี้ย (Bond Yield) ที่ขยับขึ้นเยอะๆ ก็น่าหวาดเสียวว่าหุ้นกู้เอกชนโดยรวมอาจจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้น เนื่องจากหากดอกเบี้ยของรัฐบาลปรับตัวขึ้น ดอกเบี้ยของเอกชนก็ต้องขึ้นด้วย เพราะเป็น Benchmark ของกันและกัน ดังนั้นถ้าเอกชนมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นก็อาจจ่ายไม่ไหว หรือไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิม (Roll Over) ได้”
บอนด์ยีลด์ไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกหรือไม่?
ดร.พิพัฒน์มองว่ามีความเป็นไปได้ที่บอนด์ยีลด์จะปรับตัวขึ้นอีก เนื่องจากหากเทียบกับบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ประมาณ 4% เทียบกับบอนด์ยีลด์ 10 ปีของไทยที่ยังอยู่ 3% นอกจากนี้ตลาดอาจยังมีความกังวลอยู่จากความไม่แน่นอนของขนาดงบประมาณ
“วันนี้สิ่งที่ตลาดกังวลคือไม่รู้ว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศมาหมดหรือยัง ถ้าเกิดรัฐบาลออกมาพูดให้ชัดเจนว่าจะใช้เงินอย่างไร หาเงินอย่างไร และภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร หากพูดให้ชัดเจนตลาดก็อาจจะรับได้ ยิ่งมีความไม่แน่นอนสูงเท่าไรตลาดยิ่งไม่ชอบ”
ดังนั้นบอนด์ยีลด์มีโอกาสเกิดขึ้นต่อได้อีก อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่ได้ประกาศมาตรการการกระตุ้นในสเกลที่ใหญ่กว่านี้ ดร.พิพัฒน์มองว่ายีลด์ก็ไม่น่าไปไกลเท่าไร
‘เศรษฐา’ เสี่ยงซ้ำรอย ‘ทรัสส์’?
สถานการณ์ในไทยเวลานี้ ได้แก่ เงินบาทอ่อนค่า และบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น หลังการประกาศมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ ทำให้หลายคนนึกถึงกรณีการลาออกของ ‘ลิซ ทรัสส์’ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ หลังดำรงตำแหน่งได้ราว 45 วัน
โดยย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น การตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งของ ลิซ ทรัสส์ เกิดขึ้นหลังจากประกาศมาตรการปรับลดภาษีวงเงิน 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก และบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก
กระนั้น ดร.พิพัฒน์มองว่าไทยไม่น่าจะซ้ำรอยอังกฤษ แม้เหตุการณ์ของไทยเวลานี้จะมีลักษณะคล้ายกับอังกฤษเมื่อปี 2022 คือการประกาศมาตรการทางการคลังที่อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน
ดร.พิพัฒน์ให้เหตุผลว่า ไทยไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง (Position) ที่แย่เท่าอังกฤษตอนนั้น โดย
- ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่เหมือนอังกฤษที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ
- สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยต่อ GDP ยังต่ำกว่าอังกฤษ โดยอยู่ที่ราว 61% เท่านั้น เทียบกับอังกฤษที่สูงกว่า 100% ต่อ GDP
อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ยังเตือนว่ารัฐบาลไม่ควรย่ามใจ และควรนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาเป็น Feedback เนื่องจากเรายังต้องพึ่งพาตลาด อย่างที่เขาพูดกันว่า “อังกฤษพึ่งพาความเมตตาจากคนแปลกหน้า” (The UK is relying on the kindness of strangers) คือถ้าวันไหนเจ้านี้ไม่ปล่อยกู้ให้เรา ต้นทุนทางการเงินเราจะสูงขึ้น”