ตัวเลขของผลตอบแทนพันธบัตร หรือบอนด์ยีลด์ (Bond Yield) ที่วิ่งขึ้นมาต่อเนื่องจนแตะระดับ 1.36% ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาและประเมินถึงแนวโน้มในระยะถัดไป รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก
ในส่วนของตลาดหุ้น ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ บอกว่า ยังไม่กังวลต่อการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์ รวมไปถึงตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในรอบนี้มากนัก ในทางตรงกันข้าม กลับมองเป็นสิ่งที่ดีต่อตลาดหุ้น โดยหากตัวบ่งชี้ (Indicator) สำคัญ เช่น บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ยังปรับขึ้นไม่ถึงระดับ 2% และ Breakeven อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ยังไม่แตะระดับ 2.5% มองว่าการลงทุนในหุ้นยังเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไปได้ และยังสามารถโฟกัสไปกับธีม Reflation Trade ได้ตามเดิม
ทั้งนี้ เรามองว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ปัจจุบันเป็นการตอกย้ำเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอย่างโดดเด่นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งมักเป็นภาวะที่หุ้นในกลุ่ม Value เริ่มที่จะโดดเด่น (Outperform) กว่าหุ้นในกลุ่ม Growth จากการที่ Discount Rate ในตลาดจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้หุ้น Value ที่มี Valuation ต่ำไม่ได้รับผลกระทบ ผิดกับหุ้นในกลุ่ม Growth ที่จะได้รับผลกระทบจากการตีมูลค่าในอนาคตกลับมา ณ ปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์ทั่วโลกย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจของหุ้นผ่านมิติของ Earning Yield Gap ที่ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จากการคำนวณของเราล่าสุดพบว่า ระดับ Earning Yield Gap ปัจจุบัน ยังไม่ได้ต่ำถึงระดับ -1 Standard Deviation (SD) หรือ -2SD
“ส่วนตัวมองว่าบอนด์ยีลด์น่าจะค่อยๆ แกว่งตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเห็นว่าการปรับขึ้นรอบนี้ ขึ้นมาด้วยความผันผวนที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ ปี 2556 หรือช่วงปี 2561-2562 ทำให้นักลงทุนสามารถบริหารจัดการได้ โดยการเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์จะเริ่มน่ากังวลเมื่อไปถึงระดับ 2% (อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ) และคาดการณ์เงินเฟ้อช่วง 10 ปีข้างหน้า ไปถึงระดับ 2.5% ซึ่งยังไม่น่าจะไปถึงในระยะสั้น”
ด้วยเหตุนี้จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มปรับพอร์ตการลงทุนจากหุ้นกลุ่ม Growth เช่น กลุ่มเทคโนโลยี ไปยังหุ้นกลุ่ม Value ที่อิงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยตรงมากขึ้น
จากการคัดกรองของเราโดยใช้ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังนั้น พบว่าหุ้นกลุ่ม Value และ Cyclical ที่ยังคงซื้อขายด้วย Forward P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยแบ่งเป็นรายกลุ่ม ได้แก่
- กลุ่ม Hard Commodities เช่น PTTGC, TOP, SPRC, ESSO
- กลุ่ม Soft Commodities ได้แก่ STA
- กลุ่มอสังหาฯ ได้แก่ AP, ORI
- กลุ่มเดินเรือ ได้แก่ RCL
- กลุ่มสินค้า Consumer ได้แก่ STGT
ในมุมกลับกัน หุ้นที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก หรือหุ้นกลุ่มที่มีค่า P/E สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์, อิเล็กทรอนิกส์, สื่อ และขนส่ง เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์ที่อาจต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นอีกด้วย จึงแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มเหล่านี้
ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า การพุ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์สะท้อนว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่งหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์เชิงบวกมากที่สุด รวมถึงหุ้นในกลุ่มวัฏจักรอย่าง กลุ่มธนาคาร, อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ที่มีโอกาสจะกลับมานำตลาด โดยมีหุ้นเด่น ได้แก่ VNT, TOP, TISCO, KKP, KSL, TVO และ SPALI
ส่วนหุ้นที่มีค่า P/E สูง ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่ม Growth เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า เทคโนโลยี มีความเสี่ยงจากเพิ่มขึ้นจากบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวขึ้น
“ล่าสุดบอนด์ยีลด์พักตัวอยู่บริเวณ 1.36-1.37% เพื่อรอฟังท่าทีของ Fed ในคืนนี้ (23 กุมภาพันธ์) หากบอนด์ยีลด์ไม่วิ่งขึ้นต่อ ตลาดหุ้นก็มีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อได้ แต่ถ้าบอนด์ยีลด์กลับมาวิ่งขึ้นอีกครั้ง ก็มีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะพักฐานได้อีกครั้ง โดยการวิ่งขึ้นของไปยีลด์ไปสู่ระดับ 1.5-1.75% จะเป็นระดับที่น่ากังวลสำหรับตลาดหุ้น”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล