×

เมื่อ ‘บอนด์ยีลด์’ สูงสุดรอบปี นักลงทุนหุ้นควรกังวลมากแค่ไหน?

22.02.2021
  • LOADING...
เมื่อ ‘บอนด์ยีลด์’ สูงสุดรอบปี นักลงทุนหุ้นควรกังวลมากแค่ไหน?

อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่พุ่งขึ้นทะลุ 1.3% นับเป็นจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี พร้อมกับการคาดการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ด้วยแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งกระจายวัคซีน 

 

CNBC ระบุว่า ภาวะที่บอนด์ยีลด์พุ่งขึ้นเช่นนี้ ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงช่วงปี 2556 ซึ่งอัตราผลตอบแทนของบอนด์กระชากขึ้นมาหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศว่าจะปรับลดวงเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ (QE Tapering) 

 

อย่างไรก็ตาม Shane Balkham หัวหน้าฝ่ายการลงทุน Beaufort Investment มองว่า ผู้กำหนดนโยบายทางการเงินต่างๆ น่าจะยังคงสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป จนกว่าการกระจายวัคซีนจะมากพอจนสถานการณ์ใกล้กลับสู่ระดับปกติ 

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่ธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะ ‘Fed’ จะมีนโยบายปรับลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา ซึ่งอาจกระทบต่อตลาดทุนและตลาดเงินอย่างรุนแรง (Taper Tantrum) คล้ายกับเมื่อปี 2556 

 

Sebastien Galy นักกลยุทธ์มหภาคอาวุโส Nordea Asset Management ระบุว่า ตลาดหุ้นมักจะตอบรับในเชิงลบหากบอนด์ยีลด์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะจะทำให้ความน่าสนใจของผลตอบแทนจากเงินปันผลลดลง และทำให้มูลค่าของกระแสเงินสดในระยะยาวลดลง ส่งผลให้นักลงทุนจะหันมาให้ความสนใจกับการเติบโตในระยะกลาง อย่าง สินทรัพย์ในกลุ่มหุ้นวัฏจักร (Cyclical)

 

โดยภาพเหล่านี้จะชัดเจนมากขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน และทำให้วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีโอกาสจะถูกปรับลดลงมากขึ้น 

 

ในมุมของ Emmanuel Cau หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดหุ้นยุโรป Barclays มองว่า การเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์ในช่วงของการฟื้นตัวถือเป็นเรื่องปกติ “แน่นอนว่าการพุ่งขึ้นของยีลด์อย่างแข็งแกร่ง อาจทำให้ตลาดหุ้นชะงักชั่วคราว โดยเฉพาะกลุ่มที่พุ่งขึ้นมาพร้อมกับยีลด์ที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ อาทิ แบงก์และหุ้นโภคภัณฑ์ แต่ด้วยยีลด์ที่เพิ่มขึ้นในระดับนี้ น่าจะเป็นการยืนยันถึงตลาดขาขึ้นของหุ้น มากกว่าที่จะเป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้นราคาหุ้นที่ย่อลงในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสของการเข้าซื้อ” 

 

ด้าน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บล. เอเซียพลัส เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์ เพราะนักลงทุนขายบอนด์ออกมาต่อเนื่อง หลังจากที่นักลงทุนมองว่าความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจลดลง ขณะเดียวกันก็ยังต้องอยู่กับภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อไป 

 

ส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับตลาดหุ้น ขณะเดียวกันจะเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน เห็นได้จากตัวเลข GDP ของหลายประเทศ รวมถึงของไทยออกมาดีกว่าคาด ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนเริ่มฟื้นตัวได้  

 

“ด้วย Earning Yield Gap ระหว่างบอนด์ยีลด์ อายุ 1 ปี ที่ระดับ 0.5% กับอัตราผลตอบแทนรวมของหุ้นที่ราว 3.7% ถือว่ายังเป็น Gap ที่ไม่น่ากังวลสำหรับตลาดหุ้น ทำให้การปรับฐานของตลาดหุ้นจะเป็นโอกาสของการทยอยเข้าลงทุน”

 

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กรุงศรี มองว่า แม้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.36% แต่ระดับดังกล่าวยังต่ำกว่าบอนด์ยีลด์ของไทยซึ่งอยู่ที่ 1.50% และหากมองที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) คือบอนด์ยีลด์หักลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.4% ส่วนของไทย ติดลบ 0.35% ทำให้อัตราผลตอบแทนของไทยโดยภาพรวมยังคงสูงกว่าสหรัฐฯ 

 

“ด้วยบอนด์ยีลด์ของไทยที่ยังคงสูงกว่าสหรัฐฯ ทำให้คิดว่า Fund Flow ยังไม่น่าจะเร่งไหลออก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเห็นนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 3 วันติดต่อกัน แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่น่ากลัว จนกว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะเร่งตัวขึ้นต่อไปจนแตะระดับ 1.5% ทั้งนี้บอนด์ยีลด์ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลต่อวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ซัพพลายบอนด์ล้นออกมา” 

 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลกมี valuation ที่ค่อนข้างตึงตัวมาก และตลาดรับรู้ข่าวดีไปพอสมควร อย่างตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมีค่า P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยราว +2SD จึงมีความเป็นไปได้สูงกว่าจะเห็นการปรับฐานลงมาในระยะสั้น ซึ่งโดยธรรมชาติของตลาดหุ้นแล้วการปรับฐานมักจะอยู่ที่ราว 7-10% 

 

กลยุทธ์การลงทุนปัจจุบัน หากดัชนี SET ไม่สามารถยืนเหนือ 1,500 จุด แนะนำนักลงทุนลดพอร์ต และรอพิจารณาอีกครั้งที่แนวรับบริเวณ 1,480 จุด และ 1,455 จุด 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X