ช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อคืนนี้ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชี้แนวโน้มว่าจะควบคุมให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำไปถึง 3 ปี ยิ่งทำให้บอนด์ยีลด์พุ่งขึ้นสวนทางกับ ‘ราคา’ ที่ลดลง
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ค่อนข้างชัดเจนว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำราว 3 ปี และแม้ยังไม่เปิดเผยแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) (เช่น ถอน QE) แต่ตลาดก็เทขายพันธบัตรสหรัฐฯ จนทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ เพียงข้ามคืนบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเกิน 1.4% ไปแล้ว ถือว่าเพิ่มขึ้น 0.10 bps และเข้าสู่จุดสูงสุดในรอบปีแล้ว ในส่วนของไทย บอนด์ยีลด์ 10 ปี เพิ่มสู่ระดับ 1.77% เพิ่มขึ้น 0.12% จากเมื่อวานนี้ที่อยู่ 1.6% และคาดว่าทั้งวันจะยังมีแรงเทขายต่อเนื่อง แต่ยังเห็นการเข้าถือพันธบัตรระยะสั้นเพิ่ม ทำให้บอนด์ยีลด์ยังไม่ขยับขึ้นสูงมาก โดยพันธบัตร 3 เดือนของไทยอยู่ที่ 0.45% ระดับเดิม
ในระยะสั้นนี้ถึงไตรมาส 2/64 ที่จะมีเม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านบาทจากแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และทั่วโลก รวมถึงไทย ยังจะสูงขึ้นจากแรงเทขายในตลาด
“คอมเมนต์ของ Fed ครั้งนี้ออกมาช่วยพยุงตลาดหุ้นไว้ ว่าสภาพคล่องจะยังอยู่ในตลาดเพราะยังไม่มีการถอนคันเร่ง และค่อนข้างชัดเจนว่า Fed มองว่าเงินเฟ้อจะยังไม่มา เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ Fed ยังไม่มีการถอน QE อย่างทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดเหมือนกับช่วงปี 2554-2555
“ตลาดบอนด์ยังต้องรอให้คน Price-in ให้สุด จึงจะเป็นจังหวะที่คนจัดสินใจที่จะกลับเข้าไป และจะเห็นผลเต็มๆ ในช่วงไตรมาส 2/64 ที่แพ็กเกจ 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านสภาและออกมาได้”
โดยปัจจัยที่ยังต้อติดตามคือ สถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะกลับมาสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว และเงินที่ไหลออกจากตลาดพันธบัตรจะไหลไปสู่ตลาดใด เพราะช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังเข้าสู่ช่วงปรับตัวลดลง และสภาพคล่องที่เยอะทั้งโลก อาจทำให้การกระจายตัวไม่ทั่วถึง และอาจเกิดฟองสบู่ในหลายจุด (ที่ตลาดอาจจะปรับตัวลดลงเช่นกัน)
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล