×

Bond Yield เด้งแรง รุ่นอายุ 10 ปี พุ่งแตะ 1.62% กดดันผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้เริ่มติดลบ กูรูมั่นใจไม่ซ้ำรอยปีที่แล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2021
  • LOADING...
Bond Yield เด้งแรง รุ่นอายุ 10 ปี พุ่งแตะ 1.62% กดดันผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้เริ่มติดลบ กูรูมั่นใจไม่ซ้ำรอยปีที่แล้ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) โดยเฉพาะรุ่นระยะกลางถึงยาวของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อเนื่องมายัง Bond Yield ของไทยที่เพิ่มขึ้นแรงด้วย โดยล่าสุดวันนี้ (22 กุมภาพันธ์) Bond Yield รุ่นอายุ 8 ปีของไทยเพิ่มขึ้นถึง 0.12% มาอยู่ที่ระดับ 1.54% ขณะที่ Bond Yield รุ่นอายุ 10 ปีก็ปรับตัวขึ้นในระดับใกล้เคียงกันมาอยู่ที่ประมาณ 1.62%

 

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า Bond Yield ของไทย ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงในวันนี้มีสาเหตุหลักจากการปรับขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากความกังวลว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจขยับขึ้นเร็วและแรง แม้ว่าระดับเงินเฟ้อในปัจจุบันจะยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อยู่มากก็ตาม ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลต่อเนื่องมายัง Bond Yield ของไทยด้วย 

 

“นักลงทุนอาจคาดการณ์ว่าเงินจะไหลกลับไปยังสหรัฐฯ หลังจากที่ Bond Yield เขาขึ้นไปแรง จึงเริ่มมีแรงขายบอนด์ออกมาในบ้านเรา ส่งผลให้ยีลด์เริ่มขยับขึ้น แต่มีข้อสังเกตว่า หลังช่วงโควิด-19 มา ยีลด์ในบ้านเราแกว่งตัวค่อนข้างแรง วันนี้ขึ้นไปแรง อีกวันก็อาจลงแรงได้ ยังต้องดูว่าเทรนจะเป็นแบบนี้ต่อเนื่องหรือไม่”

 

ส่วนแรงขายของนักลงทุนต่างชาตินั้น แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ซึ่งถ้าดูตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบว่า นักลงทุนกลุ่มนี้ขายสุทธิในตลาดบอนด์ไทยเพียงแค่ 5 พันล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่วันนี้ก็ขายออกมาเพียง 1,315 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้มากนัก จึงไม่ได้สะท้อนว่านักลงทุนกลุ่มนี้เทขายบอนด์ไทยเพื่อกลับไปลงทุนในบอนด์สหรัฐฯ แต่น่าจะเป็นผลจากไดเรกชันของ Bond Yield สหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า

 

ผลตอบแทนกองตราสารหนี้เริ่มติดลบจาก Bond Yield ที่เพิ่มขึ้น 

สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ช่วงหลายวันมานี้เริ่มเห็นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติออกมาในตลาดบอนด์ไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลดลง ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทน (Bond Yield) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว ซึ่งล่าสุดรุ่นอายุ 10 ปี ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.60%

 

สำหรับการเร่งขึ้นของ Bond Yield นั้น สงวนบอกว่า เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก สาเหตุเพราะนักลงทุนเริ่มกังวลเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นบีบให้ Fed อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ จึงมีแรงเทขายบอนด์ระยะยาวออกมา ในขณะที่บอนด์ระยะสั้นยังค่อนข้างทรงตัว

 

“เฉพาะวันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ยีลด์ตัวยาวของเรา (รุ่นอายุ 10 ปี) ขึ้นมาวันเดียวถึง 0.12-0.13% มาอยู่ที่ระดับ 1.62-1.63% และอีกประเทศที่เร่งตัวขึ้นเร็วแบบเรา คือ สิงคโปร์ วันเดียวปรับขึ้นมาถึง 0.15% มาอยู่ที่ประมาณ 1.59% เชื่อว่าแนวโน้มระยะสั้นอาจจะยังปรับขึ้นได้อีก”

 

สงวนกล่าวว่า การเร่งขึ้นของ Bond Yield ระยะยาว เริ่มส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้บ้างแล้ว โดยจะเห็นว่าผลตอบแทนในบางกองทุนเริ่มติดลบ ซึ่งภาพเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วรอบหนึ่งในปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนกองทุนบอนด์ที่เริ่มติดลบในรอบนี้ไม่ได้น่ากังวลเท่ากับปีที่ผ่านมาตรงที่ในปัจจุบันไม่ได้มีประเด็นในเรื่องสภาพคล่องเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนที่ประชาชนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการสภาพคล่อง จึงพากันไปไถ่ถอนหน่วยลงทุน

 

“เรากำลังตามดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่เห็นความกังวลของนักลงทุนที่ตื่นตระหนกจนพากันไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนเหมือนกับปีที่ผ่านมา อาจเพราะในครั้งนี้ไม่ได้มีประเด็นเรื่องสภาพคล่อง แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ ยังต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด”

 

ตลาดประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายใกล้สิ้นสุดขาลง 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า การปรับขึ้นของ Bond Yield สะท้อนว่าตลาดมองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสิ้นสุดขาลงแล้ว และถ้าดูในตลาดจะเห็นชัดเจนว่าเส้นผลตอบแทน หรือ Yield Curve ระหว่างตัวสั้นกับตัวยาวมีความชันมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าตัวยาวปรับขึ้นค่อนข้างเร็ว ในขณะที่ตัวสั้นแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก

 

“Bond Yield ตัวยาวของเราอาจวิ่งตาม Bond Yield ของสหรัฐฯ ด้วย โดยจะเห็นว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ จะผลักดันออกมาอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ อาจทำให้เงินเฟ้อระยะข้างหน้าสูงขึ้น ประกอบกับการกู้ยืมที่จะสูงขึ้น ทำให้ปริมาณบอนด์ในระบบน่าจะมีออกมาเพิ่มขึ้น จึงทำให้ตัวยีลด์ปรับขึ้นมาในช่วงนี้”

 

นริศบอกด้วยว่า ถ้าดูการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศจะเห็นว่ากลุ่มนี้เริ่มเทขายบอนด์ออกมาบ้างแล้ว ประกอบกับนักลงทุนรายบุคคลก็เริ่มนำเงินมาพักไว้ในบัญชีเงินฝากเพิ่มขึ้น จึงทำให้ปริมาณเงินฝากในช่วงนี้เพิ่มขึ้นถึง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนว่าสภาพคล่องในระบบการเงินยังมีจำนวนมาก สวนทางกับยอดการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวได้เพียง 4% เท่านั้น ดังนั้นโจทย์ของนโยบายการเงินจากนี้คือจะทำอย่างไรให้สภาพคล่องที่ล้นอยู่วิ่งตรงไปสู่ผู้ที่มีความต้องการใช้ เพื่อจะให้เงินเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X