ดูเหมือนว่าเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ไหลเข้ามาเฉพาะในตลาดหุ้นไทยเท่านั้น เพราะถ้าดูยอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) ไทยแล้ว พบว่านักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นผู้ซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
โดยตั้งแต่วันที่ 1-10 มิถุนายนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดบอนด์ประเทศไทยรวมกว่า 20,808 ล้านบาท เช่นเดียวกับตลาดหุ้น ที่ซื้อสุทธิกว่า 5,877 ล้านบาท (โดยเริ่มขายออกมาบ้างในวันที่ 10 มิถุนายน ที่ราวๆ 1,644 ล้านบาท)
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในช่วงนี้ ส่วนใหญ่เป็นการเข้าลงทุนในบอนด์ระยะยาวจึงไม่ได้น่ากังวลนัก สาเหตุที่เข้ามาช่วงนี้ค่อนข้างมาก อาจเพราะที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติได้เทขายสุทธิในตลาดบอนด์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตัวผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ของไทยในช่วงนี้เริ่มสูงกว่าของทางสหรัฐฯ ด้วย
นอกจากนี้ ตัวเลขเงินลงทุนต่างชาติที่เป็นผู้ซื้อสุทธิเกือบๆ 9 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อในพันธบัตรอ้างอิงรุ่นอายุ 10 ปี ที่กระทรวงการคลังได้นำออกขายในวันดังกล่าวเป็นวันแรกด้วย
ปัจจุบันบอนด์ยีลด์ไทยรุ่นอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 1.80% เทียบกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รุ่นอายุเดียวกัน ซึ่งล่าสุดเคลื่อนไหวในระดับ 1.5%
อริยากล่าวด้วยว่า แนวโน้มในระยะข้างหน้าเชื่อว่าอาจจะเห็นเงินลงทุนของต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดบอนด์ไทยได้ต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ด้วย ว่าจะมีอะไรที่มาเซอร์ไพรส์ตลาดหรือไม่
“การเข้ามารอบนี้ (เงินลงทุนต่างชาติ) ไม่ได้น่ากังวลนัก เพราะส่วนใหญ่เข้ามาในตัวยาว ไม่ได้เป็นตัวสั้น จึงไม่ใช่ภาพของการเก็งกำไร ถ้ามองไประยะข้างหน้าก็อาจจะเห็นการไหลเข้ามาได้ต่อเนื่อง หาก Fed ยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย หรือรีบลดมาตรการ QE จนทำให้ตลาดตกใจ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนอาจต้องขึ้นกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยด้วย”
สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดบอนด์ไทยมากขึ้น หลังจากที่ได้ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) ไปในช่วงก่อนหน้า ซึ่งการกลับเข้ามาในรอบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าบอนด์ยีลด์ในประเทศไทยเริ่มสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ถ้าดูแรงซื้อของผู้ลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว ถือว่ายังน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค การเข้ามาซื้อในตลาดบอนด์ไทยช่วงนี้จึงน่าจะเป็นลักษณะของการ Catch up ตามประเทศอื่นๆ
ขณะเดียวกัน สงวนยังกล่าวด้วยว่า ถ้าตามดูบทวิเคราะห์ของสำนักวิจัยหลายๆ แห่งในต่างประเทศ จะพบว่า เริ่มเชียร์ให้เข้าลงทุนในตลาดบอนด์ไทยมากขึ้น โดยเขามองว่า เศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น แต่ก็มีทิศทางของการฟื้นตัวที่ค่อยๆ ดีขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเป็นธนาคารกลางแห่งสุดท้ายที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนชื่นชอบ
“ช่วงนี้เราจะเห็นว่าทั้งหุ้นและบอนด์เริ่มมีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามา”
นอกจากนี้ ถ้าดูในเชิงปัจจัยพื้นฐาน แม้การเปิดประเทศของไทยอาจล่าช้าและทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ถ้าดูตัวเลขการส่งออกจะเห็นว่าดีขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้มาก ทำให้แรงกดดันเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้น่าจะน้อยลงกว่าที่ประเมินกันไว้ หรือกลับมาเกินดุลมากขึ้น ซึ่งเป็นแรงหนุนให้เงินบาทช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าด้วย
สงวนกล่าวว่า เท่าที่ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงไทยประเมินไว้ ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นราว 1 บาท จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.15 บาท หรือแข็งค่ามาอยู่ที่ประมาณ 30.15 บาท
ยกเว้นแต่จะมีแรงกดดันจาก 2 เรื่อง คือ 1. การปรับขึ้นอย่างร้อนแรงของราคาน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยลดน้อยลง และ 2. การเข้ามาดูแลค่าเงินบาทของทาง ธปท. ในกรณีที่เห็นว่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากเกินไป
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล