×

‘บอนด์’ ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะหมีเต็มตัวครั้งแรกรอบ 40 ปี เซ่นพิษแบงก์ชาติทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

02.09.2022
  • LOADING...
บอนด์

ตลาดพันธบัตรทั่วโลกร่วง! ตอกย้ำมุมมองว่ากำลังเข้าสู่ตลาดหมีเต็มตัว ดัชนีชี้วัดของ Bloomberg เผยผลตอบแทนลดลง 20% จากจุดสูงสุดในเดือนมกราคม 2021 ด้านกูรูตลาดตราสารหนี้ระบุ ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ที่ร่วงพร้อมกันนับเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ ระบุเงินจะไหลเข้าตลาดบอนด์อีกครั้งก็ต่อเมื่อธนาคารกลางหยุดเร่งขึ้นดอกเบี้ย  

 

ภายใต้แรงกดดันจากธนาคารกลางหลายประเทศ ที่มุ่งมั่นจะปราบเงินเฟ้อแม้จะทำให้เกิดความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ตลาดพันธบัตรทั่วโลกก็เข้าสู่ภาวะหมีเต็มตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี 

 

Bloomberg Global Aggregate Total Return Index ของพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน (Investment-grade) ปรับตัวลดลงมากกว่า 20% จากระดับสูงสุดในปี 2021 ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1990 โดยแรงกดดันหลักมาจากความแข็งขันจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงฝั่งยุโรป ในการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง โดยข้อความจาก Jerome Powell ประธาน Fed ณ การประชุมสัมมนาที่ Jackson Hole ครั้งล่าสุดจัดเป็นหลักฐานชั้นดี 

 

อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงชันของผู้กำหนดนโยบายเพื่อตอบโต้เงินเฟ้อ ได้ทำให้ช่วงขาขึ้นของตลาดพันธบัตรที่ยาวนานมากกว่า 4 ทศวรรษสิ้นสุดลง และยังทำให้สภาพแวดล้อมด้านการลงทุนยากลำบากมากขึ้นด้วย เพราะทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ต่างเป็นขาลงทั้งคู่

 

Stephen Miller ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดตราสารหนี้ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาการลงทุนที่ GSFM ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ CI Financial Corp. ของแคนาดา กล่าวว่า ส่วนตัวตั้งข้อสงสัยว่ารอบขาขึ้นของตลาดบอนด์ที่เริ่มในช่วงกลางทศวรรษ 1980 กำลังจะสิ้นสุด อัตราผลตอบแทนจะไม่กลับไปสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากในขณะนี้ สะท้อนว่าธนาคารกลางไม่พร้อมที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รุนแรง เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่ำกว่า 1% 

 

ทั้งนี้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นพร้อมกันในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์กำลังทำลายกลยุทธ์การลงทุนหลักที่ยึดถือและปฏิบัติในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น โดยผลสำรวจจากตัวชี้วัดของ Bloomberg พบว่า Bloomberg’s Bond ลดลง 16% ในปี 2022 ในขณะที่ดัชนี MSCI หุ้นทั่วโลกลดลงอย่างมาก

 

ซึ่งทำให้ผลตอบแทนจากการจัดพอร์ตแบบคลาสสิกระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ที่ 60/40 นั้น ลดลง 15% (YTD) นับเป็นอัตราผลตอบแทนที่แย่ที่สุดตั้งแต่ปี 2008

 

Kellie Wood ผู้จัดการเงินตราสารหนี้ที่ Schroders plc ในซิดนีย์กล่าวว่า เราอยู่ในสภาพแวดล้อมการลงทุนแบบใหม่ และนี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่คาดหวังว่าตราสารหนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้น 

 

โดยปีนี้ตลาดพันธบัตรยุโรปได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ตลาดเอเชียย่ำแย่น้อยกว่า เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดพันธบัตรของจีน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของธนาคารกลาง ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อแผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

 

ทางด้าน JPMorgan Chase & Co. ระบุ การเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วจากนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มาสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ชันที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้สภาพคล่องทั่วโลกลดลง

 

Nikolaos Panigirtzoglou ระบุผ่านเอกสารว่า โมเมนตัมของพันธบัตรตลาดหมีกำลังเข้าใกล้ระดับสูงสุด โดยตลาดตราสารหนี้และตลาดเงินได้เผชิญหน้ากับสภาพคล่องที่แย่ลง ซึ่งรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่มีสัญญาณการกลับตัวขึ้นบ้างเล็กน้อย

 

ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูในช่วงปี 1960 ซึ่งเป็นช่วงตลาดหมีสำหรับพันธบัตรเช่นกัน โดยครั้งนั้นเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษดังกล่าว ซึ่งอัตราเงินเฟ้อต่ำ และความเสี่ยงจากการว่างงานจบลงอย่างกะทันหัน จากนั้นอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นตลอดช่วงทศวรรษ 1970 จนเกือบระดับ 16% ในปี 1981 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หลังจากนั้น Paul Volker ประธาน Fed ในยุคนั้น ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 20% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ 

 

กลับมาที่ปัจจุบัน Jerome Powell ประธาน Fed คนปัจจุบัน อ้างถึงช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อสนับสนุนจุดยืนของเขาที่ Jackson Hole โดยกล่าวว่า บันทึกทางประวัติศาสตร์เตือนอย่างแข็งขันต่อนโยบายที่คลายก่อนเวลาอันควร 

 

คำกล่าวนี้ทำให้นักเทรดและนักลงทุนมองว่ามีโอกาสเกือบ 70% ที่ Fed จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 3 สัปดาห์ 

 

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางอื่นๆ ที่ Jackson Hole จากยุโรป เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ยังระบุด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  

กระนั้น นักลงทุนในตลาดบอนด์ก็ยังคงมีความต้องการเข้าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความคาดหวังของนักลงทุนว่า ผู้กำหนดนโยบายจะเปลี่ยนมุมมองหากว่าเศรษฐกิจเริ่มลดความร้อนแรง และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง

 

Steven Oh หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อและตราสารหนี้ระดับโลกของ PineBridge Investments LP กล่าวว่า ขอไม่ฟันธงว่าเป็นตลาดหมีตราสารหนี้โลกครั้งใหม่ ความคาดหวังของเราคืออัตราผลตอบแทนจะยังคงต่ำในระยะยาว และขนานไปกับมาตรฐานในอดีต ซึ่งในปี 2022 มีแนวโน้มที่จะแสดงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีจะถึงจุดพีค

 

Wood กล่าวอีกว่า ขณะนี้เริ่มมองเห็นคุณค่าบางอย่างในพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากอัตราผลตอบแทนเริ่มเพิ่มขึ้น และตราสารหนี้นับเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงได้อย่างแท้จริง

 

“ในอนาคตอันใกล้นี้ มีโอกาสอย่างมากที่เงินจะไหลเข้าสู่ตลาดบอนด์ เนื่องจากธนาคารกลางเริ่มยอมรับอย่างจริงจังแล้วว่า เรากำลังเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย” Wood กล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising