×

ส่องสัญญาณ BOJ ยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-Easy Policy)

14.02.2023
  • LOADING...

นักยุทธศาสตร์ของ Goldman Sachs ระบุว่า มาตรการ Yield Curve Control (YCC) ซึ่งเป็นเสาหลักของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-Easy Policy) ของประเทศญี่ปุ่น ได้เผชิญกับข้อกังขาของตลาดที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะยกเลิกนโยบายดังกล่าวในที่สุด

 

มาตรการ YCC หรือการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนปี 2016 โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดพ้นจากกับดักเงินฝืด ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน และบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงกว่าที่ BOJ คาดการณ์ไว้, ความน่าจะเป็นของการปรับขึ้นค่าจ้าง, ความผิดปกติในตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น และการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ที่ใกล้เข้ามา ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจึงมีโอกาสเกิดขึ้น 

 

วากามัตสึ เรียวยะ นักยุทธศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในตลาดอัตราดอกเบี้ย กล่าวว่า BOJ อาจเปลี่ยนนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนทันทีในการประชุมนโยบายทางการเงินครั้งถัดไปในเดือนมีนาคม เขาเชื่อว่าตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะยุตินโยบาย เพราะการรักษา YCC ไว้ต่อไปเริ่มทำได้ยากขึ้น ในขณะที่ BOJ ต้องการเห็นการเติบโตของค่าจ้างที่แข็งแกร่งขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงมาตรการ YCC

 

Yield Curve Control (YCC) ทำงานอย่างไร

 

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ตกต่ำซบเซาและเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ในปี 2013 รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ได้จัดทำแถลงการณ์ร่วมกับ BOJ โดยระบุถึงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืด และจะใช้เครื่องมือต่างๆ มากมายรวมไปถึงมาตรการ YCC เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


กลไกการทำงานของ YCC เกิดจากการที่ BOJ ต้องการที่จะล็อกอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่ประมาณ 0% ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้ได้ตามเป้า จึงถือเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อควบคุมต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวของภาคธุรกิจไม่ให้สูงเกินไป 

 

BOJ ขยายกรอบการเคลื่อนไหวอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว

 

อารมณ์ของตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่ BOJ สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดในเดือนธันวาคมปี 2022 ด้วยการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ผ่านการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นให้สามารถเคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่กรอบการเคลื่อนไหวถูกกำหนดเอาไว้ที่ -0.25% ถึง +0.25% 

 

BOJ ตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) เพื่อปรับปรุงการทำงานของตลาด และทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนเคลื่อนไหวอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินใจดังกล่าวของ BOJ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับทิศทางนโยบาย เนื่องจากตลาดก่อนหน้านี้คิดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคมหรือมีนาคมปี 2023 

 

ด้วยเหตุนี้ ในเดือนมกราคมปี 2023 จึงเกิดการเทขายพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นครั้งใหญ่ของนักลงทุน ทำให้ BOJ ซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อควบคุมให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในเป้าหมายปัจจุบัน ในขณะที่ผลการประชุมนโยบายทางการเงินในเดือนมกราคมปี 2023 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นพิเศษไว้ที่ -0.1% และคงเป้าหมายการควบคุมกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้อยู่ระหว่าง +0.50% ถึง -0.50% เช่นเดิม 

 

เหตุใด BOJ จึงอาจยุติมาตรการ Yield Curve Control (YCC) 

 

ปัจจัยต่างๆ ได้นำไปสู่ความเป็นไปได้นี้ ประการแรก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมปี 2022 พุ่งขึ้น 4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี และสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ที่ระดับ 2% 

 

แม้ว่า BOJ จะระบุว่าปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาชั่วคราว แต่ BOJ ยังคงปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และเริ่มเห็นความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่อาจสูงเกินความคาดหมาย สอดคล้องกับบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่พากันปรับอัตราค่าจ้างให้แก่พนักงาน แนวโน้มเงินเฟ้อนี้อาจทำให้ BOJ มีโอกาสที่จะยุตินโยบาย YCC ในปัจจุบัน หลังหลุดพ้นภาวะเงินฝืด​ที่ฝังรากลึกมานาน

 

ประการที่สอง ประสิทธิภาพของตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลดลง เนื่องจากการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบไม่อั้นของ BOJ เพื่อรักษาดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 

 

ช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นสามารถรักษานโยบายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรใกล้เคียง 0% ไว้ได้ เพราะญี่ปุ่นไม่มีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำ แต่พอธนาคารกลางทั่วโลกต่างพากันขึ้นอัตราดอกเบี้ย และญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูง ตลาดเริ่มเก็งกันว่า BOJ จะรักษานโยบายแบบนี้ไม่ได้ ต้องเริ่มผ่อนคลายการกระตุ้น เช่น ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือปล่อยดอกเบี้ยระยะยาวให้ปรับขึ้นบ้างเพื่อคุมเงินเฟ้อ ทำให้มีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาจนอัตราดอกเบี้ยติดกรอบบน ซึ่ง BOJ ก็เข้าซื้อพันธบัตรแบบไม่อั้นเพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นให้อยู่หมัด สิ่งนี้ทำให้ BOJ ซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ BOJ กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลมากถึง 50% ของจำนวนพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด ตามข้อมูลของ BOJ และข้อมูลตลาด

 

ประการสุดท้าย ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบัน จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเมษายน เมื่อผู้นำคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งต่อในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ มีโอกาสที่จะเริ่มปรับนโยบายให้เป็นปกติ มันจะเป็นความท้าทายสำหรับผู้ว่าการคนต่อไป แต่ตลาดก็มองในแง่ดีว่าการเปลี่ยนแปลงผู้นำครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับ BOJ ในการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน

 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ BOJ ปรับมาตรการ Yield Curve Control (YCC) 

 

ผลกระทบต่อตลาดจะขึ้นอยู่กับว่า BOJ เปลี่ยนแปลง YCC อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเป้าหมาย YCC มาควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นขึ้นการขยายกรอบการเคลื่อนไหวอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวหรือจะเป็นการยุติมาตรการ YCC 

 

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความเป็นไปได้เหล่านี้อาจนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในญี่ปุ่นและค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ผลที่ตามมาคือนักลงทุนอาจพบว่าพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากกว่า เมื่อเทียบกับพันธบัตรประเทศอื่นๆ บางประเทศ และการลงทุนในตราสารหนี้อาจกลับมาที่ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเหมือนที่เราเห็นในปี 2022 ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนในตราสารหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้นผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกอาจมีนัยสำคัญ

 

Yield Curve Control (YCC) อาจเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ยั่งยืน 

 

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เป้าหมายของ YCC ซึ่งก็คือการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำนั้นประสบความสำเร็จมานานกว่าหกปี ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% ซึ่งอาจหมายความว่า BOJ บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้

 

ในทางกลับกัน BOJ ได้เน้นย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันนั้นขับเคลื่อนด้วยปัจจัยด้านอุปทานและเกิดขึ้นชั่วคราว นอกจากนี้การซื้อพันธบัตรอย่างถล่มทลายของ BOJ เพื่อรักษา YCC ซึ่งทำให้ตลาดพันธบัตรมีความผิดปกติ และการเสื่อมสภาพในการทำงานของตลาดเอง ทำให้นโยบายดูไม่ยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

แม้ BOJ จะมีการใช้ YCC อย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถเติบโตเร็วเท่ากับประเทศอื่นๆ และค่าจ้างที่แท้จริงของคนงานยังคงลดลง ซึ่งทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่า YCC อาจเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ยั่งยืน ทำให้ BOJ อาจต้องพิจารณายุติมาตรการนี้ในไม่ช้า

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X