ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณว่า การเลิกใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ‘อยู่ไม่ไกล’ หลังรองผู้ว่าการฯ พยายามอธิบายให้ตลาดเข้าใจว่า หากเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบจะส่งผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง
เรียวโซ ฮิมิโนะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณว่า BOJ กำลังเข้าใกล้ ‘การเลิกใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ’ แล้ว ผ่านการเปิดเผยสมมติฐานที่อาจเกิดขึ้นหากอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นพลิกเป็นบวกจริงๆ แต่ก็ย้ำว่า BOJ จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปจนกว่า BOJ จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน
โดยฮิมิโนะได้สรุปผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากญี่ปุ่นยกเลิกการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในงานรวมผู้นำธุรกิจแห่งหนึ่งในเมืองโออิตะ โดยหนึ่งในการดำเนินการที่ฮิมิโนะอธิบายคือ การเลิกใช้ ‘อัตราดอกเบี้ยติดลบ’
โดยฮิมิโนะระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 อาจไม่เป็นอันตรายอย่างที่บางคนกังวล โดยครัวเรือนน่าจะได้รับประโยชน์จากรายได้สุทธิ (Net Income) ที่ดีขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยขยับไปอยู่ในแดนบวก ขณะที่ผลกระทบต่อภาคธุรกิจก็มีแนวโน้มที่จะถูกจำกัด นอกจากนี้ฮิมิโนะยังกล่าวอีกว่า ระบบการเงินญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดจากบรรดาผู้นำของ BOJ ว่า ทางการกำลังพิจารณาว่าผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรหาก BOJ เลิกใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ และตอกย้ำความคาดหวังของตลาดที่ประเมินว่า BOJ จะเลิกใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบภายในกลางปีหน้า
ฮิมิโนะดูเหมือนจะตั้งใจคลายความกังวลใจในหมู่ชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับแนวโน้มการเลิกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย รวมไปถึงการเลิกใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ โดยระบุว่า “หากทำอย่างถูกต้องก็จะมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะบรรลุผลลัพธ์เชิงบวก เนื่องจากครัวเรือนและบริษัทต่างๆ จำนวนมากจะได้รับประโยชน์จากวงจร Wages-Prices Cycle”
ฮิมิโนะกล่าวอีกว่า สถาบันการเงินอาจเผชิญกับผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized Losses) จากการถือครองพันธบัตรระยะยาว แต่ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน (Investment Yields) ด้วยการเปลี่ยนพันธบัตรที่ถือไว้เป็นพันธบัตรใหม่
อ้างอิง: