ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของ ญี่ปุ่น ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.19 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนที่ทำสถิติอ่อนค่าในรอบ 32 ปี
นับจากต้นปีเงินเยนอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 30% โดยปัจจัยหลักเกิดจากส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ถ่างกว้างมากขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังยืนกรานที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ญี่ปุ่น เร่งฟื้นการท่องเที่ยว ตั้งเป้าดึงตัวเลขกลับแตะ 40 ล้านคนเท่าก่อนโควิดภายในปี 2025
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ที่รู้ไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจใช้เงินราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี และตลาดเชื่อว่าญี่ปุ่นยังมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินต่อเนื่องหลังจากนั้น แม้ว่าทางการปฏิเสธที่จะยืนยันข้อมูลดังกล่าว โดยประเมินว่าญี่ปุ่นได้ใช้เงินราว 2.8 ล้านล้านเยนและ 6.35 ล้านล้านเยนเพื่อเข้าแทรกแซงค่าเงินในเดือนกันยายนและตุลาคมตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังคงมีสถานะเป็นประเทศที่มีระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเป็นรองเพียงจีนที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศราว 3 ล้านล้านดอลลาร์ประเทศเดียวเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ Bloomberg ได้รายงานข่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับลดลงรวมกันแล้วประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 7.8% ซึ่งนับเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2003
จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงมากที่สุดถึง 204,662 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่ลดลง 167,694 ล้านดอลลาร์ และสวิตเซอร์แลนด์ที่ลดลง 143,442 ล้านดอลลาร์
อ้างอิง: