×

นักเศรษฐศาสตร์คาด BOJ อาจยกเลิกมาตรการ Yield Curve Control ในสัปดาห์นี้ หลังบอนด์ยีลด์ญี่ปุ่นพุ่งทะลุกรอบ 0.50%

17.01.2023
  • LOADING...
Yield Curve Control

นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจยกเลิกมาตรการ Yield Curve Control (YCC) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสัปดาห์นี้ 

 

นับตั้งแต่ BOJ สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดในเดือนธันวาคม 2022 ด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นให้สามารถเคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่กรอบการเคลื่อนไหวถูกกำหนดเอาไว้ที่ -0.25% ถึง +0.25% 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง​:


 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นก็ปรับเพิ่มขึ้นจนทะลุเพดานกรอบนโยบายของ BOJ หลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดได้เกิดขึ้นวานนี้ (16 มกราคม) ที่บอนด์ยีล์ของญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.51% เหนือเพดาน 0.50% ของกรอบนโยบาย

 

สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ภาวะดังกล่าวทำให้ BOJ ต้องใช้เงินเข้ากว่า 2 ล้านล้านเยน ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เพื่อกดให้บอนด์ยีลด์กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักเริ่มมีมุมมองว่า BOJ อาจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอีกครั้งในการประชุมที่จะมาถึง โดย Izumi Devalier หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America คาดการณ์ว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ต่อไป แต่อาจยกเลิกมาตรการ YCC 

 

“เราเริ่มเห็นความเสี่ยงที่ BOJ จะยุติมาตรการ YCC จากความผิดปกติในตลาดตราสารหนี้หลังมีการปรับเปลี่ยนมาตรการดังกล่าวในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะนี้นักลงทุนท้องถิ่นจำนวนมากยังเริ่มมองการยุติมาตรการเป็นคาดการณ์ในกรณีฐานแล้ว” Devalier กล่าว

 

Devalier ระบุว่า แม้ว่าการคงดอกเบี้ยของ BOJ จะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นญี่ปุ่น แต่หากมีการยกเลิกมาตรการ YCC จริง ดัชนี TOPIX อาจมีโอกาสปรับตัวลดลงได้มากถึง 3% ในระยะสั้น

 

ด้าน Takeshi Yamaguchi หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Morgan Stanley ให้มุมมองที่สอดคล้องกัน โดยเขามองว่า BOJ มีโอกาสจะยกเลิกมาตรการ YCC ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งรวมถึงการประชุมในเดือนมกราคมนี้ด้วย เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วมาตรการ YCC จะทำให้ธนาคารกลางวางแผนล่วงหน้าได้ยาก

 

อย่างไรก็ดี Paul Mackel หัวหน้าฝ่ายวิจัยอัตราแลกเปลี่ยนของ HSBC ยังคงคาดการณ์ว่า BOJ จะยังไม่ยกเลิกมาตรการ YCC ในการประชุมครั้งนี้ แต่จะใช้วิธีขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี จาก 0.50% เป็น 0.75% แทน

 

Yield Curve Control คืออะไร?

Yield Curve Control คือมาตรการที่ธนาคารกลางต้องการจะล็อกอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว ซึ่งโดยทั่วไปคือดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นตัวที่สะท้อนต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจไว้ที่ระดับใดระดับหนึ่ง เนื่องจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายแบบปกติส่งผลต่อต้นทุนการเงินในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว โดยธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้ได้ตามเป้า จึงถือเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคุมต้นทุนการกู้ยืมไม่ให้สูงเกินไป 

 

โดยในกรณีของญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้มาตรการ Yield Curve Control หรือ YCC มาตั้งแต่ปี 2006 เนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจขยายตัวได้น้อย การควบคุมไม่ให้ต้นทุนการเงินของภาคเอกชนสูงเกินไปจึงถือเป็นการจูงใจให้ภาคธุรกิจขยายการลงทุน โดยมีการเปรียบเปรยมาตรการ YCC ว่าเป็น QE ของญี่ปุ่น เพียงแต่การกระตุ้นอาจไม่ดุดันเท่ากับ QE 

 

อย่างไรก็ดี การบิดเบือนตลาดเพื่อรักษาดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในกรอบเป้าหมายก็ย่อมมีผลลบเช่นกัน เช่น ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่องของ BOJ ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวกลับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระยะสั้น หรือที่รู้จักกันในชื่อภาวะ Inverted Yield Curve ขณะเดียวกัน การรักษาระดับดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำในขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงทำสถิติในรอบกว่า 20 ปี

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising