×

มรสุมยังไม่จาง Boeing โดนปรับเพิ่ม จากข้อหาละเมิดสัญญายอมความ

11.07.2024
  • LOADING...
Boeing

เมื่อไม่กี่วันก่อน Boeing ยอมรับผิดต่อข้อกล่าวหาทางอาญาหลังจากที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อหาว่า Boeing ละเมิดสัญญายอมความระหว่างกัน ซึ่งทำให้ Boeing ต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มอีก 243.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.1 พันล้านบาท

 

กรณีนี้ไม่ใช่กรณีใหม่ เพราะเป็นกรณีเกี่ยวเนื่องจากปัญหาแรกที่ทำให้โลกรู้ว่า Boeing 737 MAX และตัวบริษัทเองมีวิกฤตด้านนิรภัยการบินอย่างร้ายแรง หลังจากที่เที่ยวบินของสายการบิน Lion Air และ Ethiopian Airlines ประสบอุบัติเหตุตกจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 346 คน จากความผิดพลาดของระบบ MCAS ซึ่ง Boeing ติดตั้งเพื่อแก้อาการร่วงหล่นของเครื่องบินที่อาจเกิดขึ้นแต่ไม่ยอมบอกทั้งนักบินและผู้ตรวจสอบจากภายนอก จนเมื่อข้อมูลจากเซ็นเซอร์มีความผิดพลาด ทำให้ระบบ MCAS ทำงานผิดพลาดจนทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องบินพยายามปักหัวลงตลอดเวลาเพื่อสร้างความเร็วและแก้อาการร่วงหล่น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเครื่องบินไม่ได้กำลังร่วงหล่นลงมา

 

ในครั้งนี้ Boeing ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่าพยายามหลอกลวงและปิดบังผู้ตรวจสอบจากภายนอก จน Boeing ต้องทำสัญญายอมความกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ด้วยการจ่ายค่าปรับจำนวน 243.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ค่าชดเชยต่อสายการบิน 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิต 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงยินยอมที่จะลงทุนจำนวน 455 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบ กำกับดูแล และนิรภัยการบินของบริษัทภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวดจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 ปี แลกกับการไม่ต้องเข้ารับการพิจารณาคดี

 

แต่การถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดสัญญายอมความทำให้ Boeing ต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มอีก 243.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถูกบันทึกในประวัติว่าบริษัทเคยมีคดีอาญา และลงนามในสัญญายอมความฉบับใหม่เพื่อไม่ให้บริษัทต้องเข้ารับการพิจารณาคดีอีกครั้ง

 

แต่การดำเนินการของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ นี้ถูกกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตมองว่าเป็นการดำเนินการแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ คือกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แค่บังคับให้ Boeing จ่ายค่าปรับและค่าชดเชย ซึ่งแม้จะเป็นเงินที่มากถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.1 หมื่นล้านบาท แต่ก็ถือว่าอยู่ในวิสัยที่บริษัทระดับ Boeing ที่มีรายได้ในปี 2023 ถึง 7.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.79 ล้านล้านบาท จะจ่ายได้สบายๆ และก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ บริษัทไม่ต้องถูกพิจารณาคดีซึ่งทำให้ญาติผู้เสียชีวิตไม่สามารถเห็นหลักฐานต่างๆ หรือเปิดโอกาสให้ทนายของกลุ่มญาติสามารถซักค้านและไล่บี้ Boeing ในศาลได้ ทำให้กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจะยื่นคำคัดค้านสัญญายอมความฉบับใหม่นี้ต่อศาล แต่ก็อาจจะมีความหวังไม่มากนัก เพราะกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเคยยื่นคัดค้านสัญญายอมความฉบับแรกมาแล้วแต่ศาลปัดตกคำร้องไป

 

เรื่องทั้งหมดนี้เป็นแค่กรณีเดียวที่ Boeing เจอ เพราะยังมีอีกหลายกรณีและอีกหลายแผลที่ทยอยเปิดออกมา ไม่ว่าจะเป็นประตูที่หลุดออกจาก Boeing 737 MAX ปัญหาด้านความสอดคล้องกับมาตรฐานในการผลิต การกำกับดูแลที่ย่ำแย่ หรือการทดสอบที่ไม่เพียงพอจากการเน้นที่กำไรมากกว่าความปลอดภัย ซึ่งลามไปถึงการค้นพบปัญหาในการผลิตใน Spirit AeroSystems ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเจ้าหลักของ Boeing ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของ Boeing และแยกตัวออกมาในภายหลัง และทำให้ Boeing ต้องซื้อ Spirit AeroSystems กลับมาอีกครั้ง หรือแม้แต่ในหน่วยธุรกิจอื่นๆ เช่น Defense และ Space & Security ซึ่งพบปัญหาของตัวเอง แม้แต่ Starliner ซึ่งเป็นยานอวกาศของ Boeing ที่ได้รับสัญญาจาก NASA ภายใต้โครงการ Commercial Crew Program (CCP) ที่กว่าจะขึ้นสู่อวกาศได้ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีกไปหลายเที่ยว พอขึ้นไปแล้วก็พบปัญหาฮีเลียมรั่วไหลจนนักบินอวกาศสองคนของสหรัฐฯ ต้องเลื่อนการกลับลงมาบนโลกอย่างไม่มีกำหนด

 

ในโลกของการบิน ความปลอดภัยมาเป็นอันดับ 0 คือสำคัญยิ่งกว่าอันดับ 1 เสียอีก ทุกๆ กฎระเบียบที่ออกมาล้วนมุ่งสร้างความปลอดภัยให้กับการบินจนทำให้อันที่จริงแล้วการเดินทางทางอากาศคือการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ดังนั้นถ้ามีอะไรกระทบกับความปลอดภัย ก็จะส่งผลต่อความมั่นใจจากทั้งผู้ใช้งานและผู้โดยสาร

 

ซึ่งการเสียความมั่นใจก็สะท้อนออกมายังยอดสั่งซื้อของ Boeing ที่แม้เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจะเป็นเดือนที่ Boeing ส่งมอบเครื่องบินให้กับลูกค้ามากที่สุดในปี คือส่งมอบจำนวน 44 ลำ แต่ก็ถือว่าลดลงจากปีที่แล้วถึง 27% ที่สำคัญก็คือได้รับคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาเพียง 14 ลำ โดยในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า Boeing 777F ไปแล้วถึง 11 ลำ นั่นหมายถึงมีสายการบินสั่งเครื่องบินโดยสารจาก Boeing แค่ 3 ลำเท่านั้น ซึ่งเมื่อรวมกับการยกเลิกคำสั่งซื้อที่ทยอยเข้ามา ทำให้จริงๆ แล้ว Boeing มียอดสั่งซื้อลดลงไปถึง 104 ลำ รวมแล้วตั้งแต่ต้นปีมียอดสั่งซื้อแค่ 115 ลำเท่านั้น

 

กลับกัน ผู้ผลิตเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Airbus กวาดคำสั่งซื้อไป 327 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี และเมื่อรวมกับการยกเลิกคำสั่งซื้อแล้วก็ยังมียอดสั่งซื้อเหลืออีกถึง 310 ลำ และส่งมอบเครื่องบินให้กับลูกค้า 323 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี

 

Boeing เคยเป็นผู้ผลิตเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทุกคนเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่ตราบใดที่ Boeing ยังไม่สามารถจัดการปัญหาของตัวเองและเรียกความเชื่อมั่นจากคนทั่วโลกได้ บริษัทก็เสี่ยงที่จะเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่องไปเช่นนี้ และการไล่ตาม Airbus ซึ่งเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบันก็จะยากขึ้นไปอีก ยิ่งเมื่อดูในตลาดเครื่องบินโดยสารซึ่งมีผู้เล่นใหม่อย่าง COMAC ของจีนที่กำลังก้าวขึ้นมาแข่งขันในตลาดโลก โดยกวาดยอดสั่งซื้อจากสายการบินจีนหลายร้อยลำด้วยเครื่องบินขนาดเล็กอย่าง ARJ21 และ C919 และกำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบเครื่องบินลำตัวกว้างอย่าง C929 และ C939 ซึ่งจากการสนับสนุนของรัฐบาลจีน อาจทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า COMAC อาจเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับ 3 ในตลาด ซึ่งตลาดนี้ก็ยังมี Embraer อีกหนึ่งผู้เล่นหลักสัญชาติบราซิลที่ยังแข่งขันในตลาดอยู่เช่นกัน

 

นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับ Boeing และมันจะยิ่งยากมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ถ้า Boeing ยังไม่สามารถจัดการปัญหาด้านนิรภัยการบินให้จบได้ในเร็ววันนี้

ภาพ: Andrew Harnik / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising