×

Boeing ‘ปีกหัก’ ในจีน โดนสั่ง ‘แบน’ รับมอบเครื่องบินเพิ่ม ตอบโต้ภาษี Trump สุดโหด กระทบยักษ์ใหญ่อเมริกาเต็มๆ

16.04.2025
  • LOADING...
Boeing

จีนสั่งการให้สายการบินของตน ‘ระงับ’ การรับมอบเครื่องบินจาก Boeing เพิ่มเติม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามการค้า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสูงถึง 145% ตามข้อมูลจากแหล่งข่าววงใน

 

ปักกิ่งยังได้ร้องขอให้สายการบินจีน ‘หยุด’ การซื้ออุปกรณ์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินจากบริษัทในสหรัฐฯ ด้วย แหล่งข่าวกล่าวกับ Bloomberg

 

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่จีนเปิดตัวมาตรการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากอเมริกาสูงถึง 125% เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งภาษีเหล่านั้นเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้ต้นทุนของเครื่องบินและชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ทำให้สายการบินจีนไม่สามารถรับมอบเครื่องบิน Boeing ได้

รัฐบาลจีนยังพิจารณาวิธีการให้ความช่วยเหลือแก่สายการบินที่เช่าเครื่องบิน Boeing และกำลังเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น แหล่งข่าวกล่าว

 

Boeing มีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อข้อพิพาททางการค้าระหว่างอเมริกากับประเทศคู่ค้า ไม่เหมือนบริษัทข้ามชาติอื่นๆ Boeing สร้างเครื่องบินทั้งหมดในโรงงานในสหรัฐฯ ก่อนส่งเครื่องบินพาณิชย์เกือบ 2 ใน 3 ไปยังลูกค้านอกสหรัฐฯ 

 

ที่สำคัญ Boeing เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับสหรัฐฯและรองรับการจ้างงาน 1.6 ล้านตำแหน่งทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยบริษัทมีพนักงานในสหรัฐฯ เกือบ 1.5 แสนคน

 

Boeing กำลังประสบปัญหามาหกปีแล้ว โดยมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานสะสม 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่บริษัทรายงานกำไรประจำปี จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับการซื้อเครื่องบิน จากการวิเคราะห์ล่าสุดของ Boeing คาดการณ์ว่าสายการบินของจีนจะซื้อเครื่องบินใหม่ 8,830 ลำในช่วง 20 ปีข้างหน้า

 

ยักษ์ใหญ่ด้านการบินรายนี้เผชิญภาวะ ‘ขาดทุนสะสม’ กว่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่บริษัทรายงานผลกำไร การส่งมอบเครื่องบินถือเป็นหัวใจสำคัญของ Boeing เพราะบริษัทจะได้รับเงินค่าเครื่องบินส่วนใหญ่ก็ต่อเมื่อส่งมอบให้ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว

 

การระงับส่งมอบครั้งนี้จึงกระทบรายได้อย่างรุนแรง โดยขณะนี้มีเครื่องบิน Boeing 737 Max ราว 10 ลำที่เตรียมเข้าประจำการในฝูงบินของสายการบินจีน และยังมีเครื่องบินที่ผลิตเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งมอบอีก 55 ลำ ณ สิ้นปี 2024 ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อจากจีนและอินเดีย

 

ปัญหาของ Boeing ไม่ได้มีเพียงเรื่องการค้าเท่านั้น ในปี 2019 จีนเป็นชาติแรกที่สั่ง ‘ระงับบิน’ เครื่องบินรุ่น 737 Max หลังเกิดโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกถึงสองครั้ง และเพิ่งกลับมาอนุญาตให้ส่งมอบได้อีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ก่อนจะมาเกิดวิกฤตด้านคุณภาพครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อต้นปี 2024 เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นและทำให้สถานะของ Boeing ในตลาดจีนสั่นคลอนอยู่ก่อนแล้ว

 

แม้ว่าความต้องการเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดอื่นๆ เช่น อินเดีย จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้ Boeing ได้บ้าง แต่สถานการณ์นี้กลับเป็นผลดีต่อคู่แข่งสำคัญอย่าง Airbus จากยุโรป นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าการเคลื่อนไหวของจีนครั้งนี้อาจเป็นเพียง ‘หมากต่อรอง’ ชั่วคราวในเกมการค้า

 

อย่างไรก็ตาม Seth Seifman นักวิเคราะห์จาก JPMorgan ให้ความเห็นว่า “เราไม่เห็นว่าจีนมีความสำคัญต่อการเพิ่มกำลังการผลิตของ Boeing ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่จีนจะมีความสำคัญในระยะยาว”

 

สถานการณ์ตึงเครียดนี้ยังเน้นย้ำว่าจีนยังคง ‘พึ่งพา’ ผู้ผลิตจากต่างประเทศสำหรับเครื่องบินโดยสารเพื่อรองรับความต้องการการเดินทางทางอากาศของประชากร

 

แม้ว่า Airbus จะเป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญกว่า และสายการบินจีนกำลังคาดหวังให้เครื่องบิน Comac C919 ที่ผลิตในประเทศจะช่วยเสริมความต้องการเครื่องบินลำตัวแคบ แต่สายการบินต่างๆ ยังคงมีเครื่องบิน Boeing หลายร้อยลำในฝูงบินของตน ซึ่งจะต้องมีการบำรุงรักษา, ซ่อมแซม และเปลี่ยนชิ้นส่วน

 

สายการบินและบริษัทให้เช่าเครื่องบินของจีนจำนวนมากได้สะสมชิ้นส่วนอะไหล่ไว้จำนวนมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทั้งจาก OEM และจากการซื้อเครื่องบินเก่า แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว ซึ่งอาจช่วยให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศรับมือกับปัญหาการขาดแคลนได้

 

ภาพ: Alexandr Zimovskoy / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising