ถ้าการแสดงของวง Queen และเฟรดดี เมอร์คิวรี ในคอนเสิร์ต Live Aid ที่สนามเวมบลีย์ ประเทศอังกฤษ ปี 1985 คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน Live อันยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
ย้อนกลับไปในปี 2553 คอนเสิร์ต Bodyslam Live In คราม ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ก็ควรค่าแก่การถูกจดจำในฐานะ Live อันยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีไทย
แต่การเดินทางในชีวิตนักดนตรีนั้นทอดยาวเสมอ ตราบเท่าที่พวกเขายังมีพลังความฝันและความเชื่อ ซึ่งการตัดสินใจว่าจะกลับไปยืนบนเวทีที่ยิ่งใหญ่กลางราชมังคลากีฬาสถานในคอนเสิร์ตครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านั้นก็เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ‘บอดี้สแลม’ ยังพร้อมเสมอสำหรับความท้าทาย
สำคัญที่สุดคือ ‘ทัศนคติ’ ที่พวกเขายืนยันกับ THE STANDARD POP ว่าแม้จะเคยผ่านเวทีมาแล้วสักกี่ร้อยกี่พันโชว์ แต่เชื่อเถอะว่า Live จะยังคงเป็น ‘วิชาแห่งชีวิตนักดนตรี’ ที่พร้อมมอบบทเรียนและประสบการณ์แห่งความสุข ความทุกข์ ความเศร้า ความตื่นเต้น และความภูมิใจให้กับคุณได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะอยู่บนเวทีในฐานะนักดนตรี หรืออยู่ด้านล่างในฐานะแฟนเพลงก็ตามที
สมาชิกวงประกอบด้วย
ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย (ร้องนำ)
ยอด-ธนชัย ตันตระกูล (กีตาร์)
ปิ๊ด-ธนดล ช้างเสวก (เบส)
ชัช-สุชัฒติ จั่นอี๊ด (กลอง)
โอม เปล่งขำ (เปียโน, คีย์บอร์ด)
“ผมรู้สึกว่าถ้าเราเป็นแฟนเพลงวงไหนสักวง การที่จะจบขั้นตอนของการเป็นแฟนวงนั้นได้ดีที่สุด หรือจบอัลบั้มที่เราฟังแล้วชอบได้ดีที่สุด นั่นคือเราต้องไปดูวงนั้นเล่นเพลงในอัลบั้มที่ชอบต่อหน้าให้ได้สักครั้งในชีวิต” -ตูน (ร้องนำ)
ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย (ร้องนำ)
ถามวงดนตรีที่กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ในเร็ววันนี้ พวกคุณคิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของไลฟ์คอนเสิร์ต ทำไมแฟนเพลงถึงควรต้องฝ่ารถติด ทำไมเราต้องแย่งกันกดซื้อบัตรคอนเสิร์ตเพื่อที่จะได้ไปอยู่ในบรรยากาศตรงนั้น ทั้งที่จริงๆ การนอนเสพงานเพลงจากเครื่องเล่นหรือสมาร์ทโฟนสบายกว่าเยอะ
ตูน: ถ้าพูดในฐานะคนดูนะฮะ ผมรู้สึกว่าถ้าเราเป็นแฟนเพลงวงไหนสักวง การที่จะจบขั้นตอนของการเป็นแฟนวงนั้นได้ดีที่สุด หรือจบอัลบั้มที่เราฟังแล้วชอบได้ดีที่สุด นั่นคือเราต้องไปดูวงนั้นเล่นเพลงในอัลบั้มที่ชอบต่อหน้าให้ได้สักครั้งในชีวิต
มันเหมือนเป็นการปิดกล่องของการเป็นแฟนเพลง (ยิ้ม) เราได้ไปสนับสนุนเขาในแบบที่มันควรจะเป็น เราได้ร้องเพลง ได้เห็นเขามาแสดงสดๆ เราอยากเห็นอารมณ์ที่เขาเล่นเพลงนั้นจริงๆ บนเวทีต่อหน้าต่อตาเรา ไม่ใช่เป็นมาสเตอร์ที่ฟังในเทปหรือซีดีที่มันเรียบร้อย
โอม: ถูกต้องอย่างที่ตูนบอกเลยฮะ คอนเสิร์ตมันคือการเติมเต็ม ไลฟ์เนี่ย ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วนะว่าคือความมีชีวิตชีวา ไม่ใช่การเห็นเขาจากในจอหรือแค่การฟังเพียงอย่างเดียว อย่างเวลาฟังเพลงจากมาสเตอร์ ร้อยรอบมันก็เหมือนกัน แต่เราไปดูไลฟ์เนี่ย มันอาจจะมีสิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นครั้งเดียวแล้วมันไม่มีอีกแล้ว นั่นคือความน่าตื่นเต้นของการดูคอนเสิร์ต
ปิ๊ด: สำหรับผม ถ้าเราเป็นแฟนใคร เราชอบวงไหน สิ่งที่อยากจะทำมากที่สุดนอกจากมีอัลบั้มคือการได้ไปเจอตัวจริงของเขา แล้วก็ได้ไปฟังสิ่งที่เขาเล่นออกมาร่วมกับคนที่ชอบเหมือนเราอีกร้อยคน อีกพันคน เหมือนเราได้ไปสัมผัสพลังงานที่แฟนเพลงและศิลปินที่ชอบส่งกลับไปกลับมาให้กัน นี่คือสุดยอดแล้ว
“ครั้งหนึ่งผมเคยไปรอ อลานิส มอริสเซตต์ ที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก (Alanis Morissette Live in Bangkok, 2542) แล้วตอนนั้นผมพกปกเทปไป เราก็ไปรอเหมือนกรุ๊ปปี้เลย จำได้เลยว่าไปรอตรงทางโหลดด้านหลังของอินดอร์ฯ แต่ว่าเขาออกมาแล้วก็ขึ้นรถตู้กลับไปเลย แต่เราก็ไม่ได้อะไร พกไปเผื่อฟลุก” -ตูน (ร้องนำ)
ชัช: โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นนักดนตรี พอได้ไปเห็นเขา ไอ้สิ่งที่เราเคยแกะเพลงเขา อ๋อ ของจริงมันตีอย่างนี้เองเหรอ มันก็ได้ความรู้ไปอีกแบบ
ยอด: ของผมจะมีลิสต์รายชื่อเลยว่าต้องดูวงนี้เล่นสดให้ได้สักครั้งในชีวิต ตอนนี้ในลิสต์ที่จดไว้ก็ดูไปจนเกือบครบแล้ว คือเราเป็นแฟนเพลง เราอยากเห็นเขาเล่นจริงๆ เราอยากสัมผัสบรรยากาศรอบๆ งาน เดินซื้อเสื้อวง มันต่างกันมากกับการนั่งดูคอนเสิร์ตในยูทูบ
อยากรู้เลยว่าวงที่ลิสต์ไว้ว่าต้องดูให้ได้คือวงอะไรบ้าง
ยอด: Guns N’ Roses, Skid Row, Korn และอีกเยอะมากเลยครับ แต่มีวงเดียวที่ยังไม่ได้ดูก็คือ Mötley Crüe เพราะเขาเลิกเล่นคอนเสิร์ตไปแล้ว สมัยก่อนนี่ผมไปรับถึงสนามบินแล้วก็ตามไปโรงแรมเลยครับ ตามเป็นกรุ๊ปปี้วงเลย
ตูน: ผมก็เป็นคล้ายๆ พี่ยอด ตอนวัยรุ่นผมก็จะพกซีดีไปด้วยเวลาไปดูวงที่เขามาจากต่างประเทศ ครั้งหนึ่งผมเคยไปรอ อลานิส มอริสเซตต์ ที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก (Alanis Morissette Live in Bangkok, 2542) แล้วตอนนั้นผมพกปกเทปไป เราก็ไปรอเหมือนกรุ๊ปปี้เลย จำได้เลยว่าไปรอตรงทางโหลดด้านหลังของอินดอร์ฯ แต่ว่าเขาออกมาแล้วก็ขึ้นรถตู้กลับไปเลย แต่เราก็ไม่ได้อะไร พกไปเผื่อฟลุก (ยิ้ม)
ยอด: แต่จริงๆ ไม่ต้องเป็นวงที่เราชอบก็ได้นะครับ ถ้ามีโอกาสควรจะไปดูให้หมด เพราะหลังจากจบคอนเสิร์ต วันนั้นคุณจะกลับบ้านไปด้วยพลัง ดูแล้วอยากจะทำงานต่อ วันรุ่งขึ้นผมจะอยากฝึก อยากทำอะไรเต็มไปหมด
“ผมจะมีลิสต์รายชื่อเลยว่าต้องดูวงนี้เล่นสดให้ได้สักครั้งในชีวิต ตอนนี้ในลิสต์ที่จดไว้ก็ดูไปจนเกือบครบแล้ว คือเราเป็นแฟนเพลง เราอยากเห็นเขาเล่นจริงๆ เราอยากสัมผัสบรรยากาศรอบๆ งาน เดินซื้อเสื้อวง มันต่างกันมากกับการนั่งดูคอนเสิร์ตในยูทูบ” -ยอด (กีต้าร์)
ยอด-ธนชัย ตันตระกูล (กีตาร์)
สำหรับนักดนตรีด้วยกัน การได้เห็นศิลปินวงโปรดไลฟ์สดๆ ให้ดูต่อหน้า ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง
ชัช: น้ำตาจะไหล เฮ้ย เพลงที่ชอบขึ้นมาแล้ว บางทีเราอยากจะก้าวออกไปโยกนะ อยากจะเข้าไปแท็กกับคนที่มาดูคอนเสิร์ต แต่ขอฟัง ขอดูดีกว่า เป็นบุญตามากที่ผมทันดู Metallica มาเปิดคอนเสิร์ตในไทยตอนที่วงยังสดๆ คือมาเหมือนในปกซีดีเลย (Metallica Live In Bangkok, 2536 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) ไม่มีเหี่ยว
ปิ๊ด: แล้วตอนนี้เป็นยังไงครับ
ชัช: โอ้โห หน้าไปหมดแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้นยังเป็นเด็กมัธยมอยู่เลย แล้วสมัยก่อนคุณภาพเครื่องเสียงในบ้านเรา ถ้าเทียบกันคือยังไม่ได้ดีมาก แต่เขาสามารถทำให้เรารู้สึกเหมือนนั่งฟังเทปที่อยู่บ้านได้ พูดแล้วขนลุก
ปิ๊ด: ส่วนผมร้องไห้ไปเลยครับตอนที่วง Dream Theater ร้องเพลง Another Day คือระยะหลังเขาเล่นเพลงนี้น้อยมาก เหมือนวงลืมเพลงนี้ไปแล้วด้วยซ้ำมั้ง แต่วันที่วงมาเล่นที่เมืองไทย (Dream Theater Live In Bangkok, 2555) เขาเล่นเพลงในอัลบั้มนี้ทั้งอัลบั้มเลย (Images and Words, 2535) แล้วตอนที่ขึ้นโซโลเพลง Another Day กีตาร์แรกก็น้ำตาแตกเลย กูได้ยินแล้ว
“ไม่ต้องเป็นวงที่เราชอบก็ได้นะครับ ถ้ามีโอกาสควรจะไปดูให้หมด เพราะหลังจากจบคอนเสิร์ต วันนั้นคุณจะกลับบ้านไปด้วยพลัง” -ยอด (กีต้าร์)
จากวันที่เคยเป็นแฟนเพลง วันหนึ่งบอดี้สแลมกลายเป็นวงดนตรีที่มีแฟนเพลงรอคอยเพื่อจะได้ซื้อบัตรไปดูคอนเสิร์ต ความรู้สึกของการยืนมองอยู่ด้านล่างกับการขึ้นไปยืนบนเวทีแล้วมองลงไปดูแฟนเพลงของตัวเอง โมเมนต์สองอย่างนี้ต่างกันอย่างไรบ้าง
ตูน: ผมจำได้ วันที่รู้สึกว่ามีแฟนเพลงอยากจะมาดูเราจริงๆ น่าจะเป็นช่วงอัลบั้ม Believe โชว์แรกที่ธันเดอร์โดม (14 พฤษภาคม 2548 คอนเสิร์ตวันคุ้มครองโลก Bodyslam Believe Concert ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี) เพราะมันเป็นคอนเสิร์ตใหญ่และคอนเสิร์ตแรกของบอดี้สแลมที่มีการขายบัตร
ที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยมีคอนเสิร์ตแบบมีการขายบัตรเพื่อให้คนมาดูเราในสนามกีฬาในร่มขนาดใหญ่ ความจุประมาณ 7-8 พันคน คือเรารู้สึกไม่มั่นใจเลย ไม่มั่นใจอะไรเลยสักอย่าง เพราะเราก็เพิ่งมีอัลบั้มที่ 3 ไป แล้วก็เพิ่งย้ายมาอยู่แกรมมี่ใหม่ๆ ในใจผมคิดว่า เฮ้ย จะมีคนเสียสตางค์มาดูเราหรือเปล่า (หัวเราะ) จนขายบัตรไปแป๊บเดียวก็ขายหมด เออ มันเป็นความรู้สึกที่… ตอนนี้ยังใจเต้นอยู่เลย ย้อนกลับไปในตอนนั้นมันรู้สึกว่า เฮ้ย เราก็มีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ
ปิ๊ด: ที่กดดันอีกอย่างคือเป็นคอนเสิร์ตเอิร์ธเดย์ครั้งแรกของประเทศไทยที่เป็นคอนเสิร์ตเดี่ยว
“การได้เห็นท่อนของเพลง เรือเล็กควรออกจากฝั่ง ที่เราคิดขึ้นมา หรืออีกหลายเพลงที่เราช่วยกันแต่งมันถูกเล่นให้คนหลายหมื่นฟัง สำหรับผมมันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ขนลุก มันดีใจและภูมิใจมากในยามที่เรายืนอยู่บนเวที” -โอม (เปียโน, คีย์บอร์ด)
ตูน: คือคอนเสิร์ตเอิร์ธเดย์สมัยก่อนเขาจะเล่นที่สนามกีฬากองทัพบก ยุคนั้นเราจะคุ้นเคยว่าเป็นคอนเสิร์ตที่จะเต็มไปด้วยวงดนตรีใหญ่ๆ ของแกรมมี่ ยกตัวอย่างพี่ๆ วง Y Not 7, Fly, Nuvo อะไรอย่างนี้นะฮะ จัดกันทุกปี แต่ปีนั้นเป็นครั้งแรกที่จัดแบบบอดี้สแลมวงเดียว ซึ่งเราเด็กน้อยมากในตอนนั้น แล้วขายบัตรด้วย
เราจำได้เลยว่าคอนเสิร์ตครั้งนั้นมันเต็มไปด้วยความรู้สึกหลายๆ อย่าง ทั้งประทับใจ โล่งใจ (หัวเราะ) ในฐานะนักดนตรี วันนั้นมันเติมเต็มเราแล้วในบันไดขั้นแรกของการเป็นวงดนตรีที่เล่นจริงจังเป็นอาชีพ มันทำให้เราไม่ลืม แม้กระทั่งวันนี้ก็ยังใช้วันนั้นเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างมันไม่ได้สวยหรู ไม่ได้ง่ายดาย เรายังต้องทำงานหนักอยู่เสมอ เรายังต้องตั้งใจเล่นแต่ละโชว์ให้ดีอยู่เสมอ ใส่ใจกับทุกรายละเอียดของแต่ละอัลบั้มอยู่เสมอ เราอยากมีวันแบบนั้นอีกต่อไปเรื่อยๆ
“เป็นบุญตามากที่ผมทันดู Metallica มาเปิดคอนเสิร์ตในไทยตอนที่วงยังสดๆ คือมาเหมือนในปกซีดีเลย (Metallica Live In Bangkok, 2536 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) น้ำตาจะไหล เฮ้ย เพลงที่ชอบขึ้นมาแล้ว บางทีเราอยากจะก้าวออกไปโยกนะ อยากจะเข้าไปแท็กกับคนที่มาดูคอนเสิร์ต แต่ขอฟัง ขอดูดีกว่า” –ชัช (กลอง)
ชัช-สุชัฒติ จั่นอี๊ด (กลอง)
ขอสักหนึ่งภาพจำเกี่ยวกับ ‘คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชีวิต’ ที่คุณประทับใจและจะจำไม่มีวันลืม
ตูน: คือคอนเสิร์ตก็คือคอนเสิร์ตนะฮะ มันก็ดีของมันในรูปแบบที่คนดูร้องตามเราเต็มที่ แต่สิ่งผมจำได้คือผมลงจากเวทีแล้วเจอแม่ คือแต่ก่อนแม่ก็ไม่เชื่อเราหรอกว่าเป็นนักดนตรี เป็นนักร้องแล้วจะอยู่ได้ยาวๆ เป็นอาชีพหรือเลี้ยงตัวเองได้
วันนั้นแม่ผมบอกว่า โอเค เชื่อแล้วว่าตูนทำได้ หรืออะไรอย่างนี้นะฮะ แล้วก็ร้องไห้ เป็นจุดเริ่มต้นของการบ่อน้ำตาแตกในวันนั้น (หัวเราะ) เรารู้สึกว่า เออ วันนั้นมันดีมาก แล้วจำฉากนี้ได้ จำคำพูดแม่ได้
“ไลฟ์เนี่ย ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วนะว่าคือความมีชีวิตชีวา ไม่ใช่การเห็นเขาจากในจอหรือแค่การฟังเพียงอย่างเดียว อย่างเวลาฟังเพลงจากมาสเตอร์ ร้อยรอบมันก็เหมือนกัน แต่เราไปดูไลฟ์เนี่ย มันอาจจะมีสิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นครั้งเดียวแล้วมันไม่มีอีกแล้ว นั่นคือความน่าตื่นเต้นของการดูคอนเสิร์ต” -โอม (เปียโน, คีย์บอร์ด)
โอม: ช่วงนั้นผมน่าจะยังเล่นดนตรีกลางคืนอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ยังไม่ได้เข้ามาร่วมวง แต่สิ่งที่ผมอยากบอกคือความรู้สึกของการเล่นดนตรีกลางคืนกับเล่นคอนเสิร์ตมันคนละเรื่องกันเลย แน่นอนว่าเรื่องปริมาณมันต่างกัน แต่มากไปกว่านั้นคือความรู้สึกของการได้เล่นเพลงที่เป็นของเราเองกับเพลงของคนอื่น มันเทียบกันไม่ได้เลย
ย้อนกลับไปแม้กระทั่งคอนเสิร์ตที่ราชมังคลากีฬาสถานครั้งที่แล้วเองก็ตาม ครั้งนั้นผมอยู่บนเวทีในฐานะนักดนตรีสนับสนุน แต่การอยู่บนเวทีในฐานะสมาชิกของวงบอดี้สแลมจริงๆ และมีเพลงที่ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่ามันก็คือเพลงของผมเหมือนกัน นั่นคือช่วงอัลบั้ม ดัม-มะ-ชา-ติ
…การได้เห็นท่อนของเพลง เรือเล็กควรออกจากฝั่ง ที่เราคิดขึ้นมา หรืออีกหลายเพลงที่เราช่วยกันแต่งมันถูกเล่นให้คนหลายหมื่นฟัง สำหรับผมมันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ขนลุก มันดีใจและภูมิใจมากในยามที่เรายืนอยู่บนเวที
“เพลงโปรดในชีวิตอีกเพลงหนึ่งคือเพลง บอดี้สแลม (Drive, 2546) ซึ่งระหว่างทางก่อนจะมาเล่นคอนเสิร์ตที่ราชมังคลากีฬาสถาน เราไม่ได้เล่นเพลงนี้กันมานานมาก แล้วพอตั้งใจว่าจะหยิบเพลงนี้ขึ้นมาเล่นในคอนเสิร์ต ผมจำได้ว่าเราเล่นเป็นช่วงแรกๆ และเป็นเพลงแรกๆ ที่รู้สึกว่าสนามกีฬาทั้งสนามมันกระเพื่อม สำหรับผมมันเป็นเมจิกโมเมนต์ที่สุดยอดมาก” ปิ๊ด (เบส)
ปิ๊ด-ธนดล ช้างเสวก (เบส)
แล้วอย่าง Bodyslam Live In คราม ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานเมื่อปี 2553 น่าจะเรียกได้ว่าเป็นคอนเสิร์ตในตำนานของวงการเพลงไทยได้เลยนะ คือมันยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จมาก สำหรับพวกคุณ เมจิกโมเมนต์สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนั้นคืออะไร
ตูน: เมจิกโมเมนต์ของมันก็คืออะไรรู้ไหมฮะ มันเกือบจะไม่ได้เป็นที่ราชมังคลากีฬาสถาน ตอนแรกเราแค่ตั้งใจจะเล่นคอนเสิร์ตใหญ่กันในสเตเดียม เพราะมันเป็นเหมือนภาพที่เราเคยดูมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าวงดนตรีที่เราชอบอย่าง Bon Jovi, Metallica, Skid Row หรือวงใดก็ตาม เราเคยดูวิดีโอมาว่าเขามักจะได้เล่นในสนามกีฬาใหญ่ๆ พูดในฐานะนักดนตรี ตอนนั้นพอมีอัลบั้ม คราม (2552) เราก็รู้สึกว่าอยากเป็นแบบนั้นบ้าง
ตอนแรกเราตั้งใจจะเล่นแค่ที่สนามศุภชลาศัย อันนี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง (ยิ้ม) เมจิกโมเมนต์มากก็คือสนามศุภชลาศัยไม่ให้เล่นคอนเสิร์ตแล้ว (หัวเราะ) แค่นั้นเลย ทีมงานก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นมันเหลืออีกสนามเดียวแหละที่จะเล่นได้ ก็คือราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์คิดถึงราชมังคลากีฬาสถานแน่นอน มันคือตรรกะเดียวกันกับคอนเสิร์ตตอนอัลบั้ม Believe เลย คือเรากลัว
ราชมังคลากีฬาสถานมันใหญ่มาก มันใหญ่ไปสำหรับเราครับ แต่ด้วยความที่เราตั้งโจทย์เอาไว้แล้วว่าอยากเล่นในสเตเดียม พอบอกว่าเหลือราชมังคลากีฬาสถานที่เดียว แล้วที่อื่นก็ไม่ว่างหรืออะไรก็ตาม ถ้าอย่างนั้นก็ลองดู
ใจตอนนั้นคิดว่าคนไม่ต้องเต็มก็ได้ เพราะไม่ว่าบัตรจะขายได้เท่าไร คนมาดูเท่าไร ทุกคนคือแฟนเพลงของเราทั้งนั้น ฉะนั้นเราจะเล่นอย่างเต็มที่ เราจะทำทุกอย่างอย่างดีที่สุด จนสุดท้ายมันก็ออกมาเป็นอย่างที่ทุกคนเห็น คือเกินคาดมากๆ
ปิ๊ด: เพลงโปรดในชีวิตอีกเพลงหนึ่งคือเพลง บอดี้สแลม (Drive, 2546) ซึ่งระหว่างทางก่อนจะมาเล่นคอนเสิร์ตที่ราชมังคลากีฬาสถาน เราไม่ได้เล่นเพลงนี้กันมานานมาก แล้วพอตั้งใจว่าจะหยิบเพลงนี้ขึ้นมาเล่นในคอนเสิร์ต ผมจำได้ว่าเราเล่นเป็นช่วงแรกๆ และเป็นเพลงแรกๆ ที่รู้สึกว่าสนามกีฬาทั้งสนามมันกระเพื่อม สำหรับผมมันเป็นเมจิกโมเมนต์ที่สุดยอดมาก
โอม: เมจิกโมเมนต์ของผมคือ 10 นาทีก่อนโชว์จะเริ่ม เพราะผมเป็นคนแรก เสียงแรกที่คนจะได้ยินในคอนเสิร์ตครั้งนั้นคือเสียงคีย์บอร์ดในเพลง แสงสุดท้าย ที่ไม่ได้ใช้การเปิด แต่ใช้การเล่นสดด้วยมือทั้งสองข้าง
ซึ่งช่วงสแตนด์บายก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่มสัก 10 นาที ความรู้สึกคือมันจะเป็นลม คืออัฒจันทร์ของราชมังคลากีฬาสถานมันสูงมาก แต่มีคนขึ้นไปอยู่ตรงนั้น พอเห็นคนจำนวนมากมายแล้วแบบ… เหมือนเราถูกบรรยากาศตรงนั้นฆ่าตาย คือมือมันสั่น
จำได้ว่าพอขึ้นโน้ตแรกของเพลง แสงสุดท้าย แล้วคนกรี๊ดขึ้นมา รู้สึกได้ว่าตัวเองกระจอกมาก จิตใจตัวเองตอนนั้นมันเด็กมาก เล็กมาก ยังอ่อนหัดมาก แต่พอผ่าน 2-3 เพลงแรกไปได้ เราก็สามารถจะดึงอารมณ์ร่วมไปกับบรรยากาศที่ยอดเยี่ยมตรงหน้าต่อไปได้ ฉะนั้นเมจิกโมเมนต์ที่ผมไม่เคยลืมเลยก็คือช่วงนั้นแหละ ช่วงหลังจากจบเพลง สรรเสริญพระบารมี ไปอีก 10 นาที
“เราถูกบรรยากาศตรงนั้นฆ่าตาย คือมือมันสั่น จำได้ว่าพอขึ้นโน้ตแรกของเพลง แสงสุดท้าย แล้วคนกรี๊ดขึ้นมา รู้สึกได้ว่าตัวเองกระจอกมาก จิตใจตัวเองตอนนั้นมันเด็กมาก เล็กมาก ยังอ่อนหัดมาก” -โอม (เปียโน, คีย์บอร์ด)
โอม เปล่งขำ (เปียโน, คีย์บอร์ด)
ล่าสุดปีหน้าบอดี้สแลมกำลังจะกลับขึ้นไปเล่นที่นั่นอีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แถมยังเล่นถึง 2 รอบ ถามจริงๆ พวกคุณคิดอะไรกันอยู่
ตูน: เหตุและผลคือเราอยากจะกลับไปบรรยากาศนั้น อยากจะเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ของอัลบั้ม วิชาตัวเบา ในบรรยากาศนั้นอีก เราคิดถึงบรรยากาศที่ทุกคนมารวมตัวกัน คิดถึงเสียง 6 หมื่นคนร้องเพลงเดียวกันพร้อมๆ กันครับ มันพิเศษด้วยจำนวน มันพิเศษด้วยขนาดของมัน และเราไม่ได้เล่นที่นี่มา 8-9 ปีตั้งแต่อัลบั้ม คราม
สำคัญที่สุด เรารู้สึกว่าตอนนี้ไม่มากก็น้อยเราสุกงอมในฐานะนักดนตรี เราได้ผ่านเวทีมาเพิ่มเติมจาก Bodyslam Live In คราม ก็นับร้อยนับพันเวที 8-9 ปีมานี้เรามีประสบการณ์เพิ่มขึ้น มีเพลงที่อยู่ในลิสต์ที่จะเล่นได้มากขึ้น ก็เลยคิดว่าคงไม่มีจังหวะไหนเหมาะจะกลับไปเล่นที่ราชมังคลากีฬาสถานอีกสักครั้งเท่าตอนนี้ ในจังหวะที่เรายังมีแรงกันแบบวัยรุ่นตอนปลาย
เราคิดว่าเรายังสามารถที่จะเพอร์ฟอร์ม เล่นด้วยกันได้ แล้วส่งพลังไปสุดอัฒจันทร์ชั้นบนอยู่ ก็เลยคุยกันในวงว่าถ้าอย่างนั้นเรามาเล่นที่ราชมังคลากีฬาสถานกันดูอีกสักตั้งหนึ่ง (ยิ้ม)
รู้สึกว่านอกจากจะเล่น 2 รอบ แต่ยังจัดในรูปแบบเฟสติวัล…
ตูน: เล่าเรื่องเล่น 2 รอบก่อนนะครับ เพราะว่าครั้งที่แล้วมีแฟนเพลงหลายๆ คนพลาด และด้วยความที่โชว์ในราชมังคลากีฬาสถานอย่าง Bodyslam Live In คราม มันก็คือโปรดักชันครั้งเดียวที่เราจะได้เล่น ที่ทุกคนจะได้ดู ได้มีประสบการณ์ร่วมกัน แล้วถึงดูดีวีดีบันทึกการแสดงมันก็รู้สึกไม่เหมือนเข้าไปดูในสนาม
ฉะนั้นคราวนี้ไหนๆ ก็ทำเวทีขึ้นมาแล้ว ทำโปรดักชันดีที่สุดที่เราทำได้แล้ว ซ้อมกันมาแล้ว เราก็ไม่อยากให้คนพลาดอีก ก็เลยคุยกัน ถามกันว่าไหวนะ แล้วพอทุกคนบอกว่าไหว ถ้าอย่างนั้นก็เดินหน้าเล่นอย่างเต็มที่แบบ 2 รอบเพื่อให้ทุกคนไม่พลาดมัน
ปิ๊ด: นอกจากเล่น 2 รอบแล้วเนี่ย ครั้งนี้มันจะเป็นคอนเสิร์ตที่ทุกคนจะได้ใกล้ชิดกับบอดี้สแลมมากที่สุด เพราะว่าเราจัดในรูปแบบของเฟสติวัล คือนอกจากในสนามที่มีเวที มีการเล่นดนตรีแล้วเนี่ย รอบนอกจากสนามราชมังคลากีฬาสถานยังจะมีซุ้มกิจกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเวทีเล็กสำหรับให้น้องๆ ที่เคยมีประสบการณ์เหมือนเรา คือเคยประกวดดนตรีตามเวทีต่างๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ และมันก็สะท้อนถึงตัวตนของพวกเราด้วยว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้มันใช้เวลานานและผ่านเรื่องราวต่างๆ มาเยอะมาก
ตูน: คือด้านในสนามก็มีคอนเสิร์ตนะครับ แต่ด้านนอกเราจะมีทั้งเวทีเล็กที่ปิ๊ดเล่าให้ฟัง อาจจะมีสตรีทโชว์ดีๆ ให้ทุกคนได้ดูแล้วสร้างแรงบันดาลใจ และแน่นอนว่าทุกคนต้องกินอาหาร เราก็จะยกร้านอาหารที่มีความผูกพันกับเรื่องราวของเรา คือหลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ เวลาเราเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ต ระหว่างทางมีร้านอะไรอร่อยบ้าง ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้มันสามารถจะเล่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยได้ว่าตลอด 15-16 ปีเราผ่านอะไรกันมาบ้าง
โอม: พูดง่ายๆ ก็คือทุกๆ เรื่องที่อยู่ในเฟสติวัลครั้งนี้มันมีความเกี่ยวพันกับบอดี้สแลมในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง มันคือการรวมเรื่องราว รวมความทรงจำตลอด 15-16 ปีที่พวกเราเดินทางในฐานะนักดนตรี
ตูน: แม้กระทั่งเหตุและผลที่มีวงเล็กๆ ของน้องๆ วัยมัธยมที่ประกวดมาจากเวที Hotwave Music Awards หรือเวทีต่างๆ ที่เขามีความสามารถมาเล่นที่เวทีด้านนอก มันก็สามารถจะเล่าชีวิตของพวกเราทั้ง 5 คนได้ว่าครั้งหนึ่งพวกเราก็เคยเป็นแบบนี้ เป็นวงน้องๆ ที่พร้อมจะขึ้นเวทีในทุกครั้งที่มีโอกาส เราอยากลงประกวด ชนะบ้าง แพ้บ้าง ไปเอาฮาบ้าง ไปทำผิดกติกาบ้าง อยากเล่นยาวกว่าเพื่อนบ้าง (ยิ้ม) ครั้งหนึ่งเราก็เคยเป็นแบบนี้ แล้ววันหนึ่งจับพลัดจับผลูเดินทางกันจนได้มาเล่นดนตรีที่ราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งก็ไม่แน่ว่าต่อไปอาจจะมีวงของน้องๆ ที่มีโอกาสแบบเราให้ได้ก้าวขึ้นไปเล่นที่นี่บ้างก็ได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เราก็เลยอยากให้พวกเขาได้รับประสบการณ์จริง รับรู้พลังงานจริงๆ ในบรรยากาศคอนเสิร์ตที่กำลังจะเกิดขึ้น
“เรารู้สึกว่าตอนนี้ไม่มากก็น้อยเราสุกงอมในฐานะนักดนตรี เราได้ผ่านเวทีมาเพิ่มเติมจาก Bodyslam Live In คราม ก็นับร้อยนับพันเวที 8-9 ปีมานี้เรามีประสบการณ์เพิ่มขึ้น มีเพลงที่อยู่ในลิสต์ที่จะเล่นได้มากขึ้น ก็เลยคิดว่าคงไม่มีจังหวะไหนเหมาะจะกลับไปเล่นที่ราชมังคลากีฬาสถานอีกสักครั้งเท่าตอนนี้” -ตูน (ร้องนำ)
แค่ฟังคุณเล่าก็ตื่นเต้นแล้ว ถ้าอย่างนั้นขอเรื่องตื่นเต้นที่วงรอคอยมากที่สุดในคอนเสิร์ตครั้งนี้
ตูน: สำหรับส่วนตัวผมเอง เรื่องที่ตื่นเต้นคือเรากำลังจะมีอัลบั้มใหม่ อัลบั้มที่ 7 วิชาตัวเบา ที่จะออกมาในช่วงเดือนมกราคม เพื่อให้คนได้ฟังเพลงทั้งอัลบั้มก่อนที่จะมาดูคอนเสิร์ต ฉะนั้นมันก็เลยตื่นเต้นตั้งแต่ก่อนคอนเสิร์ต ตื่นเต้นที่ทุกคนจะได้ฟังทุกเพลงในอัลบั้ม วิชาตัวเบา ซึ่งมีอีกหลายบทเพลงที่วงภูมิใจจะนำเสนอ และเราเองก็อยากรู้ด้วยว่าทุกคนจะรู้สึกยังไงกับมัน ซึ่งมันก็จะนำไปสู่การตื่นเต้นในสนาม เพราะหลายเพลงมันจะถูกเล่นเป็นครั้งแรก เพราะเราจะต้องลุ้นอย่างตื่นเต้นว่าทุกคนจะมีฟีดแบ็กยังไง (หัวเราะ) ซึ่งความรู้สึกตื่นเต้นแบบนี้ ผมถือว่ามันเป็นเรื่องดี เพราะความพิเศษของคอนเสิร์ตนี้คือความสด สดทั้งคนเล่น สดทั้งคนดู (หัวเราะ) ผมว่าเรามารับประสบการณ์นี้ไปด้วยกัน เพราะครั้งแรกมันจะมีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แล้วมันจะพิเศษ ผมเชื่ออย่างนั้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- เตรียมตัวให้พร้อม คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งล่าสุด Bodyslam Fest #วิชาตัวเบา Live In ราชมังคลากีฬาสถาน จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 และอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 เปิดจำหน่ายบัตร 6 มกราคม 2562 ตั้งแต่ 10.00 น. ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.bodyslamfest.com