“ชื่อ…ดาราราย…ตามหาให้เจอ!”
ภาพมุมสูง แมวผี เสียงฟ้าร้องจากเพลง คิดถึงเธอทุกที (ที่อยู่คนเดียว) ในเวอร์ชันที่ได้เสียงของ แพท-สุธาสินี พุทธินันทน์ มาคอยโอบอุ้ม และบรรยากาศสุดหลอน นี่คือสิ่งที่คนดู บอดี้..ศพ#19 หนังกึ่งสยองขวัญกึ่งสอบสวน ผลงานกำกับของ กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา จากค่าย GTH ต้องจำได้ไม่มีวันลืม
หนังหยิบเอาคดีฆาตกรรมสะเทือนวงการแพทย์มาเป็นส่วนหนึ่งในเค้าโครงการดำเนินเรื่อง โดยมีเส้นเรื่องหลักอยู่ที่อาการฝันร้ายของ ชลสิทธิ์ (รับบทโดย เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ) ที่ทุกครั้งเมื่อเผลอหลับ ภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมพร้อมกับเสียงกรีดร้องและความปรารถนาแรงกล้าจะปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอ
ระหว่างที่เขาพยายามขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ไปพร้อมๆ กับตามหาหญิงสาวในฝัน อาการประหลาดของชลสิทธิ์ ความลึกลับของหมอสุธี การหายไปตัวของหญิงสาวที่ชื่อดาราราย การปรากฏตัวเป็นระยะของแมวผี และเรื่องราวความสัมพันธ์ที่แสนหม่นเศร้าและดาร์กสุดใจก็ค่อยๆ ปรากฏให้เห็น ระหว่างทางนำไปสู่ตู้เก็บศพหมายเลข 19 ไปสู่ตอนจบหลายคนยังฝังใจมาถึงทุกวันนี้
สิ่งที่ต้องชื่นชมมากๆ คือ บอดี้..ศพ#19 นับว่าเป็นความกล้าหาญในการทดลองอะไรใหม่ๆ ของค่าย GTH ที่ผลงานก่อนหน้าจะคลายปมตอนจบได้อย่างชัดเจน แต่ผู้กำกับอย่างกอล์ฟเลือกที่จะใส่สัญญะให้ตีความแบบ ‘เนิร์ด’ สุดขั้วเอาไว้มากมายเต็มไปหมด ชนิดที่ถ้าไม่มีโลโก้ของ GTH แปะอยู่ หลายคนไม่มีทางนึกออกแน่นอนว่าค่ายหนังอารมณ์ดีจะมีผลงานแบบนี้ออกมาได้
กอล์ฟเคยเฉลยสัญลักษณ์ที่ซ่อนเอาไว้ในหนังในวาระครบรอบ 11 ปี บอดี้..ศพ#19 เข้าไปอ่านได้ที่นี่
ผลตอบรับของ บอดี้..ศพ#19 ปิดตัวด้วยรายได้ 30 ล้านบาท พร้อมกับคำวิจารณ์ที่แตกออกเป็นสองฝั่ง คือฝ่ายที่ชื่นชอบว่านี่คือหนังสยองขวัญที่เล่นกับ ‘จิตวิทยา’ ของมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม กับฝ่ายที่เดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความรู้สึกว่าไม่สามารถทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่องในหนังได้เลย
อีกหนึ่งความกล้าที่เกิดขึ้นในวันที่คอหนังไทยกำลัง ‘ยี้’ กับคุณภาพการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกที่เคยผ่านมา แต่ บอดี้..ศพ#19 กลับเลือกใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมาช่วยเล่าเรื่องในหลายๆ ฉากสำคัญ ทั้งเอฟเฟกต์ผี ฉากขับรถ ภาพตึกมุมสูง มือของชลสิทธิ์ และฉากจบที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังใส่แว่น 3 มิติขณะรับชม ฯลฯ จนสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2550 สาขาการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ
และสิ่งสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเสียงร้องสุดหลอน เหงา เปล่าเปลี่ยว แต่ทรงพลังของแพท สุธาสินี ในเพลง คิดถึงเธอทุกที (ที่อยู่คนเดียว) ที่กังวานขึ้นมาตั้งแต่ฉากแรกของภาพยนตร์ และทำให้เราขนลุกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงนี้ดังขึ้นทุกครั้งด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เพราะเวอร์ชันนี้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึก ‘อ้างว้าง เสียใจ’ ที่ต้องอยู่คนเดียว แต่เป็นเพราะเรารู้สึกว่ายังมี ‘ใคร’ บางคนวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ทั้งๆ ที่เรากำลังนั่งอยู่คนเดียว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์