หลังโควิด-19 การทำงานของคณะกรรมการบริษัทต้องถูกปรับเปลี่ยนหรือไม่ การทำงานในสถานการณ์ที่แกว่งตัวแรง แปรปรวนตลอดเวลา มีความซับซ้อน มองทะลุได้ยาก (VUCA) คณะกรรมการจะสนับสนุนฝ่ายบริหารเพื่อนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร
Design Thinking เป็นแนวคิดการออกแบบที่วิเคราะห์ปัญหาผ่านมุมมองของผู้ใช้ ไม่ใช่ผู้ผลิต ใช้การทำความเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจุดตั้งต้น ก่อนจะหาวิธีแก้ที่เหมาะสมจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และการให้บริการรอบตัวเรา เช่น Apple Mouse ตัวแรก Airbnb และ Uber Eats
เราลองมาคิดเล่นๆ ไปพร้อมๆ กันว่า หากทำได้ เราอยากเห็นการทำงานระหว่างคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร ต้องบอกก่อนว่าไม่ได้หมายความว่าปัจจุบันไม่ดีนะครับ แต่ด้วยอัตราเร่งของโลกหลังวิกฤตไวรัส คณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็น ‘สติ’ และฝ่ายบริหารที่เปรียบเสมือน ‘สมอง’ ขององค์กรจะทำงานสอดรับกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้อย่างไร
เหมือนกระบวนการ Design Thinking ทั่วไปที่อาจเริ่มโดยถามยูสเซอร์ แต่ยูสเซอร์สำหรับคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารที่ต้องคำนึงถึงคือใคร… ผู้ถือหุ้น… ลูกค้า… คู่ค้า… พนักงาน… ภาครัฐ… สังคม…
ท่านกรรมการเองก็คงอยากได้ข้อมูลของธุรกิจที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ต่อเนื่องขึ้น ข้อมูลเกี่ยวโยงกับความเป็นไปของ Stakeholders มากขึ้น กรรมการอาจต้องการหารือกับฝ่ายบริหารถึงสมมติฐานสำคัญที่กำลังเปลี่ยนไป เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค ผู้บริหารเองอาจรู้สึกว่ากระบวนการของการประชุมคณะกรรมการที่เป็นครั้งๆ ในปัจจุบันโดยมีวาระที่มีการกำหนดข้ามปีอาจไม่คล่องตัวสำหรับสถานการณ์ที่พลิกผันอย่างต่อเนื่อง
ผู้ถือหุ้นอาจเริ่มถามว่าพวกเขาจะวัดประสิทธิภาพการทำงานระหว่าง ‘สติ’ และ ‘สมอง’ ขององค์กรได้อย่างไร ความเชื่อมโยงผลประกอบการที่ยั่งยืนกับการทำงานนั้นวัดอย่างไร
ลูกค้าอาจเริ่มถามว่าในทุกบาททุกสตางค์ที่ชำระเพื่อซื้อสินค้า เขารู้ได้อย่างไรว่ามันคุ้มค่า อาจไม่ใช่ความคุ้มค่าของสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรโลก เงินของเขากำลังไปพัฒนาอนาคตของสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือมันกำลังไปกระตุ้นผลกระทบเชิงลบกับอนาคตของลูกหลาน องค์กรจะอธิบายกับเขาอย่างไร
พนักงานอาจเริ่มถามว่าองค์กรช่วยพัฒนาศักยภาพของเขาอย่างไร ช่วยเตรียมความพร้อมให้เขาในโลกแห่งความไม่แน่นอนอย่างไร หากเขาจะต้องลงทุนเวลาแห่งชีวิตกับองค์กร ความคุ้มค่าและความหมายที่มากกว่าเงินเดือนคืออะไร องค์กรจะช่วยเขาตอบโจทย์ชีวิตอย่างไร
วันนี้เราคงไม่มีคำตอบว่า Boardroom หลังวิกฤตไวรัสควรเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือเราต้องเริ่มจาก ‘เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา’ การทำ Empathy กับ Stakeholders ขององค์กรตามหลัก Design Thinking น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะครับ
ขอเอาใจช่วยทุกท่านนะครับ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์