×

BNK48 : GIRLS DON’T CRY (พ.ศ. 2561) ไอดอลลำเค็ญ

18.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หนังของนวพล (ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเขาทำหนังสั้นอย่างเรื่อง ฝรั่งเศส จนถึงหนังยาวเรื่องหลังๆ อาทิ ฟรีแลนซ์ฯ และแน่นอน Die Tomorrow) เป็นหนังที่เศร้าถึงเศร้ามากทุกเรื่อง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มันเป็นคนละอย่างกับหนังบีบน้ำตา
  • ความเศร้าในหนังหลายเรื่องของนวพล มักเกี่ยวเนื่องกับการที่ตัวละครซึ่งเป็นเพียงแค่คนตัวเล็กๆ พบว่า เธอหรือเขาไม่อาจสู้รบปรบมือกับอะไรบางอย่างที่ใหญ่โตและมีพลังอำนาจมากกว่า อย่างชนิดต้านทานไม่ได้

 

 

หากจะมีถ้อยคำใดๆ ในหนังเรื่อง BNK48 : Girls Don’t Cry ผลงานล่าสุดของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่น่าจะใช้อธิบายความรู้สึกรวมๆ ของหลายคนและรวมถึงตัวเองด้วย มันก็น่าจะอยู่ที่ชื่อโปรดักชันของนวพลที่เราได้เห็นในตอนเริ่มต้นเรื่อง หรือจริงๆ แล้ว ชื่อของโปรดักชันนี้ก็ปรากฏอยู่ในหนังของเขาทุกเรื่องนั่นแหละ

 

และนั่นคือ ‘เวรี่ แซด พิกเจอร์ส’

 

มานึกทบทวนดู หนังของนวพล (ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเขาทำหนังสั้นอย่างเรื่อง ฝรั่งเศส จนถึงหนังยาวเรื่องหลังๆ อาทิ ฟรีแลนซ์ฯ และแน่นอน Die Tomorrow) เป็นหนังที่เศร้าถึงเศร้ามากทุกเรื่อง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มันเป็นคนละอย่างกับหนังบีบน้ำตา หมายความว่า ความเศร้าในหนังเหล่านั้นไม่ได้เป็นผลลัพธ์มาจากการบิลด์อารมณ์ หรือการเล่นใหญ่ด้วยกลวิธีด้านภาพยนตร์อย่างหน้ามืดตามัว เพราะจริงๆ แล้ว หลายครั้งมันปะทุมาจากการแสดงออกเพียงเล็กน้อยด้วยซ้ำ (การถ่ายแบบลองเทก จัมป์คัต การแสดงออกอย่างไร้อารมณ์หรือเฉยชา) ข้อน่าสังเกตก็คือ ความเศร้าในหนังหลายเรื่องของนวพล มักจะเกี่ยวเนื่องกับการที่ตัวละครซึ่งเป็นเพียงแค่คนตัวเล็กๆ พบว่า เธอหรือเขาไม่อาจสู้รบปรบมือกับอะไรบางอย่างที่ใหญ่โตและมีพลังอำนาจมากกว่า อย่างชนิดต้านทานไม่ได้ (อาทิ ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย, อคติของผู้คน, ระบบโรงเรียนมัธยม, ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและเทคโนโลยี, วงการโฆษณา, ความตายและการพลัดพรากจากลา เป็นต้น) และจนแล้วจนรอด เขาหรือเธอมักจะต้องลงเอยด้วยสภาพที่ถ้าไม่แพ้พ่าย ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับความน่าผิดหวังของสรรพสิ่งรอบข้างอย่างน่าเวทนา

 

 

อย่างที่ทุกคนรับรู้ หนังสารคดีเรื่อง BNK48 : Girls Don’t Cry บอกเล่าเรื่องราวของวงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปที่โด่งดังในระดับปรากฏการณ์ และพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า พลิกโฉมหน้าของวงการเพลงบ้านเราที่อยู่ในภาวะซบเซาอย่างน่าตื่นตา สำหรับคนที่ไม่ได้เกาะติดกระแสความร้อนแรง หรือหากจะใช้ศัพท์แสลงของวัยรุ่น ก็ต้องบอกว่า ไม่ได้เป็น ‘โอตะ’ ของวง BNK48 ระบบและกลไกการทำงานของวงเกิร์ลกรุ๊ปนี้ ก็นับว่าสลับซับซ้อนทีเดียว

 

ในแง่หนึ่ง BNK48 ไม่ได้เป็นเพียงแค่กลุ่มนักร้องที่ประกอบไปด้วยสมาชิกซึ่งเป็นเด็กสาวอายุระหว่าง 13-23 ปี (เฉพาะรุ่นหนึ่ง) จำนวนทั้งสิ้น 26 คน ทว่า เป็น ‘รูปแบบการทำธุรกิจ’ ที่คล้ายๆ กับทีมฟุตบอลอาชีพ (ตามที่ผู้บริหารฯ ให้คำจำกัดความ) ซึ่งนั่นแปลว่า มีระบบการคัดเลือกหรือออดิชัน มีการปลุกปั้นฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น ให้ความสำคัญกับระบบดาวเด่นหรือตัวท็อป (ในที่นี้เรียกว่า เซ็นเตอร์) มีคนถูกเลือกให้เป็นตัวจริง มีคนถูกดรอปให้เป็นตัวสำรอง และโดยปริยาย การแข่งขันระหว่าง ‘เพื่อนร่วมทีม’ ก็สูงลิบลิ่ว และนั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงระบบแฟนคลับซึ่งเป็นทั้งผู้มีอุปการคุณ และกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ นานา

 

แต่ไม่ว่าเบื้องหลังจะสลับซับซ้อนอย่างไร ภาพเบื้องหน้าของเหล่าไอดอลแห่งวง BNK48 ก็เหมือนถูกนำเสนอให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด กลุ่มเด็กสาวที่แต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่บ่งบอกถึงความเยาว์วัย และมีลักษณะเป็นเครื่องแบบที่ดูเหมือนกันไปหมด จนแทบจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร สีหน้าและอากัปกิริยาของพวกเธอมีแต่รอยยิ้ม ความสนุกสนาน ความน่ารัก ความร่าเริงแจ่มใส ความผุดผ่องไร้เดียงสา และความต้องการเอาอกเอาใจ คงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนัก หากจะพูดว่า เหล่าไอดอลไม่มีความแตกต่างกัน เพราะเชื่อว่าแฟนคลับที่เป็น ‘โอชิ’ (แปลว่า สนับสนุน) ใครอย่างลงลึก ก็คงแจกแจงได้อย่างถี่ถ้วนว่า แต่ละคนมีบุคลิกและลักษณะพิเศษและจำเพาะในแบบฉบับของตัวเองอย่างไร

 

แต่ก็นั่นแหละ ภาพลักษณ์เวลาออกสื่อของเหล่าไอดอลก็ยังเป็นคาแรกเตอร์ที่จำกัด เหมือนหนังเมโลดราม่าที่ตัวละครไม่ค่อยมีมิติ หรือพูดอย่างถึงที่สุด เราไม่ค่อยรู้สึกถึงความมีเลือดมีเนื้อและเป็นมนุษย์มนา (ที่รู้ร้อนรู้หนาว) ของแต่ละคนอย่างจริงๆ จังๆ เท่าใดนัก หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเธอดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกมัดด้วยชื่อยี่ห้อเดียวกัน และกลายเป็นมหรสพเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจของแฟนๆ

 

 

ความน่าทึ่งก็คือ หนังสารคดีเรื่อง BNK48 : Girls Don’t Cry ในแง่ของเป้าประสงค์แล้ว (ประเมินจากคนที่ออกทุนให้สร้างหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้แก่ต้นสังกัดของวงนั่นเอง) ควรจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมภาพพจน์ของวงเกิร์ลกรุ๊ปที่สุดแสนโด่งดังนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง ช่วยหล่อเลี้ยงแฟนตาซีและความฝันเฟื่องของแฟนคลับให้ลอยละล่องและฟูฟ่องไปเรื่อยๆ กลับหันเหทิศทางการบอกเล่าไปในฟากที่เรียกได้ว่าตรงกันข้าม และนั่นก็คือการ disillusioned หรือชะล้างภาพลวงตา และเปิดโอกาสให้ผู้ชมไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับหรือไม่ ได้ประสบพบกับแง่มุมที่ถ้าหากไม่ใช่ความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็เป็นด้านที่ไม่เพ้อฝันสวยงาม กระทั่งเจือปนความหม่นมืดในดีกรีที่เข้มข้นทีเดียว

 

และวิธีการที่คนทำหนังเลือกให้แต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง อันได้แก่การกำหนดให้น้องๆ ทั้ง 26 คน พูดคุยกับกล้องโดยตรง (ซึ่งแปลว่า แต่ละคนมี ‘แอร์ไทม์’ ของตัวเอง แม้ว่าจะไม่เท่าเทียมกัน) และไม่ใช่การถ่ายแบบข้ามไหล่ หรือมองคนสัมภาษณ์ที่อยู่ข้างๆ กล้อง ก็ทำให้ผู้ชม และโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับซึ่งก่อนหน้านี้แทบจะแยกแยะใครเป็นใครไม่ได้เลย สัมผัสได้ถึงความเป็นปัจเจกของ ‘เมมเบอร์’ แต่ละคน ไม่มากไม่น้อย นั่นคือตอนที่เราบอกได้ว่า น้องๆ แต่ละคนช่างผิดแผกแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของรูปโฉมโนมพรรณ สุ้มเสียงและสำเนียงการพูด วุฒิภาวะ ความนึกคิด อุปนิสัยใจคอ ความฝัน ความหวัง หรือแม้กระทั่งเป้าหมายในชีวิต

 

อีกทั้งการที่คนทำหนังสร้างบรรยากาศการสนทนาที่เป็นส่วนตัวมากๆ ไม่ใช่การพูดคุยในที่พลุกพล่าน ไม่มีบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้อง เน้นการจับภาพในระยะใกล้ ระดับของแสงภายในห้องไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป และผู้กำกับก็โผล่มาเพียงแค่เสียง อีกทั้งยังมีลักษณะชวนคุยไปเรื่อยๆ มากกว่าการตั้งคำถามอย่างคาดเค้นหรือเป็นเรื่องเป็นราว ทีละน้อย สถานการณ์ที่เริ่มต้นจากการให้แต่ละคนบอกเล่าชีวิตของการเป็นสมาชิกวง BNK48 ก็แปรเปลี่ยนไปเป็นการระบายความรู้สึกส่วนตัวอย่างเต็มตื้นและพรั่งพรู

 

 

และอย่างหนึ่งที่สามารถสรุปได้ไม่ยาก (จริงๆ แล้วชื่อหนังก็บอกโทนโท่) ก็คือ ไม่ว่าน้องๆ สองโหลกว่าๆ จะประเมินชีวิตของตัวเองที่ผ่านพ้นไปว่าสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร ที่แน่ๆ ก็คือ ไม่มีใครดูมีความสุขสักคน ทั้งคนที่เป็นดาวเด่นและอยู่ในสปอตไลต์ ซึ่งต้องเผชิญกับทั้งความกดดันและคำครหาที่พุ่งมาจากทุกทิศทาง การต้องรักษาสถานภาพที่ครอบครองอยู่ให้ยืนยาว และเหนือสิ่งอื่นใด การต้องฟาดฟันกับเมมเบอร์คนอื่นๆ ในวง ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและฝ่ายตรงข้ามในเวลาเดียวกัน ไปจนถึงคนที่ไม่เคยถูกเลือกให้เป็น ‘เซมบัตสึ’ (หนึ่งใน 16 คน ที่ได้ออกซิงเกิล) แม้แต่ครั้งเดียว และได้แต่น้อยเนื้อต่ำใจในความที่ตัวเองสู้คนอื่นไม่ได้ ในความที่ต้องร้องและเต้นอยู่แถวสองหรือสาม หรือแม้กระทั่งเฝ้ามองคนอื่นอยู่ข้างเวที และในความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของสังคมไอดอล

 

ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ใครก็ตามที่ต้องพบเจอกับสถานการณ์อันสุดแสนยากลำบากและผิดปกติแบบนี้ แล้วจะลงเอยด้วยความพินาศย่อยยับทางอารมณ์ และช่วงเวลาที่หนักหน่วงและกัดเซาะความรู้สึกมากๆ กลับไม่ใช่ตอนที่แต่ละคนพูดอะไรต่อมิอะไรอย่างไม่ต้องเซนเซอร์ตัวเอง หรือแม้แต่ตอนที่หลายคนคงแสดงออกอย่างอัดอั้นจนกระทั่งน้ำตาไหลอาบแก้ม (ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว เสียงหัวเราะเพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกของใครบางคน กลับสร้างความสั่นสะเทือนยิ่งกว่าหลายเท่าตัวนัก) หากได้แก่ช่วงเวลาเงียบๆ ที่พวกเธอไม่พูด แต่ก็ไม่ได้ร้องไห้ และหนังก็ไม่ยอมตัดภาพไป ทว่า ปล่อยให้เราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า Naked Moment หรือช่วงที่เปล่าเปลือยล่อนจ้อนทางอารมณ์ และนั่นคือตอนที่เรารับรู้และสัมผัสได้ถึงความอ้างว้างเดียวดายของการต้องอยู่ในโลกที่ต้องต่อสู้ฟันฝ่าเพียงลำพัง

 

 

แต่ก็ตามที่ทุกคนน่าจะบอกได้ ไม่มีใครบังคับให้ทั้งหมดต้องมาอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ พวกเธอล้วนแล้วแต่เลือกเองด้วยเหตุผลต่างๆ นานา (อยากดังและถูกจดจำ อยากเข้าวงการบันเทิง อยากพิสูจน์ตัวเอง หรือบางคนก็มีความคาดหวังของพ่อแม่เป็นเดิมพัน) โดยอัตโนมัติ ทั้งหมดน่าจะตระหนักได้แล้วว่า นอกจากเส้นทางนี้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ยังมีทั้งราคาค่างวดและสิ่งที่ต้องแลกนานัปการ (ความผิดหวัง การสูญเสียวัยเยาว์ การเรียนรู้ว่าความพยายามบางครั้งไม่สำคัญเท่ากับหน้าตา ฯลฯ)

 

อย่างที่กล่าวข้างต้น นี่เป็นหนังที่ช่วยชะล้างจินตภาพจริงๆ สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าไอดอลในความคิดคำนึงของเหล่าโอตะจะเป็นเช่นใด สิ่งที่หนังเรื่อง Girls Don’t Cry ถ่ายทอดให้เห็นก็คือ ภาพของเด็กสาวกลุ่มหนึ่งที่ทั้งต้องปากกัดตีนถีบและต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ในโรงงานถักทอความเพ้อฝันและภาพลวงตา

 

BNK48 : GIRLS DON’T CRY (พ.ศ. 2561)

กำกับ: นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

ผู้ให้สัมภาษณ์: BNK48

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X