BMW AG กำลังพัฒนาเซลล์แบตเตอรี่ต้นทุนต่ำสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายุคใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวในปี 2025 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานพัฒนาที่วางไว้
ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน เริ่มผลิตตัวอย่างของเซลล์แบตเตอรี่ทรงกลมในโรงงานแห่งใหม่ใกล้เมืองมิวนิก ซึ่งแบตเตอรี่ดังกล่าวจะถูกใช้เป็นขุมพลังในรถยนต์ตระกูล Neue Klasse EV โดยเริ่มผลิตตัวอย่างเป็นการภายในก่อน
การใช้เซลล์ทรงกลมแทนแบบแท่งปริซึมนั้น ทำให้ BMW ลดต้นทุนได้ครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่แบบแผงเซลล์ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเพิ่มระยะทางได้ 30% จึงวิ่งได้ไกลถึง 800 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง นอกจากนี้ BMW ยังได้วางแผนวิธีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ท่ามกลางปัญหาราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ BMW เริ่มโชว์รถต้นแบบ EV ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อท้าชนกับ Mercedes-Benz และผู้นำกลุ่ม EV อย่าง Tesla เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด แต่กลับมีความต้องการลดลงจากแบรนด์ท้องถิ่นที่แข่งขันค่อนข้างรุนแรง
สำหรับแบตเตอรี่เซลล์ทรงกลมแบบแท่งปริซึมในรูปแบบขายจริงนั้น จะผลิตโดยคู่ค้ารายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Contemporary Amperex Technology (CATL) และ Eve Energy ซึ่งมีโรงงาน 6 แห่งในยุโรป จีน และอเมริกาเหนือ อีกทั้งยังตอบรับที่จะนำเซลล์แบตเตอรี่และวัตถุดิบชนิดต่างๆ เช่น โคบอลต์ นิกเกิล และลิเธียม กลับมาใช้ใหม่ ซึ่ง BMW ตั้งเป้าให้สามารถลดมลพิษจากคาร์บอนมากถึง 60%
การดำเนินการครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนารูปแบบแบตเตอรี่ให้มีความหลากหลาย เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบแบตเตอรี่จะเป็นลักษณะเรียงเซลล์เป็นโมดูล เช่น BMW i5 มีแบตเตอรี่ความจุขนาด 84.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งมีจำนวนโมดูล 3 แถว แถวละ 12 เซลล์ รวมเป็น 72 เซลล์ ในแง่การจัดวางพื้นที่ถือว่าทำได้ดี แต่ประสิทธิภาพการใช้งานโดยเฉพาะระยะทางอาจน้อยกว่าที่ผู้ผลิตเคลมไว้
การมาของรูปแบบแบตเตอรี่ทรงแท่งกลมนั้น อาจช่วยทั้งการเก็บประจุไฟที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยืดอายุการใช้งานมากขึ้น ส่วนต้นทุนยังเป็นสิ่งที่ต้องดูองค์ประกอบส่วนอื่น ทั้งแหล่งวัตถุดิบ ปริมาณในการใช้ผลิต และผู้คิดค้นว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถให้รายอื่นนำไปใช้ได้หรือไม่ หากการพัฒนานี้สำเร็จ อาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์มีตัวเลือกในการใช้รูปแบบแบตเตอรี่มากขึ้น ต้นทุนการผลิตถูกลง ทำให้ราคาจำหน่ายในตลาดเข้าถึงง่ายขึ้นก็เป็นได้
อ้างอิง: