เว็บไซต์ข่าวเกี่ยวกับรถยนต์อย่าง CarBizz ค้นพบเอกสารจากสำนักงานสิทธิบัตรแห่งชาติของเยอรมนี เผยให้เห็นการออกแบบใหม่ของระบบกันสะเทือนในรถยนต์ของ BMW ที่หากได้รับการพัฒนาและนำไปผลิตจริง จะช่วยให้รถยนต์สามารถรวบรวมพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการกระแทกบนท้องถนนได้
ภายในเอกสารอธิบายวิธีการไว้ว่า ตามปกติพลังงานจากระบบกันสั่นสะเทือนของรถที่ขยับขึ้นลงเมื่อล้อรถชนกับลูกระนาด มันจะสูญเสียไปในรูปแบบของพลังงานความร้อน แต่การติดตั้งในสิทธิบัตรจะติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็ก ล้อช่วยแรงและคลัตช์ไว้ในระบบกันสะเทือนที่ทำหน้าที่รวมพลังงานระหว่างกระบวนการนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Tesla มาที่ประเทศไทยแล้ว! เคาะราคาขาย Model Y เริ่ม 1.959 ล้านบาท และ Model 3 เริ่ม 1.759 ล้านบาท เปิดให้จองวันนี้ได้เลย!
- การมีรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมส่งมอบทำให้แบรนด์จีนได้เปรียบเหนือแบรนด์ ญี่ปุ่น จุดติด ‘BYD’ ให้เร่งเครื่องในไทย
- Toyota เคาะราคาขาย รถยนต์ไฟฟ้า Toyota bZ4X 1,836,000 บาท เผยเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น และไทยมีโควตาปีนี้ไม่ถึง 50 คัน
ขณะที่ล้อขยับขึ้นเพื่อตอบสนองต่อแรงกระแทก เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะทำงานเพื่อนำพลังงานดังกล่าวไปชาร์จแบตเตอรี่ CarBuzz คาดการณ์ว่าระบบนี้สามารถใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเรือธงในอนาคต เช่น BMW i7 ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่า ซับซ้อนกว่า และมีราคาแพงกว่าซึ่งเหมาะกับเทคโนโลยีดังกล่าว
แต่แนวคิดการใช้พลังงานจากแรงกระแทกไม่ใช่เรื่องใหม่นัก โดยในปี 2016 ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนีอย่าง Audi ได้ประกาศว่ากำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘eROT’ หรือ Electromechanical Rotary Dampers โดยมันจะแปลงพลังงานจลน์ที่เกิดขึ้นระหว่างการกระแทกของช่วงล่างรถไปเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือที่เราเรียกว่าระบบ ‘Mild Hybrid’ ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ระบบ eROT ไม่เคยเข้าสู่กระบวนการผลิต และไม่ชัดเจนว่า Audi ยังคงพัฒนาอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ นอกจากนี้ GIG Performance บริษัทในยูทาห์กล่าวว่ากำลังใช้เทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันสำหรับทั้งรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดใหญ่และรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้โดยสาร
ทั้งนี้ การจดสิทธิบัตรของ BMW และการประกาศของ Audi แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต้องเผชิญกับกฎการประหยัดเชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ต้องหาวิธีเพิ่มระยะขับขี่ของรถไฟฟ้า พวกเขากำลังมองหาทุกช่องทางที่เป็นไปได้เพื่อทำให้ยานยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ้างอิง: