×

มาราธอนแรกในชีวิตของพี่ชายวัยหกสิบ และความฝันจะพิชิตสนามที่ถูกทำลายสถิติบ่อยที่สุดของอดีตนักวิ่งทีมชาติไทย [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2018
  • LOADING...

ข่าวใหญ่ที่สุดในแวดวงกีฬาช่วงเดือนที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นการทำลายสถิติโลกมาราธอนของนักวิ่งชาวเคนยา เอเลียด คิปโชเก ในสนามมาราธอนระดับเวิลด์เมเจอร์อย่าง บีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน 2018 สนามที่ถูกจดจำในฐานะ สนามที่มีการทำลายสถิติโลกการวิ่งครั้งแล้วครั้งเล่า

 

บีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน ถือเป็นความใฝ่ฝันของนักวิ่งทั่วโลกที่ไม่อาจปฏิเสธหากมีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนสักครั้ง เช่นเดียวกับ ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทยวัย 55 ปี โค้ชพิเศษของโปรแกรม The Ultimate JOY Experience – #MissionBerlin และพี่ชาย กมล จันทร์ผ่องศรี ผู้ตั้งใจจะพาตัวเองไปสัมผัสประสบการณ์มาราธอนครั้งแรกในชีวิต พร้อมกับชาวคณะบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย

 

มาราธอนครั้งแรกที่ชายวัยหกสิบมอบให้ตัวเองเป็นรางวัลชีวิต

“นี่คือมาราธอนแรกของชีวิต ผมอยากให้รางวัลตัวเองที่อายุครบ 60 ปีด้วย”

 

 

จากจุดเริ่มต้นที่ได้วิ่งร่วมกับครูดินผู้เป็นน้องชายในโครงการวิ่ง 750 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงพะเยา เพื่อระดมทุนสร้างสนามกีฬามาตรฐานให้บ้านเกิด ทำให้กมลเริ่มคุ้นเคยกับการวิ่ง เขาฝึกซ้อมวิ่งอย่างจริงจัง และสามารถก้าวสู่สนามแข่งขันระยะทาง 26 กิโลเมตรได้เป็นครั้งแรก

 

“พอโปรแกรม The Ultimate JOY Experience จัดทริปเบอร์ลิน มาราธอน ดินมาชวน ผมก็สมัครเลย แล้วก็เริ่มฝึกซ้อมตามตารางที่เขาให้มา มีเวลาซ้อมประมาณสี่เดือน ระยะแรกเป็นช่วงเริ่มต้นและฟื้นฟูเพื่อวัดสภาพร่างกาย เราฝึกซ้อมแล้วก็ส่งการบ้านทุกวันๆ จุดไหนที่เรายังทำได้ไม่ดี เขาก็จะคอมเมนต์กลับมา สัปดาห์ถัดมาก็ปรับตารางซ้อมใหม่ให้เข้ากับเรา”

 

 

หนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงวันแข่งจริง กมลพบว่าสมรรถภาพร่างกายตัวเองไม่เต็มร้อยนัก ทั้งบาดเจ็บกล้ามเนื้อจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก และความดันขึ้นสูงไปถึงสองร้อยกว่าๆ จนแพทย์ต้องสั่งแอดมิต

 

“แต่ผมตัดสินใจว่าอย่างไรก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะบีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน เป็นเหมือนรางวัลของชีวิต”

 

เมื่อได้พาตัวเองไปอยู่บนสนามแข่งขันมาราธอนระดับโลกเป็นครั้งแรกในชีวิตตามที่ตั้งใจไว้จริงๆ แม้อาการบาดเจ็บจะยังคงอยู่ แต่ความกังวลก็แทบหายไป แทนที่ด้วยความประทับใจต่อบรรยากาศการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับโลก ซึ่งรวมผู้คนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน

 

“ผมประทับใจชาวเมืองมากๆ ตั้งแต่จุดสตาร์ทจนถึงเส้นชัย สองข้างทางจะเต็มไปด้วยชาวเมืองที่ออกมาให้กำลังใจ เล่นดนตรีสร้างความสนุกสนานตลอดทาง เวลาที่เราเหนื่อยล้ามากๆ แล้วได้ยินเขาตะโกน ‘Come on! Go go!’ เราก็ฮึกเหิมขึ้นมาอีกที มีแรงวิ่งต่อ”

 

สุดท้ายเขาก็สามารถผ่านเข้าเส้นชัยได้ในเวลา 4 ชั่วโมง 44 นาที ตัวเลขที่นับว่าสวยงามสำหรับรางวัลชีวิตของชายวัยหกสิบ

 

“ตลอดระยะทาง 42.195 กิโลเมตร มันมีทุกความรู้สึกอยู่ในนั้น ทั้งความตื่นเต้น ความสนุกสนาน ความเมื่อยล้า ตอนผ่านเต็นท์พยาบาลเราก็คุยกับตัวเอง เข้าไปดีไหม เข้าไหม…ไม่ ไม่ดีกว่า เราเห็นคนสูงอายุกว่าวิ่งผ่านหน้าเราไป ทำไมเราจะไปต่อไม่ได้ เราก็ค่อยๆ วิ่งไปเรื่อยๆ วินาทีที่เข้าเส้ยชัย ความเหนื่อยทุกอย่างหายเป็นปลิดทิ้งเลย เราดีใจ ภูมิใจกับตัวเองมากจริงๆ”

 

 

ความฝันบนเส้นทางวิ่งที่มีการทำลายสถิติบ่อยที่สุดในโลก

“เราอยากไปวิ่งบนสนามที่มีนักวิ่งระดับโลก และมีการทำลายสถิติโลกกันบ่อยที่สุดด้วย”

 

แม้จะผ่านสนามแข่งขันมาราธอนระดับเวิลด์เมเจอร์มาแล้วสองรายการ (บอสตัน มาราธอน และโตเกียว มาราธอน) ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี ยังใฝ่ฝันจะพิชิตสนามบีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน อีกหนึ่งสนามที่เขามองว่ามีเสน่ห์และแตกต่างจากสนามอื่นๆ

 

 

“เขาว่ากันว่าเส้นทางการแข่งขันของบีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน เป็นรูตที่สวยงามมาก ตั้งแต่จุดสตาร์ทและเส้นชัยที่ประตูชัยบรันเดนบูร์ก หรืออาคารรัฐสภาไรชส์ทาคที่จะวิ่งผ่าน พอเราไปอยู่ตรงนั้น ได้ซึมซับบรรยากาศด้วยตัวเอง เราได้เห็นความยิ่งใหญ่ของงาน และคนที่ออกมาโบกธงเชียร์ไม่ได้มีเฉพาะชาวเมือง แต่คนจากนานาประเทศอยู่ตรงนั้น ทำให้บรรยากาศคึกคักมาก เราได้วิ่งอย่างมีความสุข”

 

ครูดินเล่าต่อว่า นาทีประวัติศาสตร์ที่ เอเลียด คิปโชเก วิ่งเข้าเส้นชัย ตอนนั้นเขาน่าจะวิ่งอยู่กิโลเมตรที่ยี่สิบกว่าๆ (เนื่องจากปล่อยตัวคนละรอบด้วย) มองไปข้างทางเริ่มมีคนชูป้ายแล้วว่าสถิติโลกถูกทำลาย “ถือว่าสมความคาดหวังที่ได้วิ่งบนสนามที่มีนักวิ่งทำลายสถิติโลกบนเส้นทางเดียวกัน ในปีเดียวกัน”

 

เมื่อถามถึงอาการบาดเจ็บของพี่ชายที่กำลังจะท้าทายตัวเองในวัยหกสิบด้วยการวิ่งระยะ 42.195 กิโลเมตรเป็นครั้งแรก ครูดินเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า แม้จะเป็นห่วง แต่ก็เห็นความมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมของพี่ชาย ก็ได้แต่ลุ้นและเอาใจช่วย

 

“เราเห็นพี่ชายวิ่งเข้าเส้นชัยก็ดีใจ ภูมิใจกับเขาด้วย การโค้ชของเราเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้ร่างกาย ช่วยสร้างความคุ้นเคย เสริมความแข็งแรง แต่พอถึงเวลาลงสนามจริงๆ มันขึ้นอยู่กับตัวเขาล้วนๆ”

 

การไปเยือนเบอร์ลินครั้งนี้ของครูดินไม่ใช่เพียงในฐานะนักวิ่งเท่านั้น แต่เขายังเป็นโค้ชผู้ฝึกสอนพิเศษประจำโปรแกรม The Ultimate JOY Experience – #MissionBerlin ที่ต้องยอมรับว่า แม้บางคนอาจจะยังประสบการณ์น้อย แต่ทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจเต็มที่มากๆ และสิ่งเหล่านี้เป็นพลังผลักดันให้ครูดินไม่ล้มเลิกกลางทาง ต่อให้เป็นตะคริวช่วงโค้งสุดท้าย แต่เป้าหมายคือต้องวิ่งข้ามเส้นชัยให้ได้

 

 

“สิ่งที่ครูอยากจะบอกกับนักวิ่งที่เริ่มอายุมากแล้วก็คือ ถ้าเราดูแลร่างกายให้ดี มีกระบวนการฝึกซ้อมที่ดี เรารักษาวินัยในการดูแลชีวิตตัวเองให้ดี เราก็วิ่งมาราธอนได้”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X