×

สหภาพแรงงาน ขสมก. แถลงล้มแผนปฏิรูปรถเมล์ ชี้อนุมัติสัมปทานเอื้อเอกชนทำรถน้อย-ขาดระยะ กระทบประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2023
  • LOADING...
ขสมก.

หลังจากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางเดิมของ ขสมก. ที่ทับซ้อนกับเส้นทางของผู้ประกอบการเดินรถเอกชนตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และคืนใบอนุญาตประกอบการขนส่งให้นายทะเบียนกลาง ขสมก. นำมาซึ่งการยุติการให้บริการเดินรถโดยสารปรับอากาศในหลายเส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

 

ยุติการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่วิ่งโดย ขสมก. 5 เส้นทาง ได้แก่

 

  1. สาย ปอ.8 เส้นทาง สะพานพระพุทธยอดฟ้า – เคหะชุมชนร่มเกล้า
  2. สาย ปอ.34 เส้นทาง รังสิต – หัวลำโพง
  3. สาย ปอ.39 เส้นทาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  4. สาย ปอ.140 เส้นทาง แสมดำ – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  5. สาย ปอ.517 เส้นทาง หมอชิต 2 – ศูนย์การค้าเทิดไท

 

ขณะที่ผู้ใช้บริการที่ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทของ ขสมก. ได้แก่ บัตรโดยสารล่วงหน้ารายเดือนและรายสัปดาห์ บัตรโดยสารนักเรียนและนักศึกษา บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แบบรายเที่ยว และบัตร TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA ยังคงสามารถนำบัตรไปใช้ชำระค่าโดยสารบนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ในสายอื่นๆ ได้ตามปกติ

 

จำนวนรถเมล์สาย 140 ไม่เพียงพอกับการให้บริการ

 

แต่ทว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถทำให้มีผลกระทบในการให้บริการ โดยเฉพาะรถเมล์สาย 140 เนื่องจากจำนวนรถมีไม่เพียงพอกับการให้บริการ และในชั่วโมงเร่งด่วนประชาชนต้องรอรถนานกว่าปกติ

 

สหภาพแรงงานออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกแผนปฏิรูปรถเมล์

 

ล่าสุดวันนี้ (6 พฤศจิกายน) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ‘ให้ยกเลิกการปฏิรูปเส้นทางที่ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน’ โดยระบุว่าตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 โดยให้กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจควบคุมดูแลการเดินรถในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นผู้มีอำนาจในเส้นทางสัมปทานเดินรถทั้งหมดที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นผู้กำกับดูแล โดยให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ควบคุมดูแลแทน

 

ขณะที่ สร.ขสมก. ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มีวัตถุประสงค์รักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว สร.ขสมก. ได้คัดค้านไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด

 

แถลงการณ์ 5 ข้อไม่เห็นด้วย

 

  1. ขสมก. ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมดจากบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับ ขสมก. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจการสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม

 

มีภารกิจบริการจัดรถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในขอบเขตความรับผิดชอบกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด (ปริมณฑล) มีวัตถุประสงค์ให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก การดำเนินการจึงมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในด้านความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังผลกำไรจากการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร จึงอยู่ในอัตราต่ำกว่าต้นทุนตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

 

  1. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ขสมก. ได้ยุติการให้บริการรถโดยสารปรับอากาศจำนวน 5 เส้นทาง ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีหนังสือถึง ขสมก. โดยให้ ขสมก. ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก ยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางของ ขสมก. ที่มีเส้นทางเดินรถที่ทับซ้อนกับเส้นทางเดินรถของเอกชน ตามแผนปฏิรูปเส้นทาง

 

  1. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 เรื่องนโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และเสนอร่างกฎหมายจำนวน 4 ฉบับ มิให้ ขสมก. กำกับดูแลเส้นทางสัมปทานทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

  1. สร.ขสมก. ได้ทำหนังสือคัดค้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารในอนาคต แต่ก็มิได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลในสมัยนั้นแต่ประการใด ทำให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่งเท่านั้น โดยมิได้มีอำนาจใดๆ ในการบริหารเส้นทางเดินรถ

 

  1. สร.ขสมก. เห็นว่าควรยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่นำไปสู่การปฏิรูปเส้นทางเมื่อปี 2560 และการประมูลเส้นทางเดินรถจำนวน 54 เส้นทาง ในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้อนุมัติเส้นทางปฏิรูปให้เอกชนไปแล้วจำนวน 77 เส้นทาง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาประมูลเส้นทางเดินรถในสายต่างๆ ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารได้รับผลกระทบในการเดินทาง ไม่มีรถโดยสารเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างเช่นสาย 140 และสายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในการปฏิรูปเส้นทาง

 

ท้ายแถลงการณ์ระบุว่า ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น สร.ขสมก. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร สร.ขสมก. ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อกำหนดทิศทางช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารและผู้มีรายได้น้อย กรณีรถโดยสารขาดระยะ ไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ

 

ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวจากคนภายในองค์กรซึ่งรวมตัวกันเป็นสหภาพ ขณะที่ต้องจับตาว่ารัฐบาลจะมีแนวนโยบายและท่าทีอย่างไรต่อแถลงการณ์ฉบับนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X